xs
xsm
sm
md
lg

คุยกับ iRAP_PRO - มะพร้าวหอม ก่อนชิงชัยแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดตัวไปแล้วสำหรับ 8 ทีมเยาวชนที่ฝ่าด่านอรหันต์จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย(Thailand Rescue Robot Championship) ครั้งที่ 5 ซึ่งจะมีการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ และชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี บริษัทเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยเป็นเจ้าภาพ
 
ในปีนี้เป็นที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เพราะมีทั้งทีมหน้าใหม่และหน้าเก่าที่ผ่านรอบคัดเลือกเข้ามารวมถึงทีมช้างเผือกจากต่างจังหวัดก็สามารถแสดงฝีมือจนสามารถผ่านเข้าเป็นตัวแทนเยาวชนไทยที่จะได้ประลองฝีมือร่วมกับหุ่นยนต์ต่างชาติซึ่งมีรางวัลระดับชาติการันตี
ทีม iRAP_PRO ตัวเก็งแชมป์ประเทศไทย
** เข้าใกล้เส้นชัยโลก
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ให้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนการแข่งขันจะมีขึ้น ณ อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ในวันที่ 11-14 ธ.ค. นี้ว่า ในปีนี้นอกจากจะมี 8 ทีมเยาวชนไทยที่เข้าร่วมแข่งขันเพื่อค้นหาตัวแทนทีมไทยไปแข่งขันระดับโลกที่ประเทศออสเตรียในปี 2552 แล้วนั้น ยังมีอีก 6 ทีมจาก 4 ประเทศเข้าร่วมแข่งขันด้วย ประกอบด้วยทีมของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิหร่าน และมาเลเซีย ความสนใจของทีมต่างชาติที่อยากเข้ามาร่วมแข่งขันนั้น เนื่องจากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับนานาชาติหลายครั้งที่ผ่านมา เยาวชนไทยสามารถคว้าแชมป์โลกมาได้ถึง 3 สมัยติดต่อกัน

“อิหร่านเป็นประเทศที่น่ากลัวในแง่การแข่งขันหุ่นยนต์ หากใครติดตามการแข่งขันประเภทนี้จะรู้ว่าเขามีพัฒนาการของหุ่นยนต์ที่ดีมากเพราะเขาทำมาก่อนเราเป็น 10 ปี ส่วนญี่ปุ่นนั้นไม่ต้องห่วงเพราะเขาถือเป็นต้นแบบของหุ่นยนต์และเป็นผู้คิดค้นพัฒนาการหุ่นยนต์ใหม่ๆ เสมอ สำหรับหุ่นยนต์ของสหรัฐอเมริกาที่จะนำมาแข่งในงานนี้เป็นหุ่นที่ใช้ได้จริง และใช้งานมาแล้วในเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน นับเป็นความน่าตื่นเต้นที่คนไทยจะได้เห็นหุ่นยนต์กู้ภัยใช้งานได้จริง”

นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย บอกต่ออีกว่า สนามประลองหุ่นยนต์กู้ภัยอันโอ่โถงในอาคารนิมิตบุตรตลอด 4 วัน ในแต่ละรอบสนามเหตุการณ์เพื่อทดสอบความสามารถหุ่นยนต์หินและยากกว่าปีที่ผ่านๆ มา และไทยก็ล้ำหน้ากติการะดับนานาชาติด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพหุ่นยนต์เพื่อให้สามารถหยิบเครื่องมือยังชีพให้แก่เหยื่อก่อนที่กติกานานาชาติจะกำหนดให้เป็นกติกาการแข่งขันสากลในปีหน้า ทั้งนี้เพื่อเป็นการลับฝีมือเด็กไทยให้เข้าใกล้เส้นชัยระดับโลกเข้าไปอีก

“สนามปีนี้โหดขึ้น มีมาตรฐานระดับโลกเนื่องจากมีกรรมการของนานาชาติเข้ามาช่วยในแง่การจัดสนามและเทคโนโลยี และทีมหุ่นยนต์ต่างชาติที่เข้าร่วมแข่งขันก็เป็นการวัดฝีมือเยาวชนทีมไทยด้วยว่าขาดตกบกพร่องอะไร เพื่อที่จะปรับปรุงในการแข่งขันระดับโลก” ผศ.ดร.จักกฤษณ์ แจกแจง
หุ่นยนต์กู้ภัยจาก iRAP_PRO
** ตัวเก็งขอเปิดใจ
ทีม iRAP_PRO จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นทีมที่เก็บแต้มรอบคัดเลือกมาได้มากที่สุด พวกเขาถือเป็นตัวเก็งที่จะคว้าแชมป์ชนะเลิศแห่งประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อย่างไรก็ตามเพื่อนอีก 7 ทีมก็ใช่ว่าจะสามารถประมาทได้ และยิ่งสำทับด้วยทีมดีกรีแชมป์ระดับชาติของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิหร่าน และมาเลเซียนั้นก็สั่นคลอนบัลลังก์แชมป์ได้เช่นกัน

คฑาวุฒิ อุชชิน หรือ โฟม หัวหน้าทีมและผู้บังคับหุ่นยนต์ด้วยมือทีม iRAP_PRO บอกว่า มั่นใจเกินร้อยที่จะคว้าชัย แต่จะสามารถทำได้หรือไม่ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ สมรรถนะตัวหุ่น โจทย์การแข่งขัน และความแข็งแกร่งของคู่แข่งขัน กระนั้นในความคิดของเขาเชื่อว่า ผลการแข่งขันทางวิชาการนั้นแม้แต่ผู้พ่ายแพ้ก็ยังได้ประโยชน์ ดังนั้นการประลองชัยครั้งนี้จึงถือเป็นการแบ่งปันเทคโนโลยี

หัวหน้าทีมตัวแทนจากพระนครเหนือ ย้ำว่า พร้อมเป็นแชมป์โดยนำหุ่นต้นแบบของรุ่นพี่ซึ่งเคยเป็นแชมป์เก่ามาพัฒนาและปรับปรุง โดยเริ่มออกแบบหุ่นยนต์ด้วยคอมพิวเตอร์หลายๆ แบบ และนำมาวิเคราะห์ข้อดีข้อด้อยของแต่ละแบบ จากนั้นก็นำจุดเด่นในหุ่นยนต์กู้ภัยแต่ละตัวออกมาให้เป็น PJ 01-02 ซึ่งขณะนี้หุ่นยนต์มีความพร้อมกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยไม้เด็ดสำคัญที่คิดว่าเหนือกว่าคู่แข่งคือ แขนกลที่มีอิสระต่อการค้นหาผู้ประสบภัยในที่ซึ่งยากต่อการค้นหา กระนั้นสิ่งที่ยังต้องปรับปรุงอยู่ คือ ซอร์ฟแวร์ที่ต้องการความละเอียด

อาทิตย์ ตระกูลธงชัย หรือ บิ๊ก บอกว่า วิธีแก้ไขข้อด้อยของทีมคือ การนำขาหน้าที่ใช้ในการตรวจจับอาจจะยังไม่มีซอร์ฟแวร์ตัวที่ดีที่สุด แต่ iRAP_PRO ก็ใช้ของที่คุณภาพใกล้เคียงกันและถือว่าจุดนี้ยังไม่เป็นปัญหา สำหรับการแข่งขันระดับชาติที่พิเศษกว่าครั้งไหนๆ ที่มีเพื่อนต่างชาติมาแข่งด้วยนั้นเขาไม่หนักใจเพราะได้ศึกษาแนวทางการทำงานของหุ่นยนต์กู้ภัยประเทศต่างๆ มาเป็นอย่างดีแล้ว

“ญี่ปุ่นนั้นถือเป็นต้นแบบของหุ่นยนต์ เรานำข้อดีของเขามาปรับใช้หลายเรื่อง แต่สำหรับทีม iRAP_PRO ยังเน้นเสถียรภาพของหุ่นยนต์มากกว่าการล้มคนอื่น เน้นให้ชัวร์ที่สุด และตอนนี้ก็พร้อมสำหรับการแข่งขันแล้ว” อาทิตย์ ยืนยันความพร้อม
 น้องใหม่ทีม Ma-Prao-Horm (มะพร้าวหอม)
** น้องใหม่ขอเก็บแต้ม
ด้าน ทีม Ma-Prao-Horm (มะพร้าวหอม) จากมหาวิทยาลัยบูรพา ทีมน้องใหม่ที่สามารถฝ่าด่านเข้ามาเป็น 8 ทีมสุดท้ายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้รุ่นพี่ของพวกเขาส่งหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าแข่งขันระดับชาติมาแล้ว แต่ไม่สามารถผ่านมาเป็นทีมชิงชนะเลิศได้ จากการสอบถามน้องใหม่กลุ่มนี้ไม่หวังคว้าแชมป์หรือถ้วยรางวัลชนะเลิศ แต่พวกเขาอยากกรุยทางให้รุ่นน้องได้เข้าร่วมแข่งเป็นขาประจำกับเขาบ้าง

ดิลก ปืนฮวน หรือ แซม บอกว่า จากการแข่งขันในรอบคัดเลือกที่ผ่านมามะพร้าวหอมได้นำข้อบกพร่องของหุ่นยนต์ไปปรับปรุง โดยแก้ไขแขนกลจากเดิมที่แพนไม่ได้ ก็เพิ่มกล้องไปอีก 3 ตัวและปรับให้ตัวที่อยู่กับแขนกลสามารถหมุนรอบตัวได้ 180 องศา เพื่อหาเหยื่อได้ง่ายขึ้น อีกทั้งสิ่งที่ถือเป็นจุดเด่นสำหรับทีมก็คือ ขาหน้าที่สามารถขับเคลื่อนบนทางลาดชันและทางวิบากได้ดี ดังนั้นในทุกสภาพเหตุการณ์ “Ma-Prao-Horm” จะสามารถหาเหยื่อ และเก็บแต้มจากการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้แน่นอน
หุ่นยนต์กู้ภัยจาก มะพร้าวหอม
“พวกเราเป็นทีมน้องใหม่ไม่หวังถึงชัยชนะแต่อยากเก็บแต้มกลับบ้านเพื่อให้รุ่นน้องได้เข้ามาแข่งขันอีกในปีหน้า ตอนนี้ความพร้อมมีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้เพื่อนที่เป็นคนบังคับหุ่นก็ซ้อมและรอซ้อมกับสนามจริง ระหว่างนี้ก็ศึกษาสภาพอุปสรรคที่กรรมการจะสร้างสถานการณ์ขึ้นมาให้ได้ดีที่สุด” หัวหน้าทีมมะพร้าวหอม บอก

อย่างไรก็ตาม น้องๆ จากมหาวิทยาลัยบูรพากลุ่มนี้เชื่อว่า เป้าหมายสำคัญของการแข่งขันประลองชัยของหุ่นยนต์กู้ภัยนั้น ที่สุดแล้วไม่ใช่เพียงถ้วยรางวัลซึ่งเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดเท่านั้นที่พวกเขาต้องการ หากแต่อยู่ที่ในการกู้ภัยพวกเขาสามารถช่วยเหลือเหยื่อที่ประสบภัยอยู่ได้หรือไม่เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น