xs
xsm
sm
md
lg

“ห้องเรียนขงจื่อ” ห้องเรียนของคนรักภาษาจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ประเทศจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางการค้า เป็นเจ้าพ่อทางธุรกิจ โดยเฉพาะภาษาจีน ได้กลายเป็นภาษาเศรษฐกิจที่สำคัญมาแรงเป็นอันดับ 2 รองจากภาษาอังกฤษ ฉะนั้น เด็กไทยต้องรู้จักนำภาษาเศรษฐกิจมาใช้สื่อสาร เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อทางธุรกิจ ไม่ใช่เรียนเพื่อเก่ง แต่เรียนเพื่อเป็นพื้นฐานต่อยอดในวิชาและศาสตร์ทางด้านอื่นๆ ด้วยนั่นเอง”

นี่คือ คำกล่าวของ พระเทพภาวนาวิกรม (ธงชัย ธัมมธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ในฐานะประธานมูลนิธิร่มฉัตร และประธานสถาบันขงจื่อ เค่อถัง ในประเทศไทย ที่บอกถึงความสำคัญของการเรียนภาษาจีน
อ่านตำราจีน เสริมความรู้-ฝึกภาษา
ด้วยแนวความคิดดังกล่าว ในปี 2542 พระเทพภาวนาวิกรม จึงได้ จัดตั้งศูนย์ภาษาจีนที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2542 พร้อมทั้งจัดทำหนังสือเรียนภาษาจีนร่วมกับสภาการศึกษามณฑลเทียนจิน เพื่อแก้ปัญหาการขาดตำราเรียน และประสานจัดหาครูจีนให้มีคุณภาพจัดการแข่งขัน ภาษาจีนเพชรยอดมงกุฎ ทำให้เกิดกระแสการตื่นตัว และการพัฒนาการสอนภาษาจีนขึ้นในประเทศไทย
 
ด้วยเหตุนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ หรือ “ฮั่นปั้น” จึงได้มอบป้ายสถาบันขงจื่อ เค่อถัง ให้แก่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ถือเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษานอกประเทศจีนแห่งแรกของโลกที่ได้รับการรับป้ายจากสถาบันขงจื่อ เค่อถัง (The first global confucius classroom) และต่อมาในปี พ.ศ.2549 มีการเปิดห้องเรียนขงจื่อ ระดับประถม มัธยมศึกษาอย่างเป็นทางการแห่งแรกของไทย
เรียนรู้ประวัติศาสตร์จีนจากสื่อมัลติมีเดีย
“อาตมา เห็นว่า ภาษาจีนไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ระดับมหาวิทยาลัย แต่ควรจะก้าวไปพร้อมกัน ทั้งในระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา สำหรับห้องเรียนขงจื่อนั้นเปิดใช้มาเกือบ 4 ปีแล้ว นักเรียน และชุมชนมีความสนใจ เพราะมีตำรา และสื่อการเรียนรู้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชั้นตำราเรียนภาษาจีน หนังสืออ่านเสริม ซีดี วิดีโอสอนภาษา และวัฒนธรรมจีน ห้องอ่านหนังสือ ห้องดูโทรทัศน์ฟังข่าวจีน รวมทั้งมีครูอาสาสมัครจากจีน คอยเป็นที่ปรึกษาตลอดวัน เปรียบได้กับห้องสมุดขนาดเล็กย่อประเทศจีนให้เด็กไทยได้ศึกษาและฝึกภาษาจีน นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการชุมชนภาคค่ำ วันเสาร์-อาทิตย์ อีกด้วย” พระเทพภาวนาวิกรม เล่า

ด้านกลุ่มผู้ใช้ห้องเรียนขงจื่อ อย่าง ศิริพงษ์ ปัญจวัฒนางกูร หรือ "เป้" อายุ 15 ปี ชั้น ม.4 และ นายชัยพร เศารยะโศภิต หรือ “เม้ง” อายุ 17 ปี ชั้น ม.6 นักเรียนสายศิลป์ภาษาจีน โรงเรียนวัดไตรมิตรวิทยาลัย เล่าว่า ส่วนใหญ่จะเข้าใช้สื่อการเรียนรู้ มากกว่าหนังสือหรือตำราเรียน เช่น ซีดีเรียนภาษาจีนหรือวัฒนธรรมจีน เพราะเห็นภาพ และเข้าใจภาษาจีนได้ง่ายกว่า แต่ถ้าเป็นหนังสือจะชอบอ่านชุดท่องเที่ยวเมืองจีนอย่างสุขสันต์ เพราะมีเนื้อหา และการใช้คำที่เข้าใจง่าย
มุ่งมั่น-ตั้งใจ-เรียนเขียนพู่กันจีน
ขณะเดียวกัน ก็ได้ฝึกภาษาจีนกลางกับครูอาสาสมัครประจำห้อง ซึ่งเป็นเจ้าของภาษา เพิ่มทักษะด้านการสื่อสาร กล้าที่จะใช้ภาษาจีนกลางอย่างถูกต้อง เพราะการเรียนรู้ในห้องเพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอ แต่เมื่อมีห้องเรียนขงจื่อเสริมเข้ามาเปรียบเสมือนประเทศจีนจำลองที่ไม่ต้องเดินทางไปศึกษา หรือข้ามประเทศให้เสียเวลาเลย

นอกจากนี้ 2 หนุ่ม ยังได้ฝากเคล็ดลับ หรือเทคนิคการเรียนภาษาจีน ด้วยว่า คนที่สนใจที่จะเรียนภาษาจีน บอกได้เลยว่าไม่ยาก และไม่ง่าย สิ่งแรกต้องมีใจรัก เพราะภาษาจีนเป็นภาษาที่มีอักษรหมวดนำข้าง ทำให้เข้าใจง่าย เช่น อักษรน้ำ อักษรไฟ หรืออักษรเหล็ก ถ้าอยู่หน้าตัวอักษรตัวใด จะทำให้เกิดความหมายที่เกี่ยวข้องกับอักษรหมวดนำข้างตัวนั้น รวมทั้งเรียนอักษรที่มีขีดน้อย ไปจนถึงคำ หรือประโยคที่ยาก ที่สำคัญ ต้องมีความตั้งใจ และหมั่นศึกษาอย่างสม่ำเสมอ
เรียนศิลป์ ลงสี วาดภาพด้วยพู่กันจีน
“ผมไม่เคยเรียนพิเศษ แต่ผมฟังครูในห้อง และกลับไปทบทวนที่บ้าน ถ้าอยากเก่งภาษาจีน ผมแนะว่า ต้องเรียนเป็นขั้นตอน เริ่มจาก 1.ต้องฟังเป็น หมายถึง ฟังจากเจ้าของภาษา หรือฟังเพลงจีน 2.เข้าใจโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ตัวอักษร และรูปประโยค 3.ฝึกเขียน และแต่งประโยคบ่อยๆ และ 4.เรียนรู้หลักไวยากรณ์ภาษาจีน ซึ่งทุกภาษาเรียนเหมือนกันหมด ไม่ใช่เรียนรู้หลักไวยากรณ์ก่อน แล้วให้มาเรียนพูดทีหลัง มันไม่เกิดประโยชน์” น้องเป้เผยเคล็ดเรียนภาษาจีน

…จากจุดเริ่มต้นของ “ห้องเรียนขงจื่อ” ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนวัดไตรมิตรวิทยาลัย ได้จุดประกายความคิดให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จับมือกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมลงนามความร่วมมือจัดตั้งห้องเรียนขงจื่อในประเทศไทยขึ้น โดยคัดเลือกโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนภาษาจีนได้ดีจำนวน 10 แห่ง
ได้แก่ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย กทม., ร.ร.นวมินทราชินูทิศ หอวัง จ.นนทบุรี, ร.ร.ลำปางกัลยาณี จ.ลำปาง, ร.ร.ระยองวิทยาคม จ.ระยอง, ร.ร.ภูเก็ตวิทยาลัย, ร.ร.จิตรลดา กทม., ร.ร.อัสสัมชัญพณิชยการ กทม., ร.ร.ช่องฟ้าซินเซิง จ.เชียงใหม่, ร.ร.สว่างบริบูรณ์ จ.ชลบุรี และ ร.ร.ศรีนคร จ.สงขลา เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนในไทย การจัดห้องเรียนขงจื่อจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีบรรยากาศตามบริบทและวัฒนธรรมของจีน และเป็นห้องเรียนที่มีอุปกรณ์ครบครัน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียน และการทำงานของครูมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตัดกระดาษ การ์ตูนภาพ ฝึกสมาธิ
ทั้งนี้ ทางสำนักงานฮั่นปั้น จะให้การสนับสนุนงบแห่งละ 1 ล้านบาท พร้อมจัดสื่อการเรียนการสอนและส่งครูอาสาสมัครจีนมาสอนให้ด้วย ส่วน สพฐ.สนับสนุนเงินเพิ่มเติมแห่งละ 2 แสนบาท อย่างไรก็ตาม สำหรับหลักสูตรที่ใช้จัดการเรียนการสอน จะไม่กำหนดเป็นหลักสูตรตายตัว โดยจะให้แต่ละแห่งบูรณาการให้สอดคล้องกับท้องถิ่น เพียงแต่ให้อิงหลักสูตรแกนกลาง

“อาจารย์สน ศรีบุญเรือง” ผอ.โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง จ.นนทบุรี หนึ่งใน 10 โรงเรียนที่เข้าร่วมลงนามความร่วมมือสร้างห้องเรียนขงจื่อบอกถึงความคืบหน้า ว่า ขณะนี้ได้เขียนโครงการ และงบประมาณเสนอให้กับทางรัฐบาลจีนเรียบร้อยแล้ว ถ้าได้งบประมาณมาเมื่อใด จะดำเนินการสร้างตามแผนงานทันที โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ห้อง ขนาดประมาณ 168 ตารางเมตร ตกแต่ง และออกแบบให้เป็นบรรยากาศห้องเรียนจีน มีตำรา และสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย เช่น ซีดี และวิดีโอ สื่อการสอนมัลติมีเดีย โต๊ะ-เก้าอี้สำหรับนักเรียนจำนวน 30 ชุด ของครูจำนวน 4 ชุด และดคอมพิวเตอร์ -อินเทอร์เน็ท นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสริมนอกหลักสูตร เช่น การเขียนพู่กันจีน การรำมวยจีน สำหรับเรียนเพิ่มเติมให้แก่นักเรียน และชุมชน แต่ทั้งนี้ต้องสำรวจความพร้อม และต้องการของชุมชนก่อนว่า จะเรียนแบบไหน หรืออยากมีส่วนร่วมในด้านใด
ฝึกภาษาร้องเพลงจีน
“ทางรัฐบาลจีนเห็นความสำคัญ และความพร้อมทางด้านพื้นที่ และหลักสูตรภาษาจีนของโรงเรียน จึงคัดเลือก และจัดตั้ง ห้องเรียนขงจื่อขึ้น เป็นห้องเรียนส่งเสริมการเรียนภาษา และวัฒนธรรมจีนแก่เด็กไทย จากการสำรวจ 2 ปีที่ผ่านมา เด็กมีความสนใจภาษาจีนมากขึ้น เหตุเพราะโลกธุรกิจการค้า จำเป็นต้องใช้ภาษาจีนในการสื่อสารเพิ่มขึ้นนั่นเอง การรู้ภาษาจีนตั้งแต่เด็ก จะช่วยเสริมฐานภาษาที่สองให้เข้มแข็ง ได้เปรียบกว่าคนอื่นในโลกการทำงาน” ผอ.โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น