xs
xsm
sm
md
lg

วางแผนต่อกร “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ด้วย “ยีน KRAS”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลักษณะการวางตัวของลำไส้ใหญ่
“การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไทยในภาวะปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของอาหารการกิน ความเครียดที่สะสมในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้ต่างเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ป่วยได้ หนึ่งในนั้นอาจรวมไปถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เช่นกัน”

เสียงสะท้อนจาก รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา หน่วยมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำเตือนให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันที่ประชาชนต้องประสบกับภาวะเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ นานา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่คุกคามสุขภาพคนไทยอย่างน่ากลัว
รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ
** มฤตยูร้ายเริ่มขยายตัว
รศ.นพ.นรินทร์ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นโรคที่คนไทยเริ่มเป็นกันมากขึ้น โดยคร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับ 3 จากโรคมะเร็งทั้งหมด ซึ่งแต่ละปีพบว่ามีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคนี้เกิดขึ้นกว่า 10,000 ราย โดยมากผู้ป่วยมักจะรู้ตัว และทราบการเกิดโรคในระยะสุดท้าย หรือระยะลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นเช่น ตับ ซึ่งจะยากต่อการควบคุม
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลามนั้นมีหลายวิธีในการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด รวมไปถึงการรักษาโดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง(Targeted Therapy) ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็ต้องแล้วแต่การวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาโดยทีมแพทย์เพื่อให้เหมาะสมกับระยะของอาการ

“มะเร็งลำไส้ใหญ่จะพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ในอัตราประชากร 11 คนต่อ 1 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของสาเหตุการเกิดมะเร็ง โดยสามารถแบ่งการเกิดได้ 4 ระยะ แต่ที่พบบ่อยคือ ในระยะที่ 3-4 ซึ่งเป็นระยะที่เซลล์แพร่กระจาย ลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น และยากต่อการควบคุม อีกทั้งอัตราการรอดชีวิตของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ 5 ปี จะแบ่งได้ตามระยะที่เป็นคือ ระยะที่ 1 85-90%, ระยะที่ 2 70-75%, ระยะที่ 3 45-60% และระยะสุดท้ายอัตราการรอด 5 ปี จะอยู่ที่ 15- 20%” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งขยายความ
การแพร่กระจายของมะเร็งลำไส้
** “ยีน KRAS” เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
รศ.นพ.นรินทร์ ให้ข้อมูลอีกว่า จากความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวะโมเลกุล และการค้นคว้าวิจัยด้านมะเร็งในระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการค้นพบตัวชี้วัดทางชีวภาพของเซลล์มะเร็งตัวใหม่ คือ ยีน KRAS (Kirsten Rat Sarcoma) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพตัวแรกที่สามารถคาดการณ์ผลการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะลุกลามได้ โดยยีน KRAS มีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดปกติไม่กลายพันธุ์ หรือ KRAS แบบ Wild type ที่จะช่วยสร้างโปรตีนในการเจริญเติบโตของเซลล์ภายใต้การควบคุมของกลไกร่างกาย แต่หากเป็น ชนิดกลายพันธุ์ หรือ KRAS แบบ Mutant จะทำให้เกิดการกระตุ้นโปรตีนมากขึ้น ผลคือเซลล์แบ่งตัวเร็ว ทนทาน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของการเกิดเซลล์มะเร็งนั่นเอง

โดยยีน KRAS ทั้ง 2 ชนิดนี้จะให้ผลตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะกับยาที่ออกฤทธิ์แบบเฉพาะเจาะจงต่อเป้าหมายที่เซลล์มะเร็ง ดังนั้นการตรวจยีน KRAS ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงเป็นการบ่งชี้ถึงการวางแผนการรักษาด้วยยาของแพทย์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่
สำหรับความสำคัญของการตรวจหายีน KRAS นั้น รศ.นพ.นรินทร์ บอกว่า ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดลุกลามทุกคนควรได้รับการตรวจยีน KRAS ในชิ้นเนื้อมะเร็ง เพื่อจำแนกว่ายีนมีความผิดปกติหรือไม่ โดยหากผลการตรวจพบผู้ป่วยที่มียีน KRAS แบบปกติไม่กลายพันธุ์ ซึ่งพบประมาณ 60% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลามนั้น จะตอบสนองได้ดีต่อการรักษาด้วยยาทาร์เก็ต อีจีเอฟอาร์ (EGFR Targeted Therapy) โดยยาจะมุ่งปิดกั้นไม่ให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต และแพทย์อาจพิจารณาให้ยา ควบคู่กับการให้เคมีบำบัด อย่างใดอย่างหนึ่งได้ เพื่อผลการรักษาและการมีชีวิตรอดของผู้ป่วยที่ยาวนานขึ้น

แต่หากตรวจพบยีน KRAS แบบกลายพันธุ์ ที่พบประมาณ 40% ของผู้ป่วย วิธีการรักษาอาจแตกต่างออกไป เพราะผู้ป่วยอาจไม่ได้รับผลการรักษาที่ดีนักไม่ว่าจะใช้ยาทาร์เก็ต อีจีเอฟอาร์ ร่วมกับเคมีบำบัด หรือใช้ตัวใดตัวหนึ่ง แพทย์ก็สามารถวางแผนการรักษาแบบอื่น ทั้งนี้การที่แพทย์ทราบถึงลักษณะของยีน KRAS ของผู้ป่วยว่าเป็นประเภทใด การวางแผนรักษา การให้ยา ก็จะมีผลตอบสนองสูงสุดต่อการรักษา ทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกด้วย

“การตรวจหายีน KRAS ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นทำได้โดยการสกัดสารพันธุกรรม (DNA) จากชิ้นเนื้อมะเร็ง ซึ่งสามารถตรวจจากชิ้นเนื้อที่ทางโรงพยาบาลเก็บไว้จากการผ่าตัดก้อนมะเร็งของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวอีกครั้ง โดยเทคโนโลยีการตรวจ KRAS ในประเทศไทยนั้นอยู่ระหว่างการพัฒนาซึ่งในปัจจุบันจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน และหากแพทย์สามารถทราบผลการตรวจยีนดังกล่าวแล้ว สามารถกำหนดแนวทางการรักษา การใช้ยาได้อย่างเหมาะสมกับอาการ สิ่งที่ตามมาคืออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้ายจาก 6 เดือน เป็น 27 เดือน หรือกว่า 5 เท่า ทำให้สามารถช่วยยืดอายุผู้ป่วยได้มาก จนกระทั่งในบางรายอาจจะอยู่ได้หลายปี และหากโชคดีได้รับการตอบสนองจากผลการรักษาอาจถึงขั้นหายขาดได้” รศ.นพ.นรินทร์ ให้ภาพ
อาหารที่ควรรับประทานเพื่อต้านมะเร็ง
ถึงตรงนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง ย้ำว่า การรับประทานอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงสู่การเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นควรงดบริโภค อาหารมัน ไขมัน เนื้อแดงจากสัตว์ เพราะจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการขยายเซลล์ขึ้นภายในลำไส้ใหญ่ ซึ่งควรหันมาบริโภคอาหารย่อยง่าย มีกากใย อย่างผัก ผลไม้ ควบคู่กับอาหารทุกมื้อ

ส่วนการสังเกตอาการเบื้องต้นของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การปวดท้องอย่างไม่ทราบสาเหตุ การมีสภาวะโลหิตจาง ถ่ายอุจจาระผิดปกติ โดยมีลักษณะของอุจจาระเล็ก แคบ หรือถ่ายเป็นเลือด และมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย โดยหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็อย่านิ่งนอนใจ และให้นำพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรับการรักษาด่วน

สำหรับเทคนิคการตรวจหายีน KRAS นั้น มีอยู่ในหลายโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยสามารถติดต่อแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจได้ที่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลรามาธิบดี หรือติดต่อได้ที่ ศูนย์มะเร็ง หน่วยมะเร็งวิทยาในโรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น