“สุรพล” จี้ “สมชาย” ยุบสภา ชี้บ้านเมืองอยู่ได้ด้วยจริยธรรม การพยายามรักษารัฐบาลไว้ แต่ปกครองประเทศไม่ได้ มีแต่ความเสียหาย วอนข้าราชการประจำ “อารยะขัดขืน” ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งภาคการเมือง และสร้างความเข้าใจสถานการณ์ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อให้รัฐยอมคืนอำนาจให้ประชาชน ยันข้อเสนอ คตร.อยู่บนหลักนิติรัฐแน่นอน
เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการการติดตามสถานการณ์ร่วม (คตร.) ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า จากสถานการณ์การบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตนขอให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภาตามข้อเสนอของ คตร.เพื่อนำไปสู่การคืนอำนาจทางการเมืองให้แก่ประชาชน และมีการเลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกันพันธมิตรฯ ก็ต้องยุติการชุมนุม เพื่อคืนพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิให้กลับมาสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้ข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภานั้น เป็นความเห็นที่ตรงกันใน คตร.ว่าหากรัฐบาลไม่สามารถที่จะจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ก็ควรที่จะคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ใหม่ และนำประเทศกลับไปสู่สถานการณ์ก่อนหน้าเหตุการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น
ส่วนข้าราชการประจำทั้งในระดับปลัดกระทรวง อธิบดี หรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ต้องมีมาตรการที่จะช่วยทำให้รัฐบาลตัดสินใจตามแนวทางดังกล่าว ด้วยการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองหรือการใช้อารยะขัดขืน เพราะทุกคนทราบดีว่าขณะนี้สถานการณ์ของประเทศกำลังเผชิญหน้ากับอะไร ซึ่งหากเป็นไปได้ ตนอยากเรียกร้องให้ข้าราชการประจำเร่งดำเนินการภายใน 1 วันเลยด้วยซ้ำ เพราะหากทอดเวลาออกไปก็จะสร้างความเสียหายมหาศาล
“ข้อเสนอของ คตร.ที่ออกมานั้น ที่ประชุมไม่ได้ปักใจเชื่อว่าทุกฝ่ายจะปฏิบัติตาม เพราะส.ส. ก็ไม่ต้องการให้เกิดการยุบสภาอย่างแน่นอน ดังนั้นท่าทีที่แสดงออกมาของรัฐบาลเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่บ้านเมืองต้องดำรงอยู่ได้ด้วยจริยธรรม ดังนั้น นายกฯ น่าจะตัดสินใจได้ว่า การพยายามรักษารัฐบาลไว้โดยไม่สามารถปกครองประเทศได้ และปล่อยให้ปัญหาทุกอย่างเดินไปสุดทางเองโดยที่ประชาชนเกิดความแตกแยกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีอาวุธอยู่ในมือ จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เรามีบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาแล้วในเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 อีกทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้สร้างความเสียหายเฉพาะการเมือง แต่กระทบไปถึงความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจของชาติด้วย”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวยืนอยู่บนพื้นฐานบนหลักนิติรัฐหรือไม่ อธิการบดีมธ. กล่าวว่า ข้อเสนอให้ยุบสภาสอดคล้องกับการปกครองของประเทศ ไม่มีรัฐบาลใดจะดึงดันอยู่ได้โดยไม่สามารถใช้อำนาจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงได้ ดังนั้น การยุบสภาจึงเป็นกระบวนการหนึ่งของการปกครองตามหลักนิติรัฐ เพียงแต่ในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (26 พ.ย.) ไม่ได้พูดถึงว่าในส่วนของผู้กระทำผิดก็ต้องได้รับโทษ เพราะถึงเวลานี้เราคงต้องแยกระหว่างสถานการณ์เฉพาะหน้ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาจะต้องทำให้ประเทศชาติอยู่ได้ และกฎหมายดำรงอยู่ได้ เพราะหาก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะใช้อำนาจนอกระบบการปกครอง ก็คงไม่ต้องอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะประกาศยุบสภา จึงขอให้มั่นใจได้ว่าข้อเสนอที่ออกมาอยู่ในกรอบของกฎหมายและหลักนิติรัฐ
ต่อข้อถามว่า เมื่อนายกฯ ประกาศว่าไม่ยุบสภาจะมีแนวทางดำเนินการต่อไปอย่างไร ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า จะต้องทำให้คนไทยเข้าใจตรงกันว่า การยุบสภาเป็นทางออกทางเดียวขณะนี้ เพื่อให้เกิดแรงกดดันกับรัฐบาล ส่วนเรื่องการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลโดยข้าราชการประจำนั้น ก็ได้มีการพูดคุยกัน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่า ใครจะทำอะไร อย่างไร เพราะแต่ละหน่วยงานก็คงมีมาตรการอารยะขัดขืนที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจว่าข้อเสนอดังกล่าว สร้างความลำบากใจให้กับข้าราชการเพราะหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาก็จะผิดวินัยราชการ แต่หากข้าราชการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งภาคการเมืองและมีคำชี้แจงถึงเหตุผลในการไม่ปฏิบัติตาม รวมถึงแจ้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามคำสั่ง ตนก็คิดว่าอยู่ในกรอบที่กระทำได้
“หากให้ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือกรณีที่ พลเอกอนุพงษ์ ปฏิเสธที่จะใช้กำลังและอาวุธเข้าสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ และได้ทำหนังสือชี้แจงถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา รวมถึงขอให้รัฐบาลสั่งการในแนวทางอื่นต่อไป”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อรัฐบาลยุบสภาพันธมิตรฯ จะเลิกชุมนุม อธิการมธ.กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับพันธมิตรฯ ในระดับต่างๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะทำอะไร อย่างไร ซึ่งการพูดคุยกันนั้น มีคนหลายคน หลายฝ่ายพูดคุยกับพันธมิตรฯ ซึ่งพันธมิตรกินความหมายมากกว่าคน 5 คน หรือ 10-20 คน ดังนั้น จึงขอให้เชื่อได้ว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าหากรัฐบาลยุบสภา พันธมิตรฯ จะหยุดการยึดครองสนามบิน อีกทั้งเมื่อรัฐบาลยุบสภา พันธมิตรฯ ก็จะไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมในการชุมนุมอยู่อีกต่อไป
ต่อข้อถามว่า ข้อเสนอที่ออกมาดูเหมือนจะเป็นการกดดันรัฐบาลมากกว่าการยื่นเงื่อนไขกับพันธมิตรฯ ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า การยุบสภาไม่ใช่การกดดันรัฐบาลในทางเลวร้าย แต่เป็นการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมใช้อำนาจทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งไม่ใช่ข้อเสนอที่ทำร้ายรัฐบาล เพราะเมื่อยุบสภาไปแล้วนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลก็ยังรักษาการอยู่ได้ ซึ่งอาจจะได้รับการเลือกตั้งกลับมาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ถึงตอนนั้นก็ไม่มีใครมีสิทธิหาความชอบธรรมที่จะมาขับไล่อีก แต่เรากลับไปมองว่าเป็นความเสียเปรียบของรัฐบาล แต่ตอนนี้เราต้องดึงประเทศออกมาจากปากเหวก่อน 3-4 ก้าว เพื่อให้ได้มีเวลาคิดในการแก้ปัญหา เพราะหากปล่อยไว้ก็เท่ากับยอมให้ประเทศตกเหว หรือหากรัฐบาลมีแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้ ทุกฝ่ายก็พร้อมจะยอมรับปฏิบัติตาม แต่เมื่อรัฐบาลจัดการแก้ปัญหาไม่ได้ แนวทางที่เสนอมาจึงเป็นทางออกเดียวที่จะแก้ปัญหา