xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอ บุกสพฐ. หาข้อมูลฟัน "แป๊ะเจี๊ยะ" ลั่นเอาผิด 4 ร.ร.ดังกทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดีเอสไอ นิยาม "แป๊ะเจี๊ยะ" เงินสินบนแลกเข้าโรงเรียน พร้อมเอาผิด 4 ร.ร.ดัง ที่มีเจ้าทุกข์ร้องเรียน ย้ำใครใช้ช่องทางระดมทรัพยากรเรียกเงินออกใบเสร็จไม่ตรงกับรับจริง มีสิทธิติดคุก 5 ปีถึงตลอดชีวิต พร้อมโดนยึดทรัพย์

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ หารือร่วมกับ นายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกี่ยวกับคดีเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการเข้าเรียน หรือ แป๊ะเจี๊ยะ กว่า 1 ชั่วโมง พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า ดีเอสไอ ให้คำนิยาม “แป๊ะเจี๊ยะ” ไว้อย่างชัดเจน คือ เงินสินบน ที่ผู้ปกครองต้องจ่าย จำใจจ่าย หรือยินดีจ่ายให้สถานศึกษาเพื่อให้เด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา ถึงแม้ว่าจะเป็นการบริจาคเงินให้สถานศึกษาอย่างถูกต้อง หากมีเงื่อนไขในการเข้าเรียนก็ถือว่าเป็นแป๊ะเจี๊ยะ ทาง ดีเอสไอ จะมุ่งเข้าไปตรวจสอบโรงเรียนยอดนิยมของรัฐ และโรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

ระหว่างนี้ ดีเอสไอ เข้าไปตรวจสอบโรงเรียนยอดนิยม 4 แห่ง โดยมีเจ้าทุกข์ร้องเรียนว่ามีการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ ทั้งจากเจ้าหน้าที่โรงเรียนรับเอง หรือผ่านนายหน้า สามารถดำเนินคดีเพื่อเอาผิดได้ทันที ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กทม. หากเอ่ยชื่อรู้จักกันแน่นอน

“สพฐ.กับดีเอสไอ ตรวจสอบทั้ง 4 กรณี และจะส่งระเบียบการรับเงินบริจาคมาให้ทางดีเอสไอด้วย นำไปตรวจสอบดูว่าการระดมทรัพยากรของโรงเรียนถูกต้องตามระเบียบ สพฐ.หรือไม่ หรือว่าใช้ช่องโหว่ของระเบียบทำเหมือนการระดมทรัพยากรโดยมาเรียกรับเงินจากผู้ปกครอง เช่น โรงเรียนออกใบเสร็จ 20,000 บาทแต่จ่ายจริง 200,000 บาท ซึ่งข้อมูลการรับเงินจำนวนมากตรวจสอบได้ไม่ยาก โดยจะดึงหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องผู้ปกครอง สมาคมผู้ปกครอง หรือฝ่ายอื่นๆ มาให้ร่องรอยเพื่อตรวจสอบระบบทางการเงินของผู้ต้องสงสัย"

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า ขอเตือนการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะดีเอ็สไอถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดมีโทษจำคุก 5 ปีถึงตลอดชีวิต และเป็นมูลฐานความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งจะนำไปสู่การยึดทรัพย์และดำเนินคดีทางอาญา ขอให้งหยุดการกระทำดังกล่าว

นายเสน่ห์ กล่าวว่า 3-4 ธ.ค. นี้จะมีการประชุมผู้บริหารสถานศึกษา สพฐ. จะเชิญดีเอสไอเข้าร่วมชี้แจงด้วย เพื่อรป้องปรามไม่ให้ผู้บริหารกระทำผิด อย่างไรก็ตาม การเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะโรงเรียนสังกัด สพฐ.มีน้อยมาก ส่วนมากเป็นการระดมทรัพยากรถูกต้องตามระเบียบของ สพฐ.ไม่มีเอาเข้ากระเป๋าตัวเอง พร้อมทั้งย้ำด้วยว่าผู้บริหารส่วนกลางของ สพฐ.ไม่เคยใช้อำนาจหน้าที่ในการเรียกรับเงินอย่างแน่นอน แต่การระดมทรัพยากรทั้งเรื่องเงินและความร่วมมือด้านอื่น ๆ จากหน่วยงานภายนอกโรงเรียนเป็นสิ่งจำเป็น เพราะรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ไม่เพียงพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น