“อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ดูแลสุขภาพด้วยนะ” วลีที่มักได้ยินอยู่เสมอเมื่อถึงช่วงอากาศแปรปรวน แดดรวน ฝนกระหน่ำฟ้า และวันที่ต้องยืนท้าทายลมหนาว แต่หากสุดวิสัยจะดูแลสุขภาพ เมื่อเชื้อโรคแล่นเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็พานไม่สบายเอาง่ายๆ ยิ่งธาตุทั้ง 5 ตามความเชื่อของแพทย์แผนไทยไม่สมดุลด้วยแล้ว จะยิ่งส่งผลให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และอาการป่วยก็พานจะเรื้อรังไปเสียอย่างนั้น
ดังนั้น หนาวนี้จึงมีวิธีปรับธาตุด้วยสมุนไพรไทยที่เรียกว่า “เบญจกูล” มาฝาก จะได้ยืนท้าทายลมหนาวได้โดยไม่ต้องเป็นหวัด หรือภูมิแพ้กำเริบอีก
** เบญจกูล คือต้นอะไร?
ผิดเสียแล้วหากใครจะไปค้นหาต้นไม้หรือสมุนไพรไทยชนิดนี้ เพราะแท้จริงแล้ว “เบญจกูล” ไม่ใช่สมุนไพรต้นเดี่ยวๆ หากแต่เป็นสมุนไพรไทย 5 ชนิด อันประกอบด้วย ผลดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิงแดง และเหง้าขิงแห้ง
อ.กุสุมา ศรียากูล และทีมงานจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรทั้ง 5 ชนิดของหมอแผนไทย พบว่า ทั้ง 4 ภูมิภาคของไทยใช้เบญจกูลในการปรับธาตุ และรักษาโรคเรื้อรัง เช่น ใช้ร่วมกับยารักษาริดสีดวงทวาร ภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินอาหาร อัมพฤกษ์ อัมพาต และแก้โลหิตสตรีหลังคลอดบุตร แต่จะแตกต่างไปในภาคใต้ที่ใช้สมุนไพร 5 ชนิดนี้ร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งต่างๆ ในรูปของยาต้ม
รู้จัก เบญจกูล คร่าวๆ แล้ว มาทำความรู้จักกับสมุนไพรในตำรับนี้แต่ละตัว ไล่เรียงจาก...
ผลดีปลี สรรพคุณตามตำราแพทยศาสตร์สังเคราะห์ ระบุว่า ช่วยขับลม และจากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าช่วยในการบีบรัดตัวของระบบทางเดินอาหารด้วย ส่งผลดีต่อการขับถ่ายและผิวหนังแตกระแหง อีกทั้งยังแก้ปวดเมื่อย เจ็บเนื้อเจ็บหลังได้อีกด้วย
รากช้าพลู ช่วยระงับขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร ขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะมากเกินไป หรือปัสสาวะขัด
เถาสะค้าน แม้ผลการศึกษาจะยังไม่ได้รับการยืนยันสรรพคุณ แต่จากการสอบถามและประสบการณ์ของแพทย์แผนไทยในแต่ละภูมิภาคเห็นพ้องต้องกันว่า ช่วยได้เมื่อเกิดเบื่ออาหาร หายใจขัด และท้องเต็มไปด้วยลม โดยเถาสะค้านยังเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมอยู่จนปัจจุบัน
รากเจตมูลเพลิงแดง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งชนิดที่น่าสนใจนิยมใช้ขับเลือดลม แต่ถ้าหากใช้ผิดวิธีก็จะทำให้คนมีครรภ์แท้งได้เช่นกัน ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดของสมุนไพรไทยชนิดนี้
“ถ้าหากรู้ไม่จริงถ้านำมาใช้ก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ ถ้ารู้จริงพอมาใช้ก็เกิดประโยชน์และทำให้คนสุขภาพดี” อ.กุสุมา แนะนำ
และสุดท้ายคือ เหง้าขิง ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยที่มีชื่อเสียงมากตัวหนึ่ง แต่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาในการนำมาใช้มากเช่นกัน เนื่องจากว่าขิงในเมืองไทยมีหลายสายพันธุ์ อีกทั้งในตำราไม่ระบุว่าการนำขิงมาใส่ตำรับเบญจกูลนั้นต้องเป็นแห้ง ถ้าซื้อขิงบ้านซึ่งสรรพคุณอ่อนกว่า แต่เมื่อคุณก้าวไปในร้านขายตำรับยา คุณจะได้ขิงบ้านมาแน่นอน แม้ฤทธิ์จะอ่อน แต่แน่นอนว่าหาไม่ยากเท่าใด
** ปรับธาตุ 5 กินอิ่ม นอนสบาย
เมื่อพิจารณาและรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว อ.กุสุมา พบว่า ทั้งในตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ และคำบอกเล่าของแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้านต่างเห็นเป็นอย่างเดียวกันว่า “เบญจกูล” ช่วยปรับธาตุทั้ง 4 ในร่างกายได้อย่างสมดุล ทำให้ไม่เจ็บไม่ไข้ กินอิ่มและหลับสบาย
“จากการศึกษาตำราคัมภีร์ ถ้าเป็นอะไรเกี่ยวกับการปรับธาตุเสมอๆ จากการสัมภาษณ์หมอต่างๆ ก็จะคล้ายๆ กัน รายละเอียดของการหลากหลาย เนื่องจากแต่ละคนมีสัดส่วนการใช้ไม่เหมือนกัน เรียกว่า ยักย้ายถ่ายกระแสยา กล่าวคือ คนแต่ละคนจะใช้ยาไม่เท่ากัน เรียกเป็นตำรับยา ซึ่งแต่ละอันมีทั้งเท่ากันและไม่เท่ากันตามสัดส่วนของพิกัดยาที่ปรุงไว้”
อย่างไรก็ตาม แม้การใช้สมุนไพรทั้ง 5 ชนิดร่วมกันจะปรับธาตุอย่างได้ผล แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหรือข้อห้ามที่ไม่ควรใช้เช่นกัน ซึ่งหมอแผนไทยจะห้ามใช้สมุนไพรกลุ่มนี้กับคนที่เป็นไข้ตัวร้อน ความดันโลหิตสูง คนที่มีแผลเปื่อยอักเสบ และว่า ที่คุณแม่ซึ่งตั้งท้องจะอ่อนหรือแก่ก็ห้ามเด็ดขาดเพราะมียาที่สามารถทำให้แท้งได้
** อยู่อย่างไรในหน้าหนาว
นอกจากอาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ อ่อนเปลี้ยละเหี่ยแรงโดยหาสาเหตุไม่ได้แต่แก้ด้วยการปรับธาตุไปก่อน 1-2 สัปดาห์แล้วค่อยให้ยาตัวอื่นตามก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้แล้ว อ.กุสุมา บอกอีกว่า ในเวลาอากาศหนาวซึ่งช่วงนี้ทั่วประเทศไทยส่วนใหญ่กำลังประสบกับภาวะหนาวเฉียบพลัน คือ หนาวเร็ว และหนาวมากในบางพื้นที่มีผู้ป่วยจากน้ำท่วมอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งประสบกับภัยหนาวอีกจะทำให้ไม่สบายเรื้อรังได้
การกินยาเบญจกูลเพื่อปรับธาตุ 1-2 สัปดาห์จะช่วยยับยั้งบรรเทาการเกิดไข้เนื่องจากเปลี่ยนฤดูได้ จะไม่ต้องเจ็บป่วย อาการหนาว การกินยาปรับธาตุ 1-2 สัปดาห์ อาการเป็นไข้เปลี่ยนฤดูก็จะบรรเทาและไม่เจ็บป่วยได้
อ.กุสุมา บอกว่า รูปแบบของการใช้เบญจกูลจะแตกต่างกันออกไปบางแห่งใช้ต้มในรูปน้ำ บ้างใช้เป็นยาเม็ด และปัจจุบันพัฒนาเป็นแคปซูล โดยในอนาคตอาจจะได้รับการพัฒนาต่อยอดด้านเภสัชวิทยาและคลินิกต่อไป
ตำรับยาเบญจกูล เป็นยารสเผ็ดร้อนและเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาสมุนไพรที่ใช้ดูแลสุขภาพกันมานานหลายร้อยมิหนำอาจจะล่วงถึงพันปี การนำกลับมาใช้อย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบันอาจจะเพิ่มตัวเลือกให้แก่กลุ่มยาส่งเสริมสุขภาพที่ช่วยรักษาดุลยภาพระหว่างธาตุในร่างกายและธาตุของจิตใจให้เป็นปกติ แข็งแรง เข้าทำนองสุภาษิต “กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน” จริงไหม
วิธีต้านภัยหนาวด้วยสมุนไพรใกล้ตัว นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำวิธีการดูแลสุขภาพด้วยหลักการแพทย์แผนไทยในช่วงหน้าหนาวนี้ ว่า จากทฤษฎีของแพทย์แผนไทยที่บอกว่า คนเรามีธาตุเป็นองค์ประกอบ 4 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยการเจ็บป่วยในแต่ละช่วงฤดูกาลจะขึ้นอยู่กับการเสียสมดุลธาตุในช่วงนั้นๆ โดยในหน้าหนาวจะเกี่ยวข้องกับธาตุน้ำในร่างกายที่ขาดสมดุล สำหรับอาการที่มักจะพบบ่อยๆ คือ มีเสมหะ เจ็บคอ แสบคอ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มทางเดินหายใจของแพทย์แผนปัจจุบันนั่นเอง กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงในฤดูหนาว คือ คนที่เป็นโรคประจำตัวคือ หอบหืด ซึ่งมีโอกาสถูกกระตุ้นให้แสดงอาการได้ง่ายและเร็วกว่าฤดูอื่นๆ ดังนั้น การดูแลสุขภาพในหน้าหนาวของการแพทย์แผนไทยต้องใช้ทฤษฎีเรื่องอาหารปรับสมดุลธาตุน้ำ โดยใช้รสชาติของอาหารป้องกันการเจ็บป่วยช่วยปรับธาตุทั้ง 4 ให้สมดุล สำหรับอาหารที่แนะนำ คือ อาหารรสเปรี้ยว ขม เช่น ประเภทต้มยำ ยำต่างๆ น้ำพริกรสเปรี้ยว ผักจิ้มเครื่องเคียงทั้งรสเปรี้ยวและขม เช่น ยอดมะกอก ช่อมะม่วง ยอดติ้วยอดแต้ว ผักเม็ก มะระ สะเดา แกงขี้เหล็ก เป็นต้น ซึ่งสรรพคุณของรสเปรี้ยวจะช่วยขับเสมหะ บำรุงเสมหะ ส่วนรสขมจะช่วยบำรุงน้ำดีและช่วยให้เจริญอาหาร นอกจากนี้ ยังมีอาหารรสเผ็ดร้อนจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ช่วยขับเสมหะ เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา พริก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาหารบำรุงธาตุน้ำ ดังนี้ร่างกายก็จะสดชื่นแข็งแรงมีภูมิต้านหนาวได้ดี ไม่เพียงธาตุน้ำจะส่งผลต่อระบบภายในเท่านั้น นพ.นรา ยังบอกอีกว่า ปัญหาผิวแห้งถือเป็นเรื่องน่ารำคาญสำหรับคนทุกวัยไม่แพ้กัน ทั้งผิวแห้ง ผิวคัน แสบร้อน หากดูแลไม่ดีก็อาจอักเสบหรือติดเชื้อได้ จึงขอแนะนำน้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา น้ำมันมะกอกทาผิว เนื่องจากเป็นสารที่อุดมด้วยวิตามินอี มีสารต้านอนุมูลอิสระ และในกรณีที่ผิวแห้งมากๆ แนะนำว่าน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์จะช่วยให้ผิวชุ่มชื่นได้นาน น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันงาจะซึมบำรุงผิวได้ดีและเร็ว ช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและป้องกันมะเร็งผิวหนังจากแสงแดดได้ |