"ภาพกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละคร ส่วนใหญ่มักเป็นภาพลักษณ์ที่มีปัญหาทางจิต ไม่ปกติ อารมณ์รุนแรง หมกมุ่นทางเพศ ภาพลบที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อซ้ำซาก ทำให้สังคมขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นธรรม เกิดอคติด้านลบ มองว่าพวกเขาเป็นแกะดำ จึงได้รับการดูถูกเหยียดหยาม ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งเขาไม่ได้ผิด แต่ทำไมสังคมถึงทำกับเขาเหมือนไม่ใช่มนุษย์"
"พี่เล็ก" หรือ ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ อายุ 31 ปี หัวหน้าโครงการประกวดหนังสั้นสีรุ้ง (Thai Queer Shot Film) ครั้งที่ 1 กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความคิดในการจัดโครงการประกวดหนังสั้นสีรุ้ง (Thai Queer Shot Film) ครั้งที่ 1 โดยร่วมมือกับคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมโอกาส และความเสมอภาคในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสื่อ และสื่อสารความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ปราศจากอคติเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันให้เกิดขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดสังคมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศที่มีความแตกต่างและหลากหลาย โดยได้งบสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
พี่เล็กบอกว่า อยากให้มีสื่อและเกิดสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสังคม ต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ เพราะมองว่าสื่อมีพลัง แต่ปัจจุบันสื่อฟรีทีวี หรือสื่อกระแสหลักกลับนำพลังตรงนั้นมาสร้างอคติให้คนดู นำเสนอภาพเชิงลบ เช่น ภาพลักษณ์ที่ก้าวร้าว รุนแรง หมกมุ่นเรื่องเพศ หรือตัวตลกในละครและภาพยนตร์ โดยไม่มองในส่วนดีที่อยู่ข้างใน เช่น ความสำเร็จ การช่วยเหลือสังคม ของกลุ่มคนเหล่านี้
"โครงการหนังสั้นสีรุ้ง ถือเป็นจุดเล็กๆ เพื่อจุดประกายความคิดของคนในสังคมให้เกิดความเข้าใจ พวกเขาไม่ใช่โรคจิต ไม่ใช่คนผิดปกติ แต่สังคมประทับตราว่าพวกเขาเป็นแบบนั้น พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเกย์ ตุ๊ด หรือทอม ดี้ ไม่ต้องตกใจ บางครั้งลูกอาจจะอยู่ในช่วงวัยของการเรียนรู้ หรือค้นพบตัวเอง แต่ถ้าเกิดว่าเป็นจริง ก็ต้องเปิดใจ รับฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตอกย้ำลูก เพราะที่เป็นแบบนี้ พวกเขาก็โดนสังคมตอกย้ำเพียงพอแล้ว" พี่เล็กบอก
สำหรับผลรางวัลการประกวดหนังสั้นสีรุ้ง (Thai Queer Shot Film) ครั้งที่ 1 มีคนผลิตหนังสั้นเข้าชิงรางวัลทั้งสิ้น 107 เรื่อง ได้รับคัดเลือกให้สร้างหนังได้ 15 เรื่อง และตัดสินให้ได้รับรางวัล 3 เรื่อง โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่เรื่อง เป็นใคร?? (เรื่องของเรื่องที่ไม่ชื่อเรื่อง) ผลงานของชลธิชา ตั้งวรมงคล ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่เรื่อง ชั้นที่ 12A โดยนภดล พันธา ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่เรื่อง เสียงในใจ (ผู้เลือก) โดยทศพล ทิพย์ทินกร ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล นอกจากนี้ยังมีรางวัลประชานิยมหนังสั้นสีรุ้ง จากคะแนนโหวตของคนดู ได้แก่เรื่อง กาลครั้งหนึ่งเมื่อฉันเรียกชื่อ "แก" โดยจิตตรัตน์ วงศ์บูรณะ ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล
ชลธิชา ตั้งวรมงคล หรือ "ชล" อายุ 28 ปี ทำงานอิสระ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดหนังสั้นสีรุ้ง เล่าความรู้สึกว่า ดีใจกับความสำเร็จ และมีความสุขที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในมุมมองของคนรักเพศเดียวกัน ที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจ และมองเห็นชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น เช่น มุมมองความรักที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องบนเตียง เพราะส่วนตัวเป็นคนไม่ชอบการถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกข่มเอง หรือความไม่ยุติธรรม ดังนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้สร้างหนังแนวนี้ออกมา
"หนังสะท้อนชีวิตทอม นำเสนอความเป็นจริงของมนุษย์ ที่สวมหมวก 3 ใบ คือ ลูก ครู และม้าทรง (ร่างทรง บทบาทลูกเธออึดอัด เพราะแม่ไม่ยอมรับ บทบาทครู เธอต้องเก็บความจริงและทำหน้าที่ของครูต้นแบบที่ดี และม้าทรง เธอถูกมองว่าผิดเพศ ทั้ง 3 หมวก เป็นการตั้งคำถามกับการเป็นตัวเองว่า มันยากแค่ไหน เมื่อคุณไม่ใช่เพศที่สังคมทั่วไปยอมรับ จนแทบไม่รู้ตัวเองเลยว่า จะเป็นใครดี ในเมื่องสังคมมองว่า เพศที่สามคือคนผิดปกติ" ชลทะท้อนแนวคิด และแง่มุมของเรื่อง
ด้าน ธงชัย แก้วมาก หรือ "แฟรงกี้" อายุ 21 ปี คณะทำงานองค์กรฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน บอกว่า หนังที่สร้างความเข้าใจในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันมีน้อย สังคมส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเข้าใจเพศที่สาม หรือคนรักร่วมเพศ แต่รากลึกแล้ว คนที่น่าจะเข้าใจมากที่สุด กลับไม่เข้าใจอะไรเลย โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท จนถึงปริญญาเอก ที่ยังมีอคติ เลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้ เช่น การรับสมัครงานในองค์กร การเรียนการสอนในโรงเรียน การออกกฎเกณฑ์ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือแม้กระทั่งกฎหมาย เช่น การทำประกัน ซึ่ง เพศที่สาม หรือคนรักเพศเดียวกันก็เหมือนคนธรรมดา ไม่ได้เรียกร้องอะไร ไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษอะไร แต่ขอให้เกิดความเท่าเทียมกันในด้านกฎหมาย และความเป็นอยู่ในสังคม อย่าทำกับเราเหมือนแกะดำที่ไม่ใช่สมาชิกในสังคมแบบนี้อีกเลย
"อย่าทำกับเราเหมือนแกะดำที่ไม่ใช่สมาชิกในสังคมแบบนี้อีกเลย"
ประโยคนี้ ถือเป็นความรู้สึกที่คนทั่วไป ไม่สามารถสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดในบาดแผลของคนกลุ่มนี้ นั่นเพราะเขาเลือกเกิดไม่ได้ เลือกที่จะชอบเพศตรงข้ามไม่ได้ เลือกที่จะชอบตามกฎของธรรมชาติไม่ได้ แต่ "คนสีรุ้ง" หรือ "คนที่มีความหลากหลายทางเพศ" สามารถเลือกที่จะทำความดีให้กับสังคม ทำประโยชน์ ทำหน้าที่อย่างสุจริต รวมถึงเป็นเพื่อนมนุษย์ที่จริงใจไม่น้อยไปกว่าชาย หญิงทั่วไป เพียงแค่เปิดใจยอมรับ และมองในด้านบวกของพวกเขาบ้างก็พอ....