เลขาธิการแพทยสภาแจง คณะทำงานแก้ไขปัญหาฟ้องหมอของสนง.ศาลยุติธรรม ยังไม่สรุปเรื่ององค์ประกอบ ผู้เสียหายอาจเข้ามาร่วมภายหลังก็ได้ ด้านเครือข่ายผู้ป่วยขอมีส่วนร่วมในคณะทำงาน จี้สธ.ดันพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข บังคับใช้ พร้อมยอมดีกับแพทยสภาหากมีความจริงใจแก้ปัญหา
จากกรณีที่นายพินิจ สุเสารัจ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เตรียมที่จะคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ถูกฟ้องคดี ประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 3 ท่าน ผู้แทนแพทยสภา 3 ท่าน เพื่อหารือร่วมกันในรายละเอียดของการดำเนินการ ตลอดจนพิจารณาเกี่ยวกับข้อขัดข้องในการใช้บังคับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น
นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้คงต้องหารือกันในรายละเอียดอีกครั้ง ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ถูกฟ้องคดีที่แต่งตั้งขึ้น ตามความเห็นชอบของการประชุมระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข ตัวแทนแพทยสภา และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ที่หารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์
“ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะไม่มีองค์ประกอบจากภาคประชาชนผู้เสียหายนั้น ยังไม่ได้หารือกันในเรื่ององค์ประกอบว่าจะมาจากส่วนใดอย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นทางราชการ อย่างสำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภาก็รวมตัวกันและประชุมกันสักครั้งก่อน ซึ่งหากทางเครือข่ายผู้เสียหาย ที่ถือว่าเป็นภาคประชาชน องค์กรอิสระก็อาจเข้ามาร่วมกันอยู่ในภายหลังได้ เพราะองค์ประกอบคณะทำงานยังไม่ได้มีการหารือกันว่าจะเป็นใครอย่างไร สรรหาอย่างไรบ้าง”นพ.อำนาจ กล่าว
นพ.อำนาจ กล่าวต่อว่า หน้าที่เบื้องต้นคณะทำงานชุดนี้คงดู 3 ส่วน ได้แก่ 1.วิธีการดำเนินการของผู้ไกล่เกลี่ยที่สำนักงานศาลยุติธรรม เตรียมขึ้นทะเบียนให้มีในศาลทั่วประเทศ เพื่อผู้ไกล่เกลี่ยให้มีความรู้ด้านสาธารณสุข ว่าจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร ประกอบด้วยใครบ้าง 2.วางหลักการดำเนินงานให้ผู้เชี่ยวชาญศาลยุติธรรมที่มีความรู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์สาขาต่างๆ เพื่อให้มีพยานที่เป็นกลาง พร้อมทั้งวางหลักเกณฑ์การสรรหาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ด้วย และ 3.พิจารณาเรื่องเกี่ยวกับการฟ้องร้องทางการแพทย์เรื่องทั่วไป
ด้านนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่สำนักงานศาลยุติธรรมตระหนักถึงความสำคัญ และหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของหน่วยงานสาธารณสุขโดยตรงและจะดียิ่งขึ้นหากหน่วยงานสาธารณสุขจะเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาผู้ได้รับความเสียหายจากการรักษาไม่มีที่พึ่ง เพราะหน่วยงานเป็นคู่กรณีกับผู้เสียหายเสียเอง
“อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถตอบได้ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร เพราะไม่ทราบรายละเอียดและไม่ได้รับเชิญให้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐมักเป็นผู้กำหนดกติกา และให้ประชาชนเดินตาม ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สังคมคงจะอุ่นใจไม่น้อย หากสำนักงานศาลยุติธรรมจะให้โอกาสในการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 เนื่องจากผู้ป่วยคือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ถือว่าเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง”นางปรียานันท์กล่าว
นางปรียานันท์ กล่าวด้วยว่า การไกล่เกลี่ย หรือระงับข้อพิพาทคดีทางการแพทย์ที่ได้ผล ควรมีคณะกรรมการที่เป็นที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย มีตัวแทนของทั้งฝ่ายแพทย์และฝ่ายผู้เสียหาย รวมทั้งต้องให้ผู้เสียหายได้รับข้อมูลของตนเองหรือญาติในเวชระเบียนอย่างครบถ้วน เนื่องจากที่ผ่านมา การไกล่เกลี่ยมักทำไปโดยที่ผู้เสียหายไม่มีข้อมูลได้รับความเป็นธรรมน้อยมาก ขณะเดียวกันอยากขอร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา มากกว่าให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นความหวังของทั้งฝ่ายแพทย์และคนไข้ มากกว่าจะนำคดีเข้าสู่ศาล
“ส่วนภาพการที่แพทยสภากับเครือข่ายผู้เสียหายทะเลาะกันมานานแทนที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา หากความสัมพันธ์ที่มีต่อกันดีขึ้น ให้เครือข่ายผู้เสียหายได้มีส่วนร่วม ไม่ใช่ตอบโต้กันไปมาก็จะช่วยลดความขัดแย้งและมีบรรยากาศที่ดีในการร่วมไม้ร่วมมือในการแก้ปัญหาซึ่งแพทย์สภาก็จะต้องมีความจริงใจกับผู้ได้รับความเสียหายด้วย”นางปรียานันท์กล่าว