xs
xsm
sm
md
lg

“วิชาญ” ตั้ง คกก.ไกล่เกลี่ยฟ้องหมอ ชี้หนุนงานสันติวิธีสธ. เครือข่ายผู้ป่วยฯจวกแก้ไม่ตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชาญ มีนชัยนันท์
“วิชาญ” ตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยฟ้องหมอ ชี้ ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับศูนย์สันติวิธีที่ สธ.มีอยู่แล้วแน่ แต่เป็นตะแกรงกรองอีกชั้นสนับสนุนการทำงาน ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนผู้ป่วยก็จัดการได้ ด้านเครือข่ายฯผู้ป่วยจวก ผู้เสียหายถูกกีดกัน งง! ไม่เอาคนมีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม แก้ไม่ตรงจุด จี้ถ้าจริงใจให้เร่งผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ดีกว่า

วานนี้(3 พ.ย.) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทจากการใช้บริการทางการแพทย์ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีฟ้องร้องแพทย์ไม่ให้ยืดเยือไปถึงศาล จำนวน 21 คน โดยมี นายมานะ นพพันธ์ อดีตรองปลัด กทม.เป็นประธาน รวมทั้งยังมีตัวแทนจากหลายฝ่าย ทั้งผู้แทนชมรมแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ผู้แทนชมรมผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชน ตัวแทนชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด แพทยสภา ตัวแทนกองประกอบโรคศิลปะ ตัวแทนสมาคมแพทย์โรงพยาบาลเอกชน อัยการ ตำรวจ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นคนกลางที่จะทำหน้าที่ศึกษาและไกล่เกลี่ยคดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้น โดยจะช่วยลดขั้นตอนในการเจรจาให้รวดเร็วขึ้น

“คณะทำงานชุดนี่ทำหน้าที่เหมือนเป็นการร่อนตะแกรงเรื่องที่จะฟ้องร้องไปสู่ศาลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแต่งตั้งโดยคำสั่งของ รมช.สธ.ทำให้คล่องตัวในการทำงาน เป็นรูปแบบนอกระบบ ใช้คำสั่ง รมช.สธ.ได้โดยตรง สามารถเชิญหน่วยงานภายนอกมาหารือ ทำให้งานชัดเจนและรวดเร็วขึ้น ซึ่งก็ไม่เหมือนกับศูนย์สันติวิธีของสธ.ที่ถือว่าติดขัดในหลักระเบียบของราชการ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ก็ทำหน้าที่ช่วยเหลือศูนย์สันติวิธีอีกทางหนึ่ง”นายวิชาญ กล่าว

เมื่อถามว่า จะได้รับการยอมรับจากผู้เสียหายหรือไม่ เนื่องจากไม่มีมีสัดส่วนของผู้ป่วยเข้าร่วมอยู่ในคณะทำงานนี้ด้วย นายวิชาญ กล่าวว่า หากผู้ป่วยต้องการจะร้องเรียนองค์กรอิสระอย่างเครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ ก็สามารถไปดำเนินการร้องเรียนได้ แต่ในส่วนของคณะทำงานนี้เป็นส่วนราชการที่คิดว่ามีสัดส่วนจากหลายฝ่ายเพียงพอแล้ว สามารถที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยได้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ด้านนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข กล่าวว่า การตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยใหม่ โดยทำหน้าที่เหมือนที่ศูนย์สันติวิธี สังกัดกระทรวงสาธารณสุข แสดงว่า เป็นการยอมรับว่า การทำหน้าที่ของหน่วยงานที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ทำไมไม่แก้ไขสิ่งที่มีอยู่ให้ทำหน้าที่ให้ได้ รวมถึงที่ผ่านมาก็มีข้อสรุปว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... จะแก้ไขปัญหาได้ แทนที่จะมาเร่งผลักดัน แต่ก็เป็นเพียงเรื่องที่ถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจหลายคน จึงทำให้ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

“เมื่อเกิดเหตุการณ์ความเสียหายขึ้น เราตกเป็นผู้เสียหายแล้วจะกีดกันให้เราอยู่กันคนละโลกกันเลยหรืออย่างไร ไหนบอกว่าจะอยากสร้างความสมานฉันท์ แต่การทำเช่นนี้ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเราโดนกีดกัน และยืนยันว่า หากเป็นเช่นนี้การไกล่เกลี่ยก็จะล้มเหลวโดยตลอด และยิ่งทำให้เกิดการเผชิญหน้า ความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้และหมอก็ยิ่งแต่จะแตกแยกไปมากกว่านี้” นางปรียนันท์ กล่าว

นางปรียนันท์ กล่าวว่า ตั้งแต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มาเป็น รมว.สาธารณสุข ก็ให้สัมภาษณ์ทันทีว่าจะตั้งทนายมาช่วยเหลือหมอที่จะถูกฟ้องร้อง ทั้งๆ ที่ไม่เคยเรียกกลุ่มผู้เสียหายเข้าไปให้ข้อมูลแต่อย่างใด หรือรับฟังความคิดเห็นให้ครบ 2 ฝ่าย ขณะนี้กลับมาตั้งคณะกรรมการที่กีดกันพวกเราออกมา เหมือนกับไม่ให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่เราเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริงเสียงจริง และกลับไม่ไปผลักดันร่าง พ.ร.บ.ที่เป็น

“ทราบข่าวมาว่าคณะกรรมาธิการสาธารณสุข ของสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯไว้ก่อน และแจ้งว่า ทางรัฐบาลจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวฉบับใหม่เข้ามา ซึ่งไม่ทราบว่าจะนำร่างฉบับไหนเข้ามาอีก เพราะร่าง พ.ร.บ.ที่พิจารณากันมาหลายเดือน พิจารณาไปคืบหน้าไปจนเกือบจะหมดแล้ว ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนทั่วประเทศมานานกว่า 1 ปีด้วย”นางปรียนันท์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น