โพลเผยครอบครัวไทยยังมีความสุข ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่ความขัดแย้งในบ้านพุ่งสูงขึ้น 15% เพราะเอาการเมืองมายุ่ง เตือนหาก รบ.เร่งแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นชนวนความรุนแรง ชี้ ปัญหามีทางออก หาก “สมชาย” สงสารประชาชน ด้านจิตแพทย์เสนอให้องค์กรกลางขึ้นบัญชีดำคนยั่วยุความรุนแรง ขึ้นคำเตือนหน้าจอ “โปรดใช้วิจารณญาณในการฟัง” หวังให้ไตร่ตรองก่อนพูด พร้อมแนะวิธีปรับ 4 เติม 3 ช่วยผ่านวิกฤต
วันนี้ (4 พ.ย.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดผลวิจัย “ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสุขของคนภายในครอบครัว ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองของสังคมไทย” โดยได้ศึกษาระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-3 พ.ย.2551 ในกลุ่มตัวอย่าง 2,855 ราย พบว่า ครอบครัวส่วนใหญ่ 72.5% มีความสุขมากถึงมากที่สุด อีก 13.8% ปานกลาง และ 13.7% มีความสุขน้อยถึงไม่มีความสุขเลย โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขของครอบครัวอยู่ที่ 6.92 จากคะแนนเต็ม 10 จึงถือว่าประชาชนยังมีความสุขค่อนข้างมากแม้การเมืองจะขัดแย้งกันรุนแรง
นายนพดล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามพรรคการเมืองพบประชาชนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีความสุขมากที่สุดถึง 76.1% รองลงมาคือ คนเคยเลือกพรรคพลังประชาชนอยู่ที่ 71.1% และคนเคยเลือกพรรคอื่นๆ มีอยู่ 70% แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ คน 82% พบเห็นการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา มีคะแนนเฉลี่ย 7.59 จากคะแนนเต็ม 10 หมายความว่า มีการใช้ความรุนแรงในระดับที่มาก
“ความขัดแย้งในครอบครัวเพิ่มขึ้นเป็น 15% ตั้งแต่ปี 2549 ทั้งที่ความรุนแรงในครอบครัวก่อนหน้านี้มีเพียง 5-6% เท่านั้น ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาการเมือง”นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวว่า จากการทำโพลหลายครั้ง ผลมักออกมาคล้ายคลึงกันว่า บุคคลที่มีความคิดรุนแรงสุดขั้ว ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีประมาณ 5-10% เท่านั้น แต่อีก 90% ยังต้องการสันติ ไม่ต้องการความรุนแรง ซึ่งหากสถานการณ์กดดันอาจทำให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ต้องเลือกข้าง นำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นได้ จึงควรรีบแก้ไขปัญหาเสียตั้งแต่ตอนนี้
“ในส่วนที่ครอบครัวมีแนวความคิดที่ขัดแย้งกัน ให้พยายามนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันหรือไม่คุยกันเรื่องการมืองเป็นการชั่วคราวเพื่อให้วิกฤตปัญหาผ่านพ้นไป รักใครชอบใครได้ แต่ให้เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง มีคามเป็นประชาธิปไตยในบ้าน ไม่ใช่ชี้นำว่าต้องเชื่อทางใดทางหนึ่ง เพราะอาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจและเกิดความสูญเสีย ทะเลาะเบาะแว้ง พ่อแม่ไม่อยู่ด้วยกัน หรือหนีออกจากบ้าน” นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากข้อมูลพบว่า หัวหน้าครอบครัว 60% เครียดเรื่องการเมือง แต่เป็นวิธีหาทางออกที่ดีที่กว่า 80% เลือกการไปท่องเที่ยวไม่หมกมุ่นกับข่าวสารเกินไป แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ การไปเที่ยวและเจอมือตบ เท้าตบในช่วงไปเที่ยวก็อาจทำให้เครียดได้ จึงอยากส่งสัญญาณให้คนไทยหยุดทะเลาะกัน และหยุดมือตบ เท้าตบในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึง เพื่อที่ประชาชนได้จะผ่อนคลายอย่างมีความสุข
นายนพดล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ถือว่ากลุ่มที่ชอบรัฐบาลหรือไม่ชอบรัฐบาลแต่ละฝ่ายก็มีจำนวนพอๆ กัน จึงเป็นอันตรายกับบ้านเมือง หากมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น รวมถึงหากไม่รีบแก้ไขปัญหาอาจทำให้เกิดความรุนแรงเช่นเดียวกัน ซึ่งประเทศอื่นใช้กลไกระบอบประชาธิปไตยมาตัดสินใจ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แต่หากเลือกตั้งใหม่แล้วยังเกิดปัญหาก็ต้องทำใหม่จนแก้ปัญหาได้ มิใช่ให้เกิดการเผชิญหน้า
“ฝ่ายการเมืองหากไม่จัดการปัญหา และยืนยันจะแก้รัฐธรรมนูญ ในขณะที่ประชาชนเห็นต่างเป็น 2 ฝ่ายเป็นจำนวนมาก เชื่อว่า จะเป็นความขัดแย้ง ดังนั้น จึงไม่ควรรีบตัดสินใจแก้รัฐธรรมนูญ ถ้ามีบรรยากาศความขัดแย้ง ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วง ถ้ามีผู้มีอำนาจในการตัดสินใจกลับไม่ทำอะไรเลย สุดท้าย 2 ฝั่งจะเกิดการปะทะกัน จนเกิดความวุ่นวายโดยที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้”นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวต่อว่า ทางออกมีอยู่ คือ การใช้สันติวิธี แต่อยู่ที่ผู้ใหญ่ของสังคมจะแก้ไขหรือไม่ โดย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี จะต้องเร่งตัดสินใจเพื่อหาทางออกของปัญหาได้
“หากนายกรัฐมนตรีคำนึงและสงสารประชาชน ก็ต้องมองความรู้สึกนึกคิดของทุกชนชั้น ไม่ใช่มองแต่คนรอบข้าง เอาคนดีที่อยู่ในวงการเมืองแต่ละคนมาช่วยกันคิด และหาทางแก้ไขปัญหา ลดความขัดแย้งก่อน ส่วนทางออกของประชาชน ไม่ทราบว่ามีวิธีในการจัดการความเครียดของตัวเองมากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัจจัยความเครียดเป็นเรื่องภายนอกบ้าน แต่ก็ไม่ควรนำปัญหาภายนอก เข้ามาเป็นปัญหาภายในครอบครัว”นายนพดล กล่าว
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สังคมมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก รวมทั้งมีจุดยืนที่ไม่ต้องการความรุนแรง ซึ่งในสังคมไทยขณะนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่ไม่จริงที่ความขัดแย้งจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะไม่มีประเทศไหนที่กลัวความขัดแย้ง
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กลัวขณะนี้ คือ ความรุนแรงแต่เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก แม้แต่ประเทศที่มีสงครามกลางเมืองยังมีข้อตกลงในการหยุดยิง ประชาชนจะมีทางออกแน่นอน แต่คนทีไม่มีทางออก คือ คนที่สร้างปัญหา และไม่เข้าใจพลังของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเทศไทยจะเกิดการปฏิรูปการเมืองรอบ 3 เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นคนทำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 ก็ทราบดีว่า ควรจะมีการแก้ไขเกิดขึ้น
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า สังคมไทยขณะนี้ ความรุนแรงทางการภาพลดลง แต่ความรุนแรงทางวาจายังคงอยู่ ซึ่งใช้เพื่อปลุกจิตใจคน อยากเสนอให้มีหน่วยงานกลาง หรือ Violence Watch ทำหน้าที่ตรวจสอบบุคคลที่พูดผ่านสื่อ และเข้าข่ายยั่วยุ ให้เกิดความรุนแรงขึ้น โดยเรียงลำดับชื่อบุคคลที่พูดแล้วเข้าข่ายทำให้เกิดความรุนแรง อาจจะรายงานให้ประชาชนทราบเป็นรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ระหว่างที่บุคคลนั้นพูดผ่านสื่อ อาจจะขึ้นคำเตือน ว่า “โปรดใช้วิจารณญาณในการฟัง” ประชาชนจะได้รับทราบว่า หากบุคคลดังกล่าวพูดต้องคิดก่อนที่จะเชื่อ ถือเป็นการเตือนประชาชน และหวังว่าอานิสงส์นั้น จะเตือนให้คนที่ติดบัญชีนี้ เตือนตัวเอง และไตร่ตรองก่อนที่จะพูด เชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนจากขั้วความขัดแย้ง เป็น เอาหรือไม่เอาฝ่ายที่ทำให้เกิดความรุนแรงแทน
นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า หลักการง่ายๆ ในการเผชิญภาวะเศรษฐกิจ การเมือง หรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด มีการศึกษา พบว่า จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มักผ่านสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีอยู่เสมอ และอีกกลุ่มที่ไม่สามารถผ่านไปได้ ซึ่งกลุ่มที่ผ่านสถานการณ์เลวร้ายได้ มักมีพื้นฐานบางอย่าง คือ ลักษณะ 7 ประการ ปรับ 4 เติม 3 1.ปรับอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ ท้อแท้ เกลียด จะทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องตั้งสติ 2.ปรับความคิด การคิดบวกไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง หรือเศรษฐกิจ 3.ปรับการกระทำ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ทันที เพียงปรับพฤติกรรมของตัวเอง เช่น เรื่องการเมือง ปรับการกระทำด้วยการไม่ใช่ความรุนแรง 4.ปรับความคาดหวัง คือ การปรับแนวคิดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จะช่วยลดความกดดัน ความเครียดได้
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ส่วนการเติม เป็นเรื่องที่เกือบทุกคนมีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วแต่ยังไม่ได้นำมาทำ 1.เติมความศรัทธา ทั้งในตนเอง ศาสนา ความดีงาม 2.เติมมิตร เพราะแต่ละคนนั้นไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก บางครั้งเมื่อมีปัญหาสามารถปรึกษาคนรอบตัวได้ การขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย 3.เติมจิตให้กว้าง เป็นการเปิดใจปรับเปลี่ยนมุมมองต่อคนและสังคมรอบตัว ต้องไม่คิดว่าสิ่งที่คิดนั้นถูกต้องอยู่เพียงคนเดียว เพราะจะทำให้จิตใจคับแคบลง และทำให้เกิดความเครียด เพราะทุกคนต่างมีเหตุผลของตนเองทั้งนั้น