xs
xsm
sm
md
lg

“ยูนิเซฟ” ชี้ความรุนแรงในครอบครัว 3 จว.ชายแดนใต้พุ่ง หลังเกิดความไม่สงบถี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ท
“ยูนิเซฟ” เผยผลวิจัยทัศนคติเด็กใต้ต่อความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนพบ เด็กส่วนใหญ่คิดบวกกับเจ้าหน้าที่รัฐ ระบุ บ้าน โรงเรียน และสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาคือสถานที่ที่ปลอดภัย ครูคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ใจดีที่สุด ขณะที่ความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ติดอาวุธเน้นที่ตัวบุคคล ส่วนปัญหาที่เด็ก 3 จว.กังวล คือ ยาเสพติด

วันนี้ (11 ธ.ค.) ตั้งแต่ช่วงสายที่ผ่านมา เวลาประมาณ 10.30 น.ที่โรงแรมแลนมาร์ค ถนนสุขุมวิท กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ จัดแถลงข่าวผลการวิจัยเกี่ยวกับทัศนคติของเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยผ่านการศึกษาวิจัยในหัวข้อเรื่อง “วันเวลาแห่งความหวาดกลัว : การรับรู้ของเด็กต่อการดำเนินชีวิตในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย”

โดยนายเศรษฐศักดิ์ อรรคนิมาตย์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก ยูนิเซฟ (ประเทศไทย) กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายโดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ได้มอบหมายให้องค์กรเอกชนไทย คือ knowing children และองค์กรพันธมิตรภาคใต้ 4 องค์กร ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี กลุ่มเพื่อนหญิงไทยมุสลิม กลุ่มลูกเหรียง และสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย โดยงานชิ้นนี้เป็นงานการวิจัยที่ใช้เวลาศึกษาค่อนข้างยาวนาน คือ 2 ปีเต็ม โดยศึกษาระหว่างปี 2549-2550

“เก็บข้อมูลจากเด็กๆ ทั้งมุสลิมและพุทธ อายุระหว่าง 7-17 ปี จำนวน 2,357 คน ในจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ยังมีผู้ใหญ่อีก 717 คนในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งเก็บข้อมูลเพื่อเป็นตัวอย่างจากกลุ่มเด็ก 283 คน ใน กทม. และกาญจนบุรี เพื่อหาตัวอย่างที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มเด็กที่อยู่ต่างสถานที่ และต่างสถานการณ์

เราใช้เครื่องมือในการศึกษาวิจัย 10 แบบ เช่น การวาดภาพ การเขียนเรียงความ การเปิดโอกาสให้เติมคำในช่องว่างเพื่อสำรวจทัศนคติ ซึ่งการออกแบบนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กในพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย ทำให้ได้ข้อมูลกลับมาทั้งหมดทั้งสิ้น 11,444 ข้อมูล”

นายเศรษฐศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เบื้องหลังการทำวิจัยชิ้นนี้พบว่า ในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เด็กในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม แต่ปัญหาผลกระทบต่อเด็กกลับถูกบดบังด้วยปัญหาอื่นๆ และมีการทำวิจัย ในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างน้อย ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดพอจะสรุปได้ว่า ปัญหาที่เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความกังวลค่อนข้างมากคือ ความกังวลเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า กัญชา ใบกระท่อม

จากการสอบถามเด็ก 42% จาก 1,084 คน กล่าวว่า พวกเขารู้ว่าคนในหมู่บ้านคนใดติดยาเสพติด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กผู้ชาย ซึ่งเด็กได้ข้อมูลหลายคนกล่าวว่า ยาเสพติดเป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวที่สุดสำหรับพวกเขา

นอกจากนี้ เด็กส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่า นอกจากสถานการณ์ในชุมชนจะมีมากแล้ว ในโรงเรียนและในบ้านก็พบว่า ครูก็ยังใช้วิธีลงโทษด้วยการตี ซึ่งพวกเขาคิดว่ารุนแรง และอีกจำนวนไม่น้อยระบุว่าถูกพ่อแม่ลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีอย่างรุนแรงมากขึ้น หลังจากสถานการณ์ความไม่สงบรุนแรงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เด็กส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่าครูเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ใจดีที่สุด และคิดว่าบ้านเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในชุมชน รองลงมาคือสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา

นายเศรษฐศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่ตัวอย่างส่วนใหญ่ของเด็กมีทัศนคติเชิงบวกอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นต่อเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลต่างศาสนา หรือแม้กระทั่งโจรใต้ที่ก่อความไม่สงบให้กับพวกเขาก็ตาม เพราะจากการสำรวจพบว่า แม้เด็กๆ จะประสบกับความกังวลและความเครียดในชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีเด็กคนใดที่จะแสดงความคิดเห็นด้านลบต่อศาสนาอื่น ไม่มีเด็กคนใดเห็นว่าศาสนาคือต้นเหตุของการก่อความไม่สงบ ทั้งเด็กไทยพุทธและมุสลิมต่างสนิทสนมกัน และมิตรภาพของพวกเขาก็เคารพต่อความเชื่อของกันและกัน

ด้านทัศนคติต่อเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่า เด็กไม่ได้มีทัศนคคิเชิงลบต่อเจ้าหน้าที่ทิ่ติดอาวุธไม่ว่าทหารหรือตำรวจ แต่จะทำความรู้จักผู้ติดอาวุธนั้นๆ เป็นรายบุคคลโดยการเรียกชื่อและทำความรู้จักกับพวกเขาโดยไม่มองว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ แต่เด็กๆ จะกังวลว่าเมื่อทหารหรือตำรวจอยู่รวมกันมากๆ จะเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อความไม่สงบ ดังนั้น เด็กๆ จึงหลีกเลี่ยงที่จะไปอยู่กลางกลุ่มเจ้าหน้าที่ ซึ่งคำตอบข้อนี้ของเด็กๆ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มุมมองต่อทหาร ตำรวจ ผู้ติดอาวุธจะมีความสัมพันธ์เป็นรายบุคคลมากกว่า


เจ้าหน้าที่ยูนิเซฟรายนี้กล่าวต่อว่า ข้อสนใจอีกด้านต่อไปคือ 1 ใน 3 ของเด็กผู้ตอบคำถามระบุว่า ไม่มีความรู้สึกอยากแก้แค้นกลุ่มโจรใต้ที่มาฆ่าบุคคลในครอบครัว และก่อความไม่สงบในพื้นที่ ขณะที่ 1 ใน 3 ไม่ออกความคิดเห็น และอีก 1 ใน 3 แสดงความเห็นว่าโกรธและอยากแก้แค้น

ด้าน นายโทโมโอะ โฮซูมิ ผู้แทนองค์กรยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันจนเกิดเป็นงานวิจัยชิ้นนี้ และกล่าวต่อไปว่า ยูนิเซฟต้องการสร้างความตระหนักให้สังคมได้รับทราบสถานการณ์ของเด็กที่อยู่ภายใต้ความรุนแรงนี้ และต้องการให้เด็กๆ มีโอกาสในพื้นที่ที่จะบอกเล่าความเป็นจริง และเราต้องการให้ทุกฝ่ายรับฟังและเคารพในสิทธิของพวกเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น