สธ.เผยผลตรวจไข่ไก่ไม่พบเมลามีน เร่งรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่มีเมลามีนเกินมาตรฐานเพื่อทำลาย พร้อมเตรียมเรียกบริษัทที่ตรวจพบเมลามีนแต่ไม่เกินค่ามาตรฐานหารือ กระตุ้นสำนึกความรับผิดชอบต่อสินค้า ไม่ให้มีเมลามีนเลยดีกว่า
วันที่ 31 ตุลาคม นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผลการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเมลามีนในไข่ไก่ในประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์ไข่ที่ผลิตภายในประเทศจำนวน 7 รายการ จาก 3 บริษัท ไม่พบสารเมลามีนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า บริษัทไม่สามารถนำใบรับรองของ อย.ไปใช้ในการโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ว่าไข่ไก่ของบริษัทที่นำมาตรวจวิเคราะห์ปลอดภัยตลอดไป เพราะ อย.ตรวจไม่พบสารเมลามีนในรุ่นการผลิตหนึ่งเท่านั้น
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า สำหรับบริษัทที่ อย.ได้นำสุ่มตรวจจากบริษัท 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท ควอลิตี้ มีท จำกัด เลขที่ 18/65 หมู่ที่ 8 ถ.รามอินทรา แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กทม. ตัวอย่างอาหารที่เก็บตรวจ คือ ไข่ไก่ ตรา ดอกเตอร์เฮ็นน์ ชนิดสูตรดอกเตอร์เฮ็นน์, ไข่ไก่ บรรจุในกล่องพลาสติกใส ฉลากระบุ Organic Egg Safety Seal& Hy Safe, ไข่ไก่ ตราดอกเตอร์เฮ็นน์คิดส์ และไข่ไก่ธรรมชาติ ไข่ไก่ ตรา ดอกเตอร์เฮ็นน์
2.บริษัท รุ่งอรุณฟาร์ม เลขที่ 32 หมู่ที่ 4 ถ.มิตรภาพ ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เก็บตรวจ คือ ซีเฮิร์บไข่ไก่เบอร์ 2 และบริษัทที่ 3. คือบริษัท กรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร (ฟาร์มนครหลวง) เลขที่ 566/1 หมู่ที่ 7 ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เก็บตรวจ คือ ไข่ไก่สดคัดพิเศษซีพีขนาดจัมโบ้ ไข่ไก่เบอร์ 0 และ ไข่ไก่สด ตรา ซีพี (โอเมก้าพลัส)
“ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจต่อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทย ซึ่งผลการตรวจไข่ไก่ที่ผลิตในประเทศไทย ว่า ปลอดจากการปนเปื้อนสารเมลามีน เป็นผลดีต่อทั้งผู้บริโภคในประเทศ และเป็นผลดีต่อการส่งออก เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ”นายวิชาญ กล่าว
ด้านนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ อย.กำลังรวบรวมผลิตภัณฑ์นมหรืออาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบที่ตรวจพบสารเมลามีนเกินมาตรฐานจากภูมิภาคทุกจังหวัด โดย อย.เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่หนีภาษี หรือไม่มีเลขทะเบียนอาหาร ส่วนผลิตภัณฑ์ที่กระจายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งได้อายัดไม่ให้มีการจำหน่ายอยู่แล้ว เจ้าของผลิตภัณฑ์จะเป็นผู้รวบรวม เพื่อนำไปทำลาย ซึ่งในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ น่าจะได้ตัวเลขเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนเมลามีนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ รวมถึงการประมาณการมูลค่าความเสียหายด้วย
นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนผลิตภัณฑ์นม หรืออาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบที่ อย.ตรวจพบว่า มีสารเมลามีน แต่ไม่เกินตามที่มาตรฐานกำหนดนั้น กองควบคุมอาหารจะเรียกบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาหารืออีกครั้ง แม้ว่าตามกฎหมาย อย.จะไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ แต่บริษัทเหล่านี้ควรแก้ไขให้อาหารไม่มีเมลามีนเลย โดยที่ อย.จะเดินหน้าสุ่มตรวจต่อไป
“แม้ว่าพบค่าเมลามีน แต่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่เกินค่ามาตรฐานที่ อย.กำหนด หากเป็นนมสำหรับทารกห้ามมีสารเมลามีนเกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือ พีพีเอ็ม ส่วนอาหารอื่นที่มีนมเป็นส่วนประกอบห้ามเกิน 2.5 พีพีเอ็ม ซึ่งเท่ากับว่า อย.ไม่สามารถอายัดสินค้าเหล่านี้ได้ จึงขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของบริษัทที่มีต่อลูกค้าว่าจะดำเนินการกับสินค้าเหล่านี้อย่างไร แต่ก็จะต้องมาหารือกับบริษัทเหล่านั้นเพื่อให้สินค้าไม่มีสารเมลามีนเลยจะดีที่สุด” นพ.พิพัฒน์ กล่าว
นพ.พิพัฒน์ กล่าวยืนยันว่า ค่ามาตรฐานที่กำหนดนั้นเป็นค่าความปลอดภัยที่มาตรฐานสากลกำหนด และเป็นค่าที่เผื่อความปลอดภัยให้กับร่างกายไว้ 20-30 เท่าแล้ว หากไม่เกินก็ไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย ซึ่งการเติมสารเมลามีนลงไปในอาหารจนเกิดความไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพนั้น จะพบปริมาณการปนเปื้อนเมลามีนในปริมาณที่สูงมาก เช่น ในกรณีนมผงของจีนพบการปนเปื้อนเมลามีน 200-300 พีพีเอ็ม
นพ.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ อย.ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารตรวจวิเคราะห์หาสารเมลามีนแล้ว จำนวน 1,123 ตัวอย่าง ทราบผลแล้ว 962 ตัวอย่าง รอผลอีก 161 ตัวอย่าง ซึ่งมีเพียง 7 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น ที่พบการปนเปื้อนของสารเมลามีนเกินมาตรฐานที่กำหนด ทั้งนี้อย. จะเฝ้าระวัง/ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารอย่างใกล้ชิด และจะแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้บริโภคทราบเช่นนี้ต่อไป ขอผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานของ อย.กรณีไข่ไก่ในประเทศไทย ผู้บริโภคสามารถบริโภคได้ตามปกติ