xs
xsm
sm
md
lg

โลกใบเล็กของเด็กพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในปัจจุบันแรงงานต่างด้าวชาวพม่านั้น สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นที่ ตาก ระนอง สมุทรสาคร กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของกฎหมาย รวมทั้งการเป็นแรงงานด้อยฝีมือ ทำให้ชาวพม่าเหล่านี้ต้องทำงานหนักและมีรายได้ในการยังชีพไม่มากนัก
รอยยิ้มที่สดใสของเด็กๆ พม่าในห้องเรียน
ด้วยเหตุและปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตที่ไม่สู้จะดีนัก หลายครัวเรือนอยู่อย่างหาเช้ากินค่ำ หารายได้พอประทังชีวิตไปวันๆ ทำให้เงินที่ได้มาส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของคนครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ

เด็กๆ ชาวพม่าหลายคนขาดโอกาสทางการศึกษาและสังคมอย่างมากมาย แม้ว่าส่วนใหญ่แล้ว เด็กเหล่านี้จะเกิดในประเทศไทย แต่พวกเขาก็ไม่ได้สัญชาติไทยหรือสิทธิต่าง ๆ เฉกเช่นเด็กไทยแม้แต่น้อย เด็กๆ เหล่านี้จะได้เพียงสมุดบันทึกตั้งแต่เกิด (เหมือนสูติบัตร) เพื่อเป็นหลักฐานให้รู้ว่า เด็กเหล่านี้เกิดในเมืองไทยเท่านั้น
 
ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านมารีอา หรือ ศูนย์การเรียนรู้บ้านมารีอา หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกขานกันว่า “โรงเรียนพม่า” และศูนย์ต่าง ๆใน จ.ระนอง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา และโอกาสที่เด็กพึงได้รับ จึงก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้นี้ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษา และมีโอกาสได้อยู่ในฐานะ “นักเรียน” แม้ว่าเด็กๆ พวกนี้จะมีสถานภาพที่ผิดกฎหมายก็ตาม
ครูพม่ากับเด็กพม่า
“คุณพ่อศุภวุฒิ โสภาคะยัง” บาทหลวงใจดีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้บ้านมารีอาให้ข้อมูลว่า พ่อแม่และผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ทำให้เด็กๆ พม่าไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ไม่ได้รับการศึกษา และไม่มีการฝึกทักษะหรือพัฒนาการต่างๆ ตามวัยอันเหมาะสม จึงก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของศีลธรรม

“คุณพ่อมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือพวกเขา เพราะในอนาคตเด็กเหล่านี้จะต้องประกอบอาชีพเองได้ ไม่เป็นภาระกับสังคม”

ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อสหพันธ์นักบวชชาย-หญิง จากกรุงเทพฯ มูลนิธิคาทอลิก จ.สุราษฎร์ และ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน (National Catholic Commission on Migration: NCCM) ได้มอบทุนจำนวนหนึ่งให้เพื่อเปิดศูนย์การเรียนรู้พร้อมอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ทำให้เด็กๆ ได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ทั้งนี้ยังเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพ่อและแม่อีกด้วย

ภายในโรงเรียนแห่งนี้ ดูภายนอกแล้วก็เป็นเหมือนทาวน์เฮาส์ทั่วไป ไม่ได้แตกต่างจากที่อื่น แต่ทว่าสถานที่แห่งนี้เองได้เป็นที่บ่มเพาะเด็กๆ ให้ได้รับการศึกษา หยิบยื่นโอกาส เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ห้องเรียนของเด็กๆ ไม่ได้แบ่งออกเป็นห้องๆ เหมือนที่อื่นๆ มีเพียงโต๊ะและเก้าอี้วางไว้เป็นกลุ่มๆ เพื่อแบ่งเด็กๆ ตามช่วงชั้นเรียนเท่านั้น เพราะพื้นที่ค่อนข้างจำกัด
ศูนย์การเรียนรู้บ้านมารีอา
บาทหลวงศุภวุฒิ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ที่นี่เป็นเพียงแค่ศูนย์เรียนรู้ ไม่ใช่โรงเรียนเหมือนที่อื่น แต่เด็กทุกคนก็ได้รับความเท่าเทียมกัน ชีวิตประจำวันเริ่มต้นด้วยการเข้าแถวเคารพธงชาติ ร้องเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญพระบารมี หลังจากนั้น ก็แยกย้ายตามชั้นเรียน ซึ่งหลักสูตรต่าง ๆ ก็เหมือนกับเด็กไทยทุกอย่าง อาจจะต่างกันตรงที่ครูผู้สอนเป็นครูพม่าเท่านั้น

เมื่อถามถึงค่าใช้จ่าย ก็ได้คำตอบว่า “คุณพ่อไม่ได้บังคับว่า ผู้ปกครองต้องจ่ายเท่านั้นเท่านี้ ไม่ได้มีค่าอุปกรณ์อะไรมากนักเมื่อเทียบกับโรงเรียนไทยเพราะหนังสือและเอกสารการเรียน รวมไปถึงข้อสอบแต่ละวิชานั้น คุณพ่อได้แต่ถ่ายเอกสารแจกเด็กๆ ด้วยความที่เราไม่มีเงินพอที่จะซื้อหนังสือให้นักเรียน ดังนั้นผู้ปกครองส่วนใหญ่อาจจะช่วยเหลือเงินในจำนวนที่ไม่เท่ากัน” คุณพ่อ ศุภวุฒิอธิบาย

แม้ว่างบประมาณและสถานที่ที่ค่อนข้างจำกัดนี้ ทำให้สิ่งอำนวยความสะดวก หรือสิ่งที่ควรจะมีใน “โรงเรียน”ไม่สามารถตอบสนองเด็กๆ ได้ในทุกๆ เรื่อง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการศึกษาของพวกเขาแม้แต่น้อย
ชุดนักเรียนที่ไม่ซ้ำแบบใคร
“คุณพ่อจะเป็นผู้ประเมินเด็กนักเรียนทุกคนด้วยตัวเอง วิชาภาษาไทยคุณพ่อก็เป็นผู้สอนเอง เพราะฉะนั้นคุณพ่อจึงมีโอกาสได้ใกล้ชิดเด็กค่อนข้างมาก เด็กคนไหนที่มีแววในด้านเรื่องการเรียนก็จะส่งเสริมต่อไป หาโรงเรียนให้เรียนต่อ ซึ่งโรงเรียนไทยก็เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้าเรียนเช่นกัน แต่คุณพ่อต้องเป็นผู้รับรองเด็กคนนั้นด้วย ที่ผ่านมาเด็กพม่าหลายคน หลังจากเรียนจบจากที่นี่ คุณพ่อก็ส่งไปเรียนต่อโรงเรียนอื่นซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ เด็กบางคนได้มีโอกาสเรียนในวิทยาลัยเทคนิค จบออกมาเป็นช่างและประกอบอาชีพก็มีจำนวนไม่น้อย”บาทหลวงศุภวุฒิ แจกแจง
กำลังโหลดความคิดเห็น