“อภิรักษ์” ตั้ง “พลเดช ปิ่นประทีป” ประธานที่ปรึกษาตั้งทีวี กทม.พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ อีก 11 ราย เผย เห็นผังต้นปีหน้า แย้มช่วงแรกออกอากาศทางอินเทอร์เน็ต ก่อนขยายเต็ม 24 ชั่วโมงทางเคเบิลทีวี เล็งใช้ช่องทางทรูฯ เข้าถึงประชาชน
นางการดี เลียวไพโรจน์ โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งสื่อสาธารณะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนกรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok City Channel สถานีโทรทัศน์ กทม.24 ชั่วโมง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ทั้งสิ้น 12 คน โดยมี 1.นายพลเดช ปิ่นประทีป อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานที่ปรึกษา 2.นายชูชัย ศุภวงศ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษา 3.นายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ผู้ก่อตั้ง Bangkok Forum เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการ ประกอบด้วย 4.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม 5.รองศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย ผู้อำนวยการวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า 6.ศาสตราจารย์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 7.ผู้แทนองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 8.นายกสมาคมเคเบิลทีวีไทย 9.โฆษกกรุงเทพมหานคร 10.ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการ 11.นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองปลัด กทม.เป็นกรรมการและเลขานุการ และ12.ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ คือ นำเสนอแนวทางในการจัดตั้ง หรือจัดให้มีสื่อสาธารณะเพื่อการมีส่วนร่วมของชาว กทม.ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือแพร่ภาพรายการในระบบอื่น หรือเทคโนโลยีทันสมัยอื่นที่มีเครือข่ายให้บริการครอบคลุมพื้นที่ กทม., นำเสนอประมาณการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการส่งและกระจายสัญญาณในแต่ละทางเลือก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการก่อตั้งและดำเนินการต่างๆ รวมถึงนำเสนอแหล่งที่มาของรายได้ที่เป็นไปได้, นำเสนอโครงสร้างองค์กร โครงสร้างการกำกับดูแลองค์กรเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ, นำเสนอกฎระเบียบที่ตราขึ้นใหม่หรือต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อรองรับการจัดตั้ง การดำเนินงาน และการบริหารงานของสื่อสาธารณะเพื่อการมีส่วนร่วมของชาว กทม.และดำเนินการอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การจัดตั้งสื่อสาธารณะฯ สำเร็จตามวัตถุประสงค์
นางการดี กล่าวต่อว่า สำหรับคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการนัดประชุมครั้งแรกในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งกำหนดการเปิดดำเนินการน่าจะเป็นช่วงต้นปี เนื่องจากขณะนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก็ยังอยู่ในช่วงปรับปรุงข้อกำหนดและความชัดเจนเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่ง กทม.เองก็น่าจะต้องอิงตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่รออยู่ก็ต้องมีการเริ่มติดต่อกับสื่อธุรกิจ การวางผังรายการและการสำรวจความต้องการของประชาชน เพื่อกำหนดผังซึ่งคาดว่าต้นปีหน้าน่าจะได้เห็นผังรายการ แต่ในช่วงแรกที่สถานียังไม่พร้อมก็จะมีการนำเสนอรายการผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตก่อน และออกอากาศทางทีวีนั้นในช่วงแรกอาจจะออกอากาศในช่วงเวลาที่มีจำนวนผู้ชมมากที่สุดก่อน (Prime Time) หลังจากนั้น จะขยายเวลาเป็น 24 ชม.
“ในเฟสแรก ช่วงต้นปีอาจจะสามารถเห็นหลักเกณฑ์ทางอินเทอร์เน็ตก่อน เพราะต้องรอความชัดเจนเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่จากคณะอนุกรรมการ กทช.ซึ่งหากจะออกเป็นฟรีทีวีก็ต้องได้รับการจัดสรรคลื่น หากไม่รอก็สามารถออกทางเคเบิลทีวีได้เลย ซึ่งโดยส่วนตัวหากแพร่ภาพทางเคเบิลทีวีต้องดูช่องที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด โดยขณะนี้ก็คือ ทรู วิชั่นส์ ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 80% ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนชาว กทม.มากที่สุด และขอยืนยันว่า สิ่งที่นำเสนอไม่ใช่เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์องค์กรกรุงเทพฯอีกช่องทางหนึ่งอย่างแน่นอน โดยภาพที่จะไม่เห็นใน Bangkok City Channel คือ ภาพผู้ว่าฯ กทม.ตัดริบบิ้นงานต่างๆ หรือประชาสัมพันธ์งานของผู้ว่าฯ กทม.แน่นอน” โฆษก กทม.กล่าว
โฆษก กทม.กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ สำหรับผู้บริหารสถานีนั้นจะต้องมีการสรรหาบุคลากรควบคู่ไปด้วย โดยผู้อำนวยการสถานีนั้นจะต้องเป็นคนที่มีความเป็นกลางไม่อิงข่ายใด โดยจะมีคณะกรรมการฯเป็นผู้ร่วมคัดสรรด้วย ส่วนส่วนรูปแบบการผลิตสื่อจะมีการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กทม.ผลิตเอง และส่วนหนึ่งเป็นผู้ผลิตรายการผลิตรายการมาป้อนคล้ายกับทีวีไทย(Thai PBS) ออกอากาศ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน เพื่อเป็นการส่งเสริมข้อมูลข่าวสารทั้งชาวกรุงและกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งงบประมาณจะเป็นงบอุดหนุนจาก กทม.ซึ่งจะต้องพิจารณาจำนวนอีกครั้งหนึ่ง โดยตามหลักการแล้วไม่ได้มองแบบธุรกิจหรือให้มีการคุ้มทุน แต่จะเน้นเรื่องการให้ประโยชน์แก่ประชาชนเป็นหลัก จะเป็นการผสมผสานทั้งผลิตเองและการจ้างบริษัทภายนอกมาร่วมผลิตสื่อ รวมถึงมีสภาผู้ชมที่จะมีส่วนร่วมในการนำเสนอผังรายการ