xs
xsm
sm
md
lg

หมัดต่อหมัด ประชันนโยบายโค้งสุดท้าย 4 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.4 ผู้สมัครลงประชันนโยบาย “ดร.แดน” ชูบางกอกการ์ด “ลีนา” เอาใจพ่อค้าแม่ค้า “ชูวิทย์” ยันตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง ด้าน “ประภัสร์” ชู ระบบขนส่งมวลชนแก้ปัญหาจราจร

วันนี้ (3 ต.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ 4 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ บิสิเนสเรดิโอ เอฟเอ็ม 98 สถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น ทเว็นตี้โฟร์ ทรู วิชั่นส์ และสมาคมศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมจัดโต้วาทีประชันนโยบายโค้งสุดท้าย “เลือกตั้งผู้ว่าฯเลือกความหวัง กทม.” โดยมีผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และวิจารณ์นโยบาย เนื้อหาสำคัญ ดังนี้ นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เบอร์ 2, นางลีนา จังจรรจา เบอร์ 7, นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เบอร์ 8, นายประภัสร์ จงสงวน เบอร์ 10
ดร.แดน เบอร์ 2
** “ดร.แดน” ชู “บางกอกการ์ด” เพื่อปชช.
นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กล่าวว่า ตนเป็นนักบริหารสายเศรษฐศาสตร์จึงได้คิดเชิงแรงจูงใจและความเป็นเหตุเป็นผล ถ้าเราทำให้ทุกองค์กรที่เป็นเจ้าของรถไฟฟ้า รถใต้ดิน รถเมล์ เรือ ร่วมมือกัน และทำให้ได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า ทุกฝ่ายก็จะเป็นผู้ชนะ และอยากเข้ามาร่วมมือ คือการทำบางกอกการ์ด ดังนั้น ถ้าหากตนเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะเข้ามาประสานทุกหน่วยให้เข้ามาดูตัวเลขต้นทุนว่ามีราคาเท่าไหร จำนวนคนขึ้นเท่าไหร และถ้ามาร่วมมือกันเพื่อเฉลี่ยต้นทุนกันไป จะเกิดตัวเลขขึ้นเท่าไหรและต้องกำหนดราคาอย่างไรจึงจะเหมาะสม

“บัตรบางกอกการ์ด สามารถใช้ได้ทั้งในรูปแบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ถ้าทำแบบนี้ได้โดยที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ เชื่อว่าคงจะไม่มีหน่วยงานใดที่ไม่ให้ความร่วมมือ ถ้าผู้ว่าฯ กทม.ยิ่งมีอำนาจยิ่งทำงานได้น้อย แต่ถ้าผู้ว่าฯ กทม. ใช้อำนาจให้น้อยและวางตัวเป็นเจ้าภาพ ไม่ใช่เจ้าของ จะทำให้สามารถทำงานได้ราบรื่นขึ้น ผมไม่เชื่อว่า การทำอะไรโดยการมีอำนาจทางกฎหมายหรือเงินอย่างเดียวจะสำเร็จ เพราะการใช้เงินหรือใช้อำนาจเพียงอย่างเดียว ใครๆ ก็ทำได้ แต่ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา และจะเปิดการเจรจาทันที เพื่อให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกันสร้างประโยชน์แก่ประชาชน”
ชูวิทย์ เบอร์ 8
** “ชูวิทย์” ยัน ตรวจสอบเพื่อหาแก้ข้อผิดพลาด
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
กล่าวว่า คนเราฝันถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เราฝันถึงอนาคต เราฝันถึงสิ่งต่างๆ ที่ยังไม่มาถึง เราพยายามตั้งความฝันว่า กทม.ต้องเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ แต่เราไม่เคยอยู่กับปัจจุบัน เราไม่เคยมองไปในอดีตว่าข้อผิดพลาดต่างๆ เกิดขึ้นเพราะอะไร ดังนั้น ผมคิดว่าต้องมองปัญหาและวิธีแก้ก่อนที่จะมองไปถึงอนาคต

ปัญหาของ กทม.มีมากมายมหาศาล ถ้าไม่แก้ไขแบบล้มกระดานจะทำให้การแก้ไขยากลำบาก เพราะปัญหาต่างๆ ของ กทม.สั่งสมมาโดยตลอด ซึ่งการหาเสียงตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมา ผมไปพูกตามที่ต่างๆ ก็หาว่าผมโจมตี แต่ขอยืนยันว่า การโจมตี คือ การเอาเรื่องไม่จริงมาพูด แต่ผมเอาเรื่องจริงทั้งนั้น เช่น บีทีเอส บีอาร์ที รถดับเพลิง โรงฆ่าสัตว์ บ่อบำบัดน้ำเสีย สิ่งเหล่านี้สั่งสมมาทีละปัญหา จนกระทั่งมากองรวมกัน แต่เราก็มัวแต่มองไปที่อนาคต ไม่มองปัญหาที่อยู่ข้างหลัง

“สิ่งที่ผมเสนอต้องติดอยู่กับความจริง ส่วนที่กล่าวหาว่าผมจ้องตรวจสอบอย่างเดียว แต่ไม่มีนโยบายของตัวเอง ถือว่าเป็นการเข้าใจผิด และในทางกลับกันผมก็ไม่เห็นนโยบายของใครเลยว่าจะมีแนวทางหาเงินให้ กทม.ได้อย่างไร เพราะทุกคนพูดเหมือนกับว่า กทม.มีเงินลอยมาจากฟ้า ซึ่งผมจะหาเงินให้ กทม.ด้วยวิธีการขึ้นภาษี แต่จะใช้เงินให้คุ้มค่าที่สุด จะไม่มีการซื้อของ 6 พันล้านบาท มากองไว้ 2 ปี โดยที่ไม่ได้ใช้ ผมไม่ทำเด็ดขาด ใครจะขู่บังคับหรือชงเรื่องขึ้นมาอย่างไร ผมก็ไม่ทำ ดังนั้น ตัวตนของผม คุณปฎิเสธไม่ได้ ถ้าคุณชอบผมก็เลือกผม ถ้าคุณไม่ชอบก็ไม่ต้องเลือก”
ลีนา จัง เบอร์ 7
** “ลีนา” ชู หาบเร่ขายได้ทุกวัน-พัฒนาคู คลอง เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ลีนา จังจรรจา กล่าวว่า สิ่งที่จะทำ คือ การแก้ปัญหาหาบเร่ แผงลอย ก่อนอื่นจะออกใบอนุญาตให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยสามารถขายได้ทุกวัน โดยมีการจัดเก็บค่ารักษาความสะอาดเดือนละ 3 หมื่นบาท เช่น ตลาดโบ๊เบ๊ แต่หากเป็นพื้นที่รอบชานเมืองจะเก็บวันละ 10 บาท พร้อมจัดเป็นโซนตามประเภทสินค้า เช่น เสื้อผ้า อาหาร โดยผู้ค้าทุกรายจะต้องใส่ชุดฟอร์มตามที่กำหนด ซึ่ง กทม.จะตัดชุดให้ฟรี เพื่อความสะอาดและได้มาตรฐาน

ส่วนคูคลองที่เน่าเหม็นจะฟื้นฟูด้วยการเติมสารจุลินทรีย์ และทำเป็นตลาดน้ำในคูคลองทุกแห่ง เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับทุกชุมชน โดยพ่อค้าแม่ค้าจะต้องใส่ชุดไทยย้อนยุค 200 ปี เป็นการจูงใจผู้ซื้อและนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้อยากมาเที่ยว กทม.

นอกจากนี้ จะขึ้นเงินเดือนให้เทศกิจ 2 เท่า เพื่อไม่ให้ไปรีดไถแม่ค้า และต้องกำหนดให้ทางเท้ากว้าง 2 เมตร แบ่งให้ผู้ค้า 1 เมตร ถ้าใครทำผิดกติกาจะยึดใบอนุญาตทันที หลังค้าขายเสร็จจะต้องเก็บให้หมดและทำความสะอาด ไม่ใช่กองไว้ตรงนั้น และหากมีผู้ค้ามาประท้วงที่ศาลาว่าการ กทม.ก็จะเปิดรับความคิดเห็นของประชาชนที่มาร้องเรียน
ประภัสร์ เบอร์ 10
** “ประภัสร์” ชู ระบบขนส่งมวลชนลดปัญหาจราจร
ประภัสร์ จงสงวน
กล่าวว่า ตนยืนยันว่า รถไฟฟ้าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้จริง แต่รถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ต้องอาศัยระบบเชื่อมต่อที่ดี รวมถึงการใช้ระบบตั๋วร่วม ซึ่งผมพยายามผลักดันให้มีตั๋วร่วมตั้งแต่ปี 2540 แต่ผ่านไป 11 แล้วยังไม่เกิด ซึ่งวันนี้ผมจะทำให้เกิดขึ้นจริง เพียงแต่ต้องระวังเรื่องข้อสัญญาที่อาจกระทบกับภาคเอกชน

“ผมพูดมาตลอดว่า กทม.ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดหนัก ผมไม่เห็นด้วยกับการที่ กทม.เอาเงินของประชาชนไปทำส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า ตั้งแต่สมัย คุณพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม.ที่จะสร้างรถไฟฟ้าข้ามไปยังฝั่งธนบุรี รวมถึงสมัย คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่สร้างส่วนต่อขยายอ่อนนุช โดยไม่มีการเจรจากับเอกชนก่อนด้วยซ้ำ ฉะนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วย เพราะ กทม.มีงบประมาณจำกัด ควรจะเอาเงินไปพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยว่า กทม.ควรดึง ขสมก.เข้ามาบริหารจัดการเองโดยไม่มีหนี้ และนำมาจัดระบบรถเมล์ใหม่ให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า รวมทั้งจัดระบบขนส่งมวลชนขนาดเบาเพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนาดหนัก ซึ่งจะทำให้การเดินทางสะดวกและครบวงจร”

นอกจากนี้ จะต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ขับขี่รถส่วนตัวหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ของ กทม.โดยรัฐบาลจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจัดการค่าโดยสาร และหากภาคเอกชนขาดสภาพคล่อง ทาง กทม.ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

“ขอย้ำว่า ระบบตั๋วร่วมมีการพูดถึงตั้งแต่ปี 2540 และอยู่ในสัญญาเงินกู้ของเจบิก ที่ระบุว่า เมื่อ รฟม.ก่อสร้างระบรถไฟฟ้าแล้ว ตั๋วร่วมจะต้องเสร็จก่อนเปิดใช้รถไฟฟ้า แต่อาจจะด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้ปัญหายังไม่จบ”


กำลังโหลดความคิดเห็น