xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเริ่มทดลองวัคซีนไข้เลือดออกระยะ3แล้ว หวั่นรัฐไม่หนุนงบต่างชาติชิงตัดหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทยทดลองวัคซีนไข้เลือดออกระยะ 3 ใน จ.ราชบุรี คาดเริ่มดำเนินโครงการ ธ.ค.นี้ ฟุ้งอีก 4- 5 ปี มีวัคซีนใช้ แต่สิทธิประโยชน์ใช้วัคซีนยังต้องหารือกันหากทำสำเร็จ ขณะที่ทั่วโลกเสี่ยงโรคไข้เลือดออก 2,500 ล้านคน ป่วยปีละ 50 ล้านคน ไทยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 82 ราย ป่วยเกือบ 7 หมื่นราย ห่วงรัฐไม่หนุนงบวิจัย ถูกบ.ยาข้ามชาติชิงตัดหน้า หาประโยชน์เชิงพาณิชย์ส่งผลวัคซีนแพงลิ่ว

วันที่ (15 ตุลาคม) โรงแรมฮิลตัล อาคาเดีย รีสอร์ทแอนสปา จ.ภูเก็ต ในการประชุมไข้เลือดออกนานาชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2551 พญ.อรุณี ทรัพย์เจริญ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชากุมารเวชเขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้การวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยสามารถป้องกันคลอบคลุมเชื้อเดงกี่ ทั้ง 4 สายพันธุ์ ซึ่งผลิตโดยบริษัทซาโนฟี่ ปลาสเตอร์ ซึ่งในการทดลองระยะที่ 1-2 ในห้องปฏิบัติการได้ผลน่าพอใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการฯ จากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและคณะกรรมวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการทดลองในระยะที่ 3 ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นการทดลองวัคซีนไข้เลือดออกแห่งแรกที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการโครงการได้ในเดือนธันวาคมนี้

พญ.อรุณี กล่าวต่อว่า คณะผู้วิจัยได้เตรียมพื้นที่ จ.ราชบุรี โดยเก็บข้อมูลพื้นฐาน จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 4,000 คน อายุระหว่าง 7-11 ปี นานเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งการทดลองวัคซีนจะฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 6 เดือนต่อ1 ครั้ง รวม 18 เดือน จากนั้นจึงทำการติดตามผลอีก 4 ปี มีคณะกรรมการนานาชาติเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานโครงการเป็นระยะๆ ซึ่งคาดว่าประชาชนจะสามารถได้ใช้วัคซีนดังกล่าวในอีก 4-5 ปี

“โครงการนี้ใช้งบประมาณในการทดลองฉีดวัคซีน และติดตามผล 400 ล้านบาท ไม่รวมกับค่าใช้จ่ายในการเตรียมพื้นที่ ซึ่งใช้งบมากว่า 120 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งได้รับงบปะมาจากกระทรวงสาธารณสุขด้วย ซึ่งหากผลกาทดลองสำเร็จสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ จึงจะมีการหารือร่วมกันระหว่างสธ.และบริษัทผู้ผลิตในการตกลงผลประโยชน์จากการมีสิทธิพิเศษในการใช้วัคซีน เนื่องจากที่เป็นปะเทศที่ร่วมทดลองและค้นคว้าอย่างไร”พญ.อรุณี กล่าว

ด้าน นพ.ปราชญ์ บุยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกคาดประมาณว่า ทั่วโลกมีผู้เสี่ยงโรคไข้เลือดออกปีละ 2,500 ล้านคน หรือ 2 ใน 5 ของประชากรโลกทั้งหมด และจะมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกปีละ 50 ล้าน คน กระจายอยู่กว่า 100 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ อัฟริกา อเมริกา เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งนอกจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและการแพร่ระบาดในพื้นที่ใหม่ๆ แล้ว ยังมีรายงานการแพร่ระบาดรุนแรงในหลายพื้นที่ด้วย เช่น ในปี 2550 สหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 26,000 ราย เวเนซุเอลาพบผู้ป่วยไข้เลือดออก 6,000 ราย เป็นต้น

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551-4 ตุลาคม 2551 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั้งหมด 68,235 ราย ตาย 82 ราย ภาคกลางพบผู้ป่วยมากสุด 32,968 ราย ตาย 42 ราย รองลงมาเป็นภาคเหนือป่วย 16,809 ราย ตาย 23 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วย 9,784 ราย ตาย 6 ราย และภาคใต้ป่วย 8,674 ราย ตาย 11 ราย โดย 10 จังหวัดที่มีอัตราป่วยเพิ่มขึ้นในรอบ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุทรปราการ นครปฐม พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา แพร่ อุตรดิตถ์ จันทบุรี และลำพูน

ขณะที่ นพ.ชูศักดิ์ ประสิทธิสุข ผู้ประสานงานควบคุมโรคติดต่อองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์(WHO SEARO) กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก(WHO) กังวลเรื่องการแผ่ระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างมาก เนื่องจากในช่วง 3-4 ปีหลังนี้ พบพื้นที่การแพร่ระบาดใหม่ อาทิ ประเทศภูฎาน เนปาล ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้มีอากาศหนาว พื้นที่ไหล่เขาสูงเกิน 100 เมตรขึ้นไป ไม่ควรจะมียุงได้ ซึ่งประเทศเหล่านี้ขาดทักษะในการรักษาผู้ป่วยการป้องกันโรคเพราะไม่เคยเกิดโรคนี้มาก่อน การพบผู้ป่วยรายแรกๆ ต้องส่งตัวอย่างเลือดมาส่งตรวจที่ประเทศไทย ทำให้องค์การอนามัยโลกได้จัดบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาจากประเทศไทย ช่วยให้ความรู้

“องค์การอนามัยโลก มีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเขตระบาด ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งการพัฒนาวัคซีน การรักษา ป้องกัน โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก เพราะไทยเป็นประเทศเดียวที่คิดค้น วิจัย ศึกษา วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมากว่า 30 ปี แต่รัฐบาล ไม่ให้ความสนใจ ไม่มีการสนับสนุนงบประมาณ ทำให้บริษัทยาข้ามชาติเข้ามาสนับสนุนและนำงานวิจัยไปเป็นลิขสิทธิ์ของตัวเองไปทำเป็นเชิงพาณิชย์และเข้ามาขายคนในประเทศในราคาแพง”นพ.ชูศักดิ์ กล่าว

นพ.ชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงโรคติดต่อจากแมลง ชิคุนกุนยา ที่พบการระบาดใหม่ในที่ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นห่วงว่าอาจเกิดการระบาดที่รุนแรง โดยจะต้องมีการติดตามสายพันธ์ว่าเป็นชนิดดั้งเดิมในพื้นที่ หรือ เป็นสายพันธ์แอฟริกา ซึ่งจะมีรุนแรงกว่า แม้ไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่ผู้ป่วยจะมีความเจ็บปวดทรมาน และจากการตรวจเบื้องต้น เชื้อที่กำลังระบาดน่าจะเป็นเชื้อชนิดดั้งเดิมในพื้นที่ คงไม่เกิดการระบาดขนาดใหญ่เหมือนประเทศอินเดีย ที่มีจำนวนผู้ป่วยในปีที่ผ่านมาถึง 1.4 ล้านคน

กำลังโหลดความคิดเห็น