ฉีดวัคซีนวันแรกที่ รพ.พระนั่งเกล้าไม่พบผู้แพ้วัคซีน สธ.ติดตามผลใกล้ชิดประเมินกลุ่มเสี่ยงที่รับวัคซีนทุกสัปดาห์ “หมอศุภมิตร” เชื่อฉีดวัคซีนช่วยลดอัตราตายหวัดระบาดรอบสอง ถึง 70-80%
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นวันแรกที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าว่า การให้บริการเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากโรงพยาบาลมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ซึ่งผลการฉีดวัคซีนหลังจากเฝ้าสังเกตอาการติดตามผล 30 นาทีไม่พบผู้มีอาการแพ้วัคซีน โดยจะมีการติดตามอย่างต่อเนื่องโดยมีระบบโทรศัพท์ไปที่บ้านเพื่อสอบถามอาการ ซึ่งหากเกิดอาการแพ้ขึ้นให้รีบกลับมาพบแพทย์ รวมทั้ง สธ.จะมีการติดตามประเมินผลกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนทุกสัปดาห์
“การให้บริการวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงจะมีไปจนถึงเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งในส่วนของหญิงตั้งครรภ์จะให้บริการวัคซีนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 และยังสามรถขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการด้วย ส่วนกรณีมีการฝากครรภ์ จะเสียเฉพาะค่าบริการทั่วไปเท่านั้น” นพ.ไพจิตร์กล่าว
นพ.ศุภมิตร ชุนสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในกลุ่มเสี่ยงทั้ง 5 กลุ่มในครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในการระบาดระลอก 2 ได้ถึง 70-80% อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในแต่สัปดาห์ได้มากน้อยเท่าใด เนื่องจากต้องรอประเมินผลในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่การระบาดในระลอกสองยุติลง ประกอบกับมีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดรวมที่สามารถป้องกันได้ทั้งไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและไข้หวัดใหญ่ 2009
ด้าน นางบุญยา แคล้วอ้อม อายุ 25 ปี หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 8 เดือน กล่าวว่า หลังจากที่ได้ฝากครรภ์ไว้ที่โรงพยาบาลก็ได้เดินทางมาตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดโดยแพทย์ได้ให้คำแนะนำว่าควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ตนจึงตัดสินใจฉีด ซึ่งที่ผ่านมาก็ติดตามข่าวสารมาตลอด ทำให้ทราบว่าหญิงครรภ์ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ 2009 และมีโอกาสได้รับอันตรายมากที่สุด ซึ่งหลังได้รับวัคซีนแล้วก็ไม่มีอาการแพ้ และรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าตนและบุตรจะปลอดภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ใน 5 กลุ่มนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 1,969,750 คน แบ่งเป็น หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป 500,915 คน คนอ้วนน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม 187,384 คน ผู้ป่วยโรคเรื้องรัง ปอด หอบหืด หัวใจ ความดันโลหิต เบาหวาน ไตวาย มะเร็ง และทาลัสซีเมีย 842,895 คน ผู้พิการทางสมองไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ 72,132 คน และบุคลากรทางการแพทย์ 371,424