xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมในพัทลุงขยายวงกว้างหลังฝนตกหนักติดต่อหลายวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัทลุง - สถานการณ์น้ำท่วมในพัทลุงขยายวงกว้างขึ้นอีกครั้งหลังฝนตกหนักในพื้นที่ ด้านเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ป่าบอนเร่งฉีดวัคซีนโคพื้นเมืองไปแล้ว 2,000 ตัว ขณะยังคงเร่งฉีดอย่างต่อเนื่อง ส่วนสาเหตุการตายเกิดของโคในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกิดจากอาการปอดบวม

วันนี้ (6 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นพื้นที่ ต.พนางตุง ต.มะกอกหนือ และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน ที่ลดลงกลับเพิ่มสูงขึ้นอีก ครั้ง ระดับเฉลี่ย 1 เมตร 50 เซนติเมตร หลังฝนตกหนักในพื้นที่ตลอดทั้งเมื่อวานและเมื่อคืนที่ผ่านมา นอกจากนั้นน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดยังไหลหลากเข้าท่วมบานเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรในที่ลุ่ม บริเวณ ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน ต.ชะรัด อ.กงหรา และ ต.นาโหนด ต.โคกชะงาย อำเภอเมืองพัทลุง ล่าสุดราษฎรได้รับผลกระทบแล้วกว่า 3,000 ครอบครัว พื้นที่เกษตรนาข้าวสวนยางพารา ถูกน้ำท่วมประมาณ 15,000 ไร่

ในขณะที่สภาพโดยทั่วไปของจังหวัดพัทลุงยังมีฝนตกหนักบริเวณพื้นที่เทือกเขาบรรทัดของ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอกงหรา อำเภอป่าบอน อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอศรีบรรพต อำเภอป่าพะยอม และท้องฟ้ามืดครึ้ม

ด้านเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในอำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ยังคงเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคปาก เท้าเปื่อยให้กับโคของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลโคกทราย ตำบลวังใหม่ ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน อย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว หลังจาก 2 วันที่ผ่านมาได้ระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยในโคพื้นเมืองไปแล้ว 2,000 ตัว ในท้องที่ตำบลทุ่งนารี ตำบลป่าบอน อำเภอป่าบอน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคปากเท้าเปื่อยแพร่ระบาดไปยังพื้นที่รอยต่อของจังหวัดสงขลา ในอำเภอรัตภูมิ และอำเภอควนเนียง

นายไพโรจน์ อินทรศรี ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า โรคปากเท้าเปื่อยที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้เกิดในสัตว์กีบ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ และสุกร ซึ่งสาเหตุมาจากจังหวัดพัทลุงประสบเหตุการณ์น้ำท่วม สัตว์กินอาหารไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอและง่ายต่อการเกิดโรค สำหรับโรคปากเท้าเปื่อยเป็นแล้วไม่ทำให้สัตว์ตาย แต่ซูบผอม ซึ่งปกติแล้วทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะทำการฉีดวัคซีนทุกๆ 6 เดือน และตัวที่ป่วยเป็นตัวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน เนื่องจากเกษตรกรเลี้ยงแบบปล่อยทุ่งจึงยากต่อการฉีดวัคซีน

ล่าสุด สามารถควบคุมโรคได้แล้ว พร้อมทั้งฝากไปยังเกษตรกรโดยขอความร่วมมือห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ตัวที่ป่วยอย่างเด็ดขาด ส่วนสาเหตุการตายของโคในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกิดจากอาการปอดบวม เพราะตัวที่ตายนั้นจะเป็นในโคแรกเกิด 1-3 เดือนที่มีภูมิต้านทานน้อยเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น