xs
xsm
sm
md
lg

สบร.แง้มประกาศชื่อ ผอ.ทีเคพาร์ค ต.ค.นี้ TCDC ยังไร้ผู้บริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สบร.เปิดตัว “ปิติพงศ์” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่ พร้อมตั้งธง Creative Economy สร้างองค์ความรู้ด้วยศาสตร์-ศิลป์ เน้นการนำไปใช้ด้านเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพเป็นหลัก แง้มได้ ผอ.ใหม่ทีเคพาร์คแล้ว เดือนหน้าประกาศแต่งตั้งแน่ แต่ผอ. TCDC ยังหาผู้เหมาะสมไม่ได้ เผยเดินหน้าทำ Mini TCDC ส่งเสริมการออกแบบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

วันนี้ (30 กันยายน) ที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) อาคารเซ็นทรัล แอส ออฟฟิศ ได้มีการจัดแถลงข่าวการต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ กระตุ้นคนไทยใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อการสร้างรายได้ พร้อมแจกแจงกลยุทธ์ใหม่ในการขับเคลื่อนองค์กรความรู้ทั้ง 6 แท่ง และเปิดโอกาสให้ผู้บริหารชุดใหม่ที่รับตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่มา 7 เดือนได้พบปะพูดคุยกับสื่อมวลชน

โดยนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหาร สบร.กล่าวว่า สบร.เป็นองค์กรมหาชน ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 ภายใต้ความเชื่อในหลักการบริหารในรูปแบบองค์กมหาชนว่าจะสะดวกและรวดเร็วคล่องตัวกว่าระบบราชการ เพื่อเป็นองค์กรหลักในการบริหารองค์ความรู้ด้านต่างๆ ซึ่งหน่วยงานหลักของสบร.ประกอบด้วย 6 แท่ง ได้แก่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK PARK, ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (ศสบ.) หรือ TCDC , สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) NDMI ซึ่งได้สร้างแหล่งการเรียนรู้แรกอยู่ที่ Museum Siam ,สถาบันส่งเสริมอัจฉริยะและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) หรือ IGIL, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ศลชท.) หรือ TCELS และ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือที่รู้จักกันในนามของศูนย์คุณธรรมนั่นเอง

“ช่วงปี 2550 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีรัฐบาลใหม่เข้ามา ก็เห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุง แต่ระหว่างมีการปรับปรุงกฎกติกา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีก จนมาถึงยุคท่านนายกสมัคร ก็มีการตั้งบอร์ดสบร.ใหม่ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล บอร์ดเก่าก็จะลาออกเองโดยความสมัครใจ ผมก็ถูกเลือกมาในยุครัฐบาลสมัคร นี่คือเล่าว่ามายังไง ไปยังไง แต่ตอนนี้ยังไม่ไป แต่อธิบายไว้ว่าเมื่อมันจะไปมันจะต้องไปยังไง มันเป็น Logic”

ประธาน สบร.กล่าวต่อไปอีกว่า ทำงานมา 7 เดือนแล้ว ตอนที่เข้ามารับงานต่อก็อยากทำให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยงานแรกหลังรับตำแหน่งคือสืบเนื่องก่อนหน้านี้จะมีการย้าย TCDC จากเอ็มโพเรี่ยม และ TK PARK จากเซ็นทรัลเวิลด์ ไปอยู่ที่จามจุรีแสควร์ แต่เราเห็นว่าเพิ่งสร้างและยังใช้ไม่คุ้ม จึงให้ตั้งอยู่ที่เดิมก่อน

“นอกจากนี้ ระหว่างการทำงานก็ได้รับคำตัดสินจากกฤษฎีกาว่าการให้อำนาจอิสระเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ก็ไม่รู้เหมือนกันเพราะตอนแรกกฤษฎีกาตีความว่าให้อิสระได้ ก็ต้องดำเนินการปรับให้ถูกต้องตามที่กฤษฎีกากำหนด ทำให้จากเดิมที่ให้อำนาจการบริหารแต่ละแท่งเป็นอิสระ ก็ต้องรวบมาให้ขึ้นกับสคบ. โดยอำนาจจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ อำนาจคณะกรรมการที่มีผมเป็นประธานและอำนาจของอนุกรรมการที่มาจาก ผอ.ของแต่ละแท่ง คือทางอนุกรรมการก็จะคัดกรอง เสนอเรื่อง แต่อำนาจการตัดสินใจจะอยู่ที่คณะกรรมการ ซึ่งทำให้ ผอ.เหล่านี้บางส่วนที่เคยบริหารงานแบบอิสระ อาจจะรู้สึกไม่อิสระ จึงตัดสินใจไม่ต่อสัญญา”

นายณรงค์ชัย กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการคัดสรรผู้อำนวยการใหม่ทั้งของแท่ง TCDC และแท่ง TK PARK นั้น มีความคืบหน้าพอสมควร โดยเฉพาะส่วนของ TK PARK ที่ขณะนี้คัดเลือกได้แล้ว คาดว่าจะประกาศแต่งตั้งในเดือนหน้า (ตุลาคม) แต่ส่วนของ ผอ.TCDC มีผู้สมัครเข้ามาแต่คุณสมบัติยังไม่ตรงตามต้องการ คาดว่าจะน่าภายในสิ้นปีนี้จึงจะลงตัว

และในส่วนของตัวเลขเงินเดือนของผู้อำนวยการแต่ละแท่งนั้น นายณรงค์ชัย ระบุว่า ประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากองค์กรมหาชนมีความยืดหยุ่นกว่า ทำให้อัตราเงินเดือนสูงสุดเป็นเช่นนั้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็ถูกต้องตามกำหนดของสำนักงบประมาณทุกประการ และโดยส่วนตัวเห็นว่าการทำงานในองค์กรมหาชนที่ต้องการพัฒนาองค์ความรู้ให้ประเทศชาติจำเป็นต้องได้คนมีความสามารถ หากคนมีความสามารถเข้ามาทำงาน ก็ต้องมีผลตอบแทนที่สูงเป็นธรรมดา

“ถ้ามีคนโจมตีว่าเงินเดือนแพงก็ต้องปล่อยไป เป็นเรื่องปกติ เพราะสภาพสังคมของเราในขณะนี้เป็นสังคมจับผิด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีครับ อย่างทุกวันนี้ก็มีการฟ้องนายกฯ รายวัน สบร.เองก็อาจจะมีโอกาสโดนฟ้องอย่างนั้นบ้าง ที่จริงยังไม่อยากพูดเรื่องเงินครับ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงมุมมืดทางการเมือง ตัวเลขงบประมาณที่ สบร.จะได้ก็คือประมาณ 600 กว่าล้านบาท แต่ขณะนี้บังเอิญมีสว.กลุ่มหนึ่งไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการแปรญัตติไม่โปร่งใส ศาลรัฐธรรมนูญท่านก็ใจดีเหลือเกินครับ ใครฟ้องก็รับหมด ก็รับฟ้อง ตอนนี้เงินงบประมาณก็ยังสั่งจ่ายไม่ได้ครับ”

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายณรงค์ชัย ได้กล่าวถึงแนวทางการเดินหน้าก้าวต่อไปของ สบร.ว่า เมื่อสบร.รวบแต่ละแท่งให้มาอยู่ร่วมกันแล้ว ก็จำเป็นต้องมีแกนนโยบายหลักในการดำเนินการช่วงต่อไป โดยแกนดังกล่าวนี้ก็คือ “Creative Economy” ภายใต้แนว “สังคมเศรษฐกิจฐานความคิดสร้างสรรค์ โดยยึดหลัก 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ, วิจัยองค์ความรู้ใหม่ และบ่มเพาะคนไทยรุ่นใหมผ่านองค์กรหลักภายในทั้ง 6 แท่งเพื่อสร้างคนให้มีความรู้และสามารถคิดนอกกรอบได้อย่างสร้างสรรค์

“Creative Economy ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ศาสตร์ + ศิลป์ คือคิดงานด้วยหลักศาสตร์และทำให้งดงามด้วยศิลปะ เพื่อให้ขายได้ ทำมาหากินได้ ทุกวันนี้โลกมีการแข่งขันสูง ทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ของเราขายได้ ประกอบอาชีพได้ มันต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานสู่ระบบเศรษฐกิจ ตัวอย่างง่ายๆ เหมื่อนพิธีเปิดโอลิมปิกที่จางอี้โหมวใช้ภูมิปัญญาจีน เอากลอง เอาตัวอักษรมาเป็นการละเล่น แล้วก็ใส่ศาสตร์พวกเสียงหรือไฟเข้าไป อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดมากของ Creative Economy”
นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสบร.คนใหม่
นอกจากนี้นายณรงค์ชัยยังได้เปิดตัวกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจากมติคณะกรรมการบริหาร สบร.คนใหม่คือ นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้ามาบริหารจัดการองค์ความรู้ให้ตรงตามพันธกิจที่วางไว้ โดยเจ้าตัวได้เปิดเผยว่า

“ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เดือนที่ผ่านมาก็เพิ่งจะเปิดตัว “ศูนย์ความรู้กินได้ไป” ต่อไปเราจะเน้นด้านของ TCDC เป็นหลักก่อน เพราะเราคิดว่าศูนยบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านการออกแบบในบ้านเรายังมีไม่มากนัก ขณะนี้เราได้จัดทำศูนย์ TCDC ที่ต่างจังหวัดคือที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอุบลราชธานีขึ้น เพื่อกระจายการเข้าถึงองค์ความรู้ ประกอบกับที่มีมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดหลายแห่งจำนวนมาก แจ้งความประสงค์ว่าต้องการจะมีมุม TCDC ภายในมหาวิทยาลัยของตัวเองเพื่อส่งเสริมด้านการศึกษา ทำให้เราก็ได้เข้าไปช่วยตั้ง MINI TCDC ตามมหาวิทยาลัยที่ขอมาด้วย ตอนนี้ตั้งไปแล้ว 10 แห่งกระจายไปตามทุกภาค และกำลังจะตั้งอีก 5 แห่ง”

ต่อถึงข้อซักถามว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สบร.ประสบปัญหาด้านใดบ้าน ประธานสบร.ระบุว่า ที่มีปัญหาอยู่บ้างก็คือก่อนที่จะรวบทุกแท่งมาอยู่กับสบร. มีการตรวจพบว่ามีการบริหารบางอย่างที่ผิดระเบียบบ้าง แต่เมื่อทุกแท่งมาอยู่ด้วยกันแล้ว ก็จะพยายามทำให้ถูกต้องเหมาะสม ภายใต้แนวหลัก Creative Economy ที่จะใช้เป็นเป้าประสงค์ต่อไป

“ก็มีบางแท่งที่ต้องปรับเนื้องานหรือโปรเจกต์ให้เข้ากับความเป็น Creative Economy คือจากเดิมที่คิดจะทำโปรเจคอะไรก็ได้ ก็ต้องมาแกนยึดให้ตรงกับแนวที่เราวางไว้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่อนุมัติทำ อย่างงานของศูนย์คุณธรรม เราก็ได้คุยกันเหมือนกันว่า ควรจะปรับทิศทางการส่งเสริมคุณธรรมให้เน้นหนักไปในด้านสัมมาอาชีวะ จริยธรรมด้านการทำงาน อะไรแบบนี้”

ส่วนกรณีที่มีหลายกระแสมองว่าการจัดตั้ง TK PARK ไว้ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใจกลางเมือง จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่เด็กในเมืองที่มีโอกาสมากอยู่แล้ว โดยละเลยเด็กชานเมืองหรือต่างจังหวัดนั้น ประธานสบร.ก็รับว่าเห็นด้วยกับกระแสดังกล่าวที่ว่า ควรกระจายโอกาสทางการเรียนรู้ไปให้ได้เด็กที่ไม่ใช่เด็กกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่ง สบร.ก็ได้จัดทำ TK PARK ศูนย์ต่างจังหวัดไปบ้างแล้ว และขณะนี้ก็ได้เดินหน้าทำมุมห้องสมุดตามโรงเรียนที่ร้องขอมาบ้างแล้วเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น