xs
xsm
sm
md
lg

ชาวหนองผือ...สุขสันต์หลังเลิกเกษตรเคมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เกษตรกรไทยไม่เพียงหลับหูหลับตาปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียวเท่านั้น หากยังเปิดรับสารเคมีทุกชนิดที่จะทำให้ได้ผลผลิตมากๆ เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นตัวเงินเป็นสำคัญ แต่ด้วยความไม่แน่นอนของราคาผลผลิตที่ผันผวนปรวนแปร แทนที่จะร่ำรวยกลับยิ่งพอกพูนหนี้สินให้เพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้นทรัพยากรดินและน้ำก็ยังปนเปื้อนสารพิษตกค้างมากมาย สุขภาพกายและใจของเกษตรกรไทยนับวันจึงย่ำแย่จากการพัฒนาประเทศตามหลักการทุนนิยมแบบเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

แต่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะถูกจองจำโดยเกษตรเชิงเดี่ยว ดังบ้านหนองผือ ต.หนองบัว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ที่เดิมเกษตรกรเคยใช้ชีวิตแนบสนิทกับปุ๋ยเคมียาฆ่าแมลงมากมายก็กลับมามุ่งมั่นทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนแทน

“แต่ก่อนชาวบ้านจะใช้สารเคมีเกินกว่าปริมาณที่ฉลากกำหนดไว้ เพิ่มอีกนิดเพื่อความมั่นใจ และบางครั้งยังจับสารเคมีตัวนี้ผสมตัวนั้นให้ได้สารเคมีตัวใหม่ที่น่าจะออกฤทธิ์ดีขึ้น โดยไม่เคยรู้เลยว่าอันตรายมากมายเพียงใด ในต่างประเทศเขาทดลองเอาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิดผสมกันแล้วใส่เข้าไปในเซลล์มะเร็งเต้านม ก็พบว่าสารเคมีออกฤทธิ์ทำให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเร็วยิ่งขึ้น”ผู้ใหญ่ทรงพล สุวรรณสม ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันย้อนอดีตที่คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นสารเคมีว่าสามารถเพิ่มผลผลิตมากสุด

อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่ทรงพล เผยว่า โชคดีที่แกนนำบ้านหนองผือไหวตัวทัน มองเห็นความสุขในครอบครัวและชุมชนของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ค่อยๆ เลือนหายไปจากการหักโหมใส่สารเคมี กอปรกับในปี 2547 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้ามาสนับสนุนหมู่บ้านให้เรียนรู้กระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ จน แม่แพงศรี โตดีชัย ประธานกลุ่มแม่บ้านกลายเป็น “ผีบ้า” คนแรกของหมู่บ้านที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ และพ่อรังสรรค์ เดชพลมาตย์ ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นที่ทดลองทำเกษตรอินทรีย์ในแปลงส่วนตัวก่อนจะขยายผลกว้างขวางสู่ผู้อื่น

นอกจากนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังได้เข้ามาส่งเสริมการทำโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ และเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เข้ามาทำโครงการเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยประสานความร่วมมือกับสถานีอนามัยจัดตรวจหาสารพิษในเลือดของคนในหมู่บ้าน อีกทั้งยังพาชาวบ้านไปศึกษาดูงานวิถีเกษตรอินทรีย์ที่ตกตะกอนแล้วของศูนย์เกษตรธรรมชาติ กระทั่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้คนส่วนใหญ่ในชุมชนมองเห็นวิกฤตเรื่องสารเคมีของชุมชน ต่อมาจึงมีการลงมติด้วยเสียงท่วมท้นในเวทีประชาคมหมู่บ้านให้สร้างโรงปุ๋ยชีวภาพของหมู่บ้าน

“ก่อนหน้านั้น คิดแค่ว่าได้เยอะๆ ยิ่งเยอะยิ่งดี ร้ายกว่านั้นผักที่เรากินยังแยกปลูกต่างหาก เพราะรู้ว่าใช้สารเคมีเยอะ เราก็ไม่กิน ขายอย่างเดียว แต่เมื่อไปเห็นชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์สำเร็จ ก็เริ่มเห็นว่าการทำเกษตรเคมีบาปมาก ฆ่าทุกอย่างที่ขวางหน้า มด แมลง สุดท้ายก็คน ฆ่าเราฆ่าครอบครัวเราผ่อนส่ง เพราะบางครั้งตัวเราไปกินราดหน้าในโรงเรียนของลูกที่ใส่ผักคะน้า กินเข้าไปก็ได้กลิ่นเลยว่าเป็นสารเคมีตัวที่เราเคยใช้มาแล้ว คะน้าเรานี่นา ท้ายสุดก็ย้อนกลับมาหาเรา กลับมาหาลูกเราที่ต้องกินอาหารโรงเรียนทุกวัน”

ผู้ใหญ่ทรงพล โยงใยเส้นทางผักปนเปื้อนสารพิษ พลางเน้นว่าทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านต่างเทใจให้กับเกษตรอินทรีย์ ขณะที่คนส่วนน้อยที่ยังฝักใฝ่เกษตรเคมีจะโดนแซวว่า “เชย” และเพียง 2 ปีหลังเริ่มทำแปลงสาธิต ชาวบ้านหนองผือทุกคนก็ประจักษ์ผลดีของการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ ทำนองหากใจเย็นสักหน่อยก็ย่อมได้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ดีแน่นอน

“โรงปุ๋ยหมู่บ้านคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาช่วยกันหมักปุ๋ยโดยเราไม่ต้องจัดเวร เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของรายได้แล้ว ยังเป็นการทำเกษตรอินทรีย์แบบสนุกสนาน ได้คุย ได้หัวเราะ ได้เรียนรู้เรื่องปุ๋ยชีวภาพไปพร้อมๆ กับเพื่อนพี่น้องคนอื่นๆ ด้วย” ผู้ใหญ่ทรงพล เผย

ทั้งนี้ ใช่เพียงเกษตรอินทรีย์จะนำพาชุมชนประสบ “สุขภาวะ” อย่างปัจจุบันเท่านั้น หากลานซีเมนต์หน้าสถานีอนามัย ถนนคอนกรีตเข้าสู่โรงเรียน และศาลากลางวัดของหมู่บ้าน อันเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจอย่างแข็งขันของชุมชนแห่งนี้ยังเป็นการสร้างสรรค์จิตสาธารณะ “เป็นธุระ” กับปัญหาสาธารณะ กระทั่งเกิดการรวมตัวกันทำงานเพื่อสร้างเสริมรายได้ในขณะเดียวกันก็ขจัดพ่อค้าคนกลางได้มากกว่า 10 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงสี กลุ่มทอผ้า หรือกลุ่มธนาคารขยะ

จึงอาจกล่าวได้ว่า ชาวบ้านหนองผือสุขสันต์ เป็นชุมชนสุขภาวะตัวอย่างอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนในชุมชนทั้งกายและใจได้แล้ว ยังสร้างเสริมภูมิคุ้มกันบนสำนึกที่ต้องการพึ่งพาตนเองอีกด้วย จนกระทั่งเป็นแหล่งศึกษาดูงานทั้งสำหรับคนบ้านนอกและคนต่างประเทศได้อย่างภาคภูมิ

สำหรับใครที่สนใจเรื่องราวเช่นนี้ สามารถไปร่วมรับฟังได้ในการประชุม “สร้างสุขสบาย สบาย...กับเครือข่ายสุขภาพ” ระหว่างวันที่ 26-27 ก.ย. ณ รร.รอยัล ริเวอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น