xs
xsm
sm
md
lg

“เขาวง” สุดยอดป่าชุมชนแห่งประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในขณะที่กาลเวลาและสภาพสังคมได้เปลี่ยนลักษณะของคนไทยให้ต่างไปจากเดิม น้ำจิตน้ำใจก็ดูจะเหือดหายไปมากกว่าแต่ก่อน การจะหาสักคนที่คิดและทำเพื่อส่วนรวมก็ดูเหมือนจะเป็นของที่ไม่ง่ายนัก แต่คนใน “ชุมชนคนรักป่า” ที่ร่วมกันสร้างและดูแล “ป่าชุมชน” นี้ ยังคงอบอวลไปด้วยความฉ่ำชื่นแห่ง “ความเสียสละ” และ “จิตสำนึกสาธารณะ” ที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่าที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ มีชุมชนแบบนี้มากมายทั่วประเทศไทย และยังมี “ป่าชุมชนสมบูรณ์” อีกกว่า 700 แห่งที่ยังคงสมบูรณ์ด้วยน้ำมือคนไทยผู้เสียสละและมีความสุขกับการดูแลรักษาธรรมชาติเพื่อคนรุ่นลูกหลาน

ธรรมชาติงดงามที่ป่าชุมชนเขาวง จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศป่าชุมชนระดับประเทศ
เมื่อไม่นานมานี้ กรมป่าไม้ร่วมกับ บ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด มหาชน ได้ประกาศรางวัลชนะเลิศ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ขึ้น ซึ่งปรากฏว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิลงมติว่า รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ได้แก่ “ป่าชุมชนเขาวง” อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ

ในขณะที่รางวัลชนะเลิศระดับภาค ภาคเหนือ เป็นของ “ป่าชุมชนบ้านแม่หาร” อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน , ภาคใต้ เป็นของ “ป่าชุมชนบ้านถ้ำผึ้ง” จ.สุราษฎร์ธานี, ภาคกลาง-ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ได้แก่ “ป่าชุมชนบ้านพุยาง” อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ “ป่าชุมชนโนนใหญ่” อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ

สุนทร อำนาจ กำนัน ต.วังตะเฆ่ ประธานป่าชุมชนเขาวง เล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและมีความปลื้มปีติเกลื่อนอยู่เต็มใบหน้าอันกร้านเกรียมแดดถึงป่าชุมชนที่ดูแลพัฒนาจนได้รับรางวัลพระราชทานว่า “ป่าชุมชนเขาวงมีเนื้อที่ทั้งหมด 6,250 ไร่ มีประชากรในตำบล 38,000 คน แรกๆ ก็มีปัญหาเหมือนกันที่จะทำให้คนเกือบสี่หมื่นเชื่อและเห็นดีด้วยกันการดูแลรักษาป่า ไม่เข้าไปล่าสัตว์ หรือโค่นต้นไม้ แต่เราต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง พยายามให้เขาดู ให้เขาเห็นว่ามันดี ผมทำงานกับป่าชุมชนเขาวงมานานพอสมควร ผมเป็นประธานเยาวชนรักป่าชุมชนเขาวงตั้งแต่ผมอายุ31 ปี จากนั้นก็ผมก็ทำงานด้านการอนุรักษ์ป่าเรื่อยมา จุดประสงค์แรกที่ผมทำ ก็คือ สืบทอดเจตนาผู้นำชุมชนชุดแรกที่ปรับพื้นที่จากเดิมที่ป่าชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ให้กลายเป็นป่าอนุรักษ์”
ดินดำน้ำชุ่มในป่าชุมชนที่บ้านแม่หาร จ.แม่ฮ่องสอน
กำนันแห่งป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ บอกด้วยว่า ภายหลังที่เข้ามารับหน้าที่ประธานป่าชุมชนเต็มตัว ก็ได้ดำเนินการออกกฎระเบียบชุมชนว่าด้วยการรักษาป่า โดยไม่อนุญาตให้ล่าสัตว์ทุกชนิด เว้นแต่สัตว์อาหารขนาดเล็กจำพวกแมง แมลง หรือ กบ เขียด พร้อมทั้งอนุญาตให้เก็บอาหารป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ยอดไม้ หรือพืชสมุนไพร มากินได้ในครัวเรือน หากเหลือก็สามารถนำมาขายได้ แต่ต้องเก็บเชิงอนุรักษ์ ไม่ทำลายต้นไม้ที่ไปเก็บให้เสียหายหรือล้มตาย

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมกลุ่มคนรักป่าที่มีสมาชิก 116 ครัวเรือน ที่อาสามาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการช่วยดูแลรักษาและปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ป่าชุมชนเขาวง นอกเหนือจากที่ประชาชนทั้งหมดช่วยเหลือกันอย่างเข้มแข็งอยู่แล้ว โดยได้มอบหมายงานการพัฒนาต่างๆ ให้แต่ละครัวเรือนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าเพิ่มเติม การพัฒนาผลผลิตจากป่าให้เป็นสินค้าโอทอป การส่งเสริมการเกษตรในครัวเรือน ที่ทุกบ้านจะต้องมีที่นาเป็นของตัวเองอยู่แล้ว
เด็กๆ โรงเรียนในชุมชนเข้าศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชนโนนใหญ่
“การที่เราจะให้เขาไม่เข้าไปโค่นต้นไม้ออกมาขาย หรือไม่เขาไปหักร้างถางพงทำไร่ เราต้องหาพื้นที่ให้เขา ตอนแรกที่เราเอาคนที่บุกรุกเข้าไปทำกินในป่า เราก็หาจัดที่ทำกินพร้อมที่ปลูกที่พักอาศัย จากนั้นก็ให้ความรู้ด้านการเกษตร และคิดพัฒนาการปลูกพืชเกษตรขาย รวมไปถึงประยุกต์อุปกรณ์การเกษตร”

กำนันเล่าถึงอุปกรณ์เรียวยาวที่เรียกว่า “ซิ่ง” ที่แท้คือไถที่ประยุกต์ให้เด็กๆ สามารถลากได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยรถไถ ไม่ต้องอาศัยวัวควาย น้ำหนักเบาจนสามารถลากได้ด้วยแรงคน เด็กๆ ในชุมชนมักช่วยพ่อแม่ลาก “ซิ่ง” ก่อนไปโรงเรียนก็ทำได้ เพราะได้ออกกำลังกายพร้อมๆ กับการได้ทำประโยชน์คือปรับที่ดินให้ครอบครัวเตรียมปลูกพืชด้วย

“พอเราช่วยให้เขามีที่ทำกิน พัฒนาให้การทำการเกษตรของพวกเขาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว เขาก็จะไม่ไปเบียดเบียนป่า ทุกบ้านมีพื้นที่ทำนา เราทำนาทุกครัวเรือน ทำไว้กินเอง เหลือก็ขายบ้าง ผมจะบอกลูกบ้านเสมอ เราตามรอยพระเจ้าอยู่หัว เศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งประเสริฐ ทำทุกอย่างที่เรากิน และกินในสิ่งที่เราทำ เท่านี้เราก็อยู่ได้ อยู่เพื่อรักษาป่าให้ลูกให้หลาน” กำนันคนรักษ์ป่าเล่า

ด้านพี่น้อย มาลาคำดวง ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่หาร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ดูแลป่าชุมชนดีเด่นภาคเหนือที่มีเนื้อที่กว่า 4,000 ไร่ ระบุว่า เห็นตัวอย่างจากการตัดไม้ทำลายป่าของหมู่บ้านอื่นๆ แล้วภายหลังหมู่บ้านนั้นๆ ไม่มีน้ำใช้ ปลูกผักไม่ขึ้น ทำการเกษตรไม่ได้ จึงกลัวว่าหากปล่อยปละละเลยไม่ดูแลป่าชุมชนของตัวเอง สักวันหมู่บ้านแม่หารอาจจะต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน
อาหารป่าที่เก็บได้จากป่าชุมชนแม่หาร
“เริ่มงานอนุรักษ์ป่าชุมชนในหมู่บ้านมาตั้งแต่ 2530 ถึงตอนนี้บอกได้เลยว่าจากการที่เราอนุรักษ์ บำรุงรักษา พัฒนา และปลูกเพิ่ม ทำให้ระบบนิเวศบ้านแม่หารของเราดีขึ้นเป็นเท่าตัว ฝนตกต้องตามฤดูกาล กบเขียดภูเขาที่เหลือน้อย เดี๋ยวนี้ก็เยอะขึ้น สัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ มีทั้งหมูป่า เก้ง อีเห็น นกป่าต่างๆ เวลาหน้าแล้งเราก็พอเพาะปลูกได้บ้าง ไม่ใช่ไม่ได้เลยเหมือนเมื่อก่อน แรกๆ ตอนเราเริ่มทำคนก็สงสัยไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือ แต่พอเขาเห็นตัวอย่างแบบนี้ เขาก็ช่วยกันแข็งขัน เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์นี้ส่งต่อไปถึงลูกถึงหลาน” ผู้ใหญ่บ้านแห่งบ้านแม่หารให้ข้อมูล

เช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองโน ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ อย่าง “สมัย ราชเจริญ” ที่เผยแรงบันดาลใจในการรักษาป่าชุมชนโนนใหญ่ ว่า เป็นเพราะตระหนักถึงผลร้ายหากปล่อยให้ป่าถูกนายทุนบุกรุกเข้ามาตัดไม้ ในปี 2539 จึงได้ตั้งเครือข่ายชุมชน 12 หมู่บ้าน เพื่อผนึกกำลังในการดูแลรักษาป่า นอกจากจะร่วมกันไม่ตัดไม้ ทั้งยังปลูกป่าเพิ่มแล้ว ยังได้ใช้ความเชื่อและขนบของหมู่บ้านเรื่อง “ป่าดอนปู่ตา” ที่เชื่อว่าเป็นผู้รักษาหมู่บ้าน ในการอนุรักษ์ป่าของปู่ตาด้วย

“เราจะมีกฎอยู่ 3 ขั้น สำหรับคนที่ฝ่าฝืนเข้ามาล่าสัตว์ หรือตัดไม้ คือขั้นแรกก็จะตักเตือนพูดกัน ถ้าทำอีกครั้งที่สองก็จะปรับเงิน ถ้าขั้นที่สาม เราก็จะเชิญเจ้าหน้าที่ป่าไม้มารับเรื่องเลย ปกติก็มีบ้างที่ฝ่าฝืน ส่วนใหญ่เป็นคนจากที่อื่นมายิงนก แต่พอเตือนกันก็รู้เรื่อง”
ความเขียวชอุ่มที่ป่าชุมชนบ้านพุยาง จ.ราชบุรี
ปิดท้ายที่ป่าชุมชนชนะเลิศระดับภาค ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองกรุงเทพฯ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ทำให้พลาดการไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปอย่างน่าเสียดาย ผู้ใหญ่สนั่น ขุนเดช ผู้ใหญ่บ้านบ้านพุยาง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี กล่าวถึงป่าชุมชนในพื้นที่บ้านพุยางว่า ป่าชุมชนบ้านพุยางมีเนื้อที่ 2,000 ไร่ เป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ก่อนหน้านี้ถูกบุกรุกเข้าไปทำไร่เลื่อนลอยและหาของป่าทำให้ขาดการบำรุงรักษา จนป่าเสื่อมโทรมลง

“แรกๆ มาทำงานด้านอนุรักษ์ที่นี่ ป่าก็เละเหมือนกัน ก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูดูแลรักษา แล้วพอเราเริ่มทำ ชุมชนใกล้เคียงเขาก็ตื่นตัวด้านการอนุรักษ์ไปด้วย”

ถึงปีนี้หลังจากร่วมมือร่วมใจกันทำงานด้านการอนุรักษ์ป่าชุมชนแล้ว คนในชุมชนบ้านพุยาง ก็ได้รับสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งระบบนิเวศที่ดีขึ้น และความหลากหลายทางชีวภาพที่มากขึ้น

“ป่าอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สัตว์ป่าที่เหลือน้อยก็มีมากขึ้น อย่างนกเงือก เดี๋ยวนี้ก็เริ่มมีบ้างแล้ว อนาคตเราคาดว่าจะทำเป็นโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์ให้คนได้มาศึกษาธรรมชาติกันครับ” ผู้ใหญ่บ้านแห่งบ้านพุยางกล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น