xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมระวังปลิงไชก้น-อวัยวะเพศ สธ.แนะใส่กางเกงใน-ขายาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.แนะผู้ประสบภัยจุดที่มีน้ำท่วมสูงถึงระดับเอว ให้ ใส่กางเกงใน-กางเกงขายาว หากต้องลุยน้ำ เพื่อป้องกันปลิงเข้าทวารหนัก อวัยวะเพศ เผยผลการออกกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รอบ 7 วัน มีผู้ประสบภัยน้ำท่วมเจ็บป่วย 26,626 ราย วันนี้เพิ่มหน่วยแพทย์ฯ อีก 189 หน่วย ผลการเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ทุกพื้นที่ยังไม่มีโรคฉี่หนูระบาด

จากที่มีข่าวว่าประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ในย่านชุมชนตลาดเก่า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี หวาดกลัวปลิงควายดูดเลือดนั้น วันนี้ (18 ก.ย.) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาเรื่องปลิง มักจะพบในช่วงที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งโดยทั่วไปปลิงมักจะอาศัยอยู่ในน้ำนิ่ง ตามแหล่งหนองน้ำ ลำธารทั่วๆ ไปอยู่แล้ว แต่พอน้ำท่วมปลิงก็จะไหลไปตามน้ำท่วมได้ โดยปลิงเป็นสัตว์ดูดเลือด ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะเด็กๆ ไม่ควรลงเล่นน้ำท่วม เพราะอาจถูกปลิงไชเข้าตามอวัยวะต่างๆ ได้

ขณะที่ปลิงกัด หรือดูดเลือด จะปล่อยสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่าฮีรูดิน (Hirudin) ซึ่งเป็นสารป้องกันเลือดแข็งตัว ทำให้เลือดไม่แข็งตัวและเสียเลือดเรื่อยๆ มีการศึกษาทางห้องปฏิบัติการพบว่า พวกปลิงสามารถอดอาหารได้นานถึง 5 เดือน และหากปลิงไชเข้าไปในลำไส้ใหญ่ และทะลุลำไส้ จะทำให้ช่องท้องอักเสบ แต่พบได้น้อยมาก นอกจากนี้ มีรายงานว่าปลิงเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ และทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วขึ้นได้ภายหลังด้วย

นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันปลิงที่มากับน้ำท่วม หากเป็นไปได้ขอให้ประชาชนเดินทางโดยเรือ แต่หากไม่มีเรือและจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ โดยเฉพาะจุดที่มีน้ำท่วมสูงระดับเอวขึ้นไป ขอให้แต่งตัวให้มิดชิด ควรใส่กางเกงใน สวมกางเกงขายาว และสวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าและหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง แล้วรัดด้วยเชือกหรือยาง เพื่อป้องกันไม่ให้ปลิงเข้าไปในกางเกงได้

ทั้งนี้ ปลิงมี 2 ชนิด คือ ปลิงควาย และปลิงเข็ม โดยปลิงเข็มนั้น จะเข้าทางตา รูจมูก หรือปากได้ จากการดื่มน้ำหรือล้างหน้าในลำธารที่มีปลิงอยู่ ปลิงจะเข้าสู่หลอดคอ หลอดอาหารหรือที่หลอดลมได้อย่างรวดเร็ว อาการที่ปรากฏ คือ มีเลือดกำเดาออก ไอหรืออาเจียนเป็นเลือด ทำให้เสียเลือดมาก ถ้าหากปลิงอยู่ในโพรงจมูกอาจทำให้ปวดศีรษะเป็นเวลานาน ถ้าอยู่ในกล่องเสียงจะทำให้ไอเป็นเลือด หายใจไม่ออก นอกจากนี้ ปลิงยังอาจเข้าไปทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือท่อปัสสาวะของคนที่ลงอาบน้ำในลำธารได้ ในช่วงที่น้ำท่วมในปี 2549 มีรายงานพบผู้ชายที่ตำบลบางกะบือ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี 1 ราย ถูกปลิงไชเข้าทวารหนักขณะเดินลุยน้ำท่วม ที่มีน้ำสูงระดับอก แพทย์ได้ช่วยเหลือคีบปลิงออกได้ทัน

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจาก 148 หน่วยเป็น 189 หน่วย เพื่อให้ครอบคลุมทั่วถึงประชาชนทุกหมู่บ้าน ในรอบ 7 วันมานี้ ตั้งแต่วันที่ 11-17 กันยายน 2551 มีผู้เจ็บป่วยรวม 26,626 ราย เฉพาะวันที่ 17 กันยายนมีผู้ป่วยกว่า 4,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด รองลงมาคือ โรคน้ำกัดเท้า โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ในพื้นที่น้ำท่วม ช่วยกันสำรวจและดูแลการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านทั้งด้านการเจ็บป่วยและอื่นๆ เช่น น้ำดื่ม น้ำใช้สะอาด ว่าเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งความเดือดร้อนเรื่องส้วม ขยะ ซึ่งในระยะเร่งด่วนนี้ หากผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างดีและรวดเร็ว จะลดผลกระทบทางสุขภาพจิตได้

สำหรับผลการเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ยังไม่มีโรคระบาดในพื้นที่น้ำท่วมโดยรวม โดยเฉพาะโรคฉี่หนู แต่เพื่อความไม่ประมาท ขอแนะนำให้ประชาชนป้องกันโรค โดยหลีกเลี่ยงเดินย่ำน้ำเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นให้ใส่รองเท้าบูทป้องกันน้ำเข้าเท้า สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ต้องดูแลตนเองด้วย เนื่องจากพักผ่อนน้อย โอกาสเสี่ยงเจ็บป่วยก็มีสูง

ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้สั่งการให้หน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ 9 โรคสำคัญ ได้แก่ อหิวาตกโรค บิด ไทฟอยด์ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไวรัสตับอักเสบ ไข้เลือดออก ตาแดง โรคฉี่หนู และบาดทะยักที่เกิดจากบาดแผลติดเชื้อ สำหรับโรคฉี่หนูนั้น ในช่วงน้ำท่วมนี้ ยังไม่มีรายงานทุกพื้นที่ เนื่องจากโรคนี้ต้องใช้เวลาในการฟักตัวของเชื้อนานประมาณ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน อาจมีผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่ปรากฏอาการก็ได้ หากเกิดอาการไข้สูง และมีประวัติเดินย่ำน้ำมาก่อน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาได้ทันท่วงที โรคนี้มียารักษาหายขาด อย่างไรก็ดี โรคนี้เป็นโรคพบได้ทั่วไปตลอดทั้งปี และมักจะเกิดหลังน้ำท่วม โดยเฉพาะจุดที่มีน้ำขังเป็นเวลาหลายวัน ยิ่งน้ำงวดมากใกล้จะแห้ง ปริมาณเชื้อโรคยิ่งจะสูง ต้องระวังอย่าไปสัมผัสแหล่งนี้

สำหรับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่จะต้องออกไปให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และต้องย่ำน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ให้กินยาป้องกันการติดเชื้อโรคฉี่หนู ได้แก่ ยาด็อกซี่ไซคลิน (Doxycycline) ขนาด 200 มิลลิกรัม กินพร้อมอาหาร ก่อนลงพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ จะป้องกันการติดเชื้อได้

นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า ประชาชนควรกำจัดขยะและอุจจาระให้ถูกวิธี โดยใส่ในถุงพลาสติกหรือถุงดำ ผูกมัดปากให้มิดชิด และรวบรวมไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะรวบรวมไปกำจัดในแหล่งที่จัดไว้ อย่าทิ้งขยะ หรือถ่ายอุจจาระลงน้ำอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปตามน้ำ ยากต่อการควบคุม หากเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะโรคที่ติดต่อทางน้ำและอาหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น