xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง!! โรคร้ายที่มากับหน้าฝน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดือนกรกฏาคมนี้ย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้วค่ะ และฤดูนี้ก็นำพาโรคหลายชนิดมาด้วย โดยเฉพาะโรคที่แพร่ระบาดได้ง่าย และเป็นอันตรายถึงชีวิต ด้วยเหตุนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกประกาศเตือนให้รู้ถึงโรคที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งวิธีการป้องกัน ไว้ดังนี้ค่ะ

1. โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคท้องเดินหรือโรคอุจจาระร่วง โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ เป็นต้น สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค รวมทั้งเกิดจากการรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ การประกอบอาหารควรใช้น้ำสะอาด ไม่ใช้น้ำคลองที่ไม่สะอาดหรือน้ำไม่ผ่านการบำบัด ซึ่งอาจมี เชื้อโรคปะปนมากับสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ ไม่ควรรับประทานอาหารที่ปรุงไว้นานข้ามมื้อหรือเกิน 6 ชั่วโมง (เช่น อาหารกล่องที่ทำไว้สำหรับคนจำนวนมาก) เนื่องจากอากาศของโลก ที่ร้อนขึ้น ทำให้เหมาะแก่การเจริญเติบโต ของเชื้อโรค หรือการสร้างสารพิษของเชื้อโรค ทำให้อาหารบูดได้ง่ายขึ้น โรคติดต่อประเภทนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำ แม้ไม่อยู่ในภาวะน้ำท่วม

2. โรคติดเชื้อทางระบบผิวหนัง เช่นโรคเลปโตสไปโรซิส ซึ่งเกิดจากเชื้อบัคเตรีที่อยู่ในเยี่ยวหนูหรือสัตว์เลี้ยงทุกชนิด รวมทั้งสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์รังโรค โดยเชื้อจะปะปนอยู่ในน้ำและสิ่งแวดล้อม ที่มีน้ำปนอยู่ เช่น ดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก ที่ชื้นแฉะมีน้ำท่วมขังได้นานเป็นเดือน อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ เป็นไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง (มักปวดที่น่องและโคนขา กล้ามเนื้อหลังและท้อง) ตาแดง คอแข็ง มักมีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด อาจมีผื่นที่เพดานปาก หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ ระยะท้ายอาจมีตับและไตวาย กล้ามเนื้อ หัวใจอักเสบ เป็นต้น คนที่ขาดความเข้าใจในอาการเหล่านี้จะคิดว่าเป็นโรคอื่น หากไม่รีบไปรับการตรวจรักษา อาจทำให้ บางรายเสียชีวิตได้

3. โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือ ปอดบวม เกิดจากการหายใจเอาเชื้อโรค ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เชื้อเหล่านี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ที่ไอ จามออกมา นอกจากนี้เชื้อยังอาจ ติดอยู่กับภาชนะหรือของใช้ที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย กลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากหากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคปอด บวมจะเป็นอันตรายมากถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็ก ต้องสังเกตอาการ หากเด็กมีไข้ ไอ หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

4. โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคนี้เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในเด็ก หลังจากได้รับเชื้อจากยุงลายกัดประมาณ 5-8 วัน อาการจะเริ่มด้วยการมีไข้สูงลอย (38.5-40 องศาเซลเซียส) ติดต่อกันประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะมาก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดข้อ ปวดในเบ้าตา ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร และบางรายอาจมีเลือดกำเดาออก หรือจุดแดงเล็กๆ ตามตัว แขน ขา ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ในรายที่มีอาการรุนแรง ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะช็อกในขณะที่ไข้ลดอย่างรวดเร็ว จะมีอาการซึมลง อ่อนเพลียมาก กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ปากเขียว ความดันโลหิตเปลี่ยน บางรายมีอาการปวดท้องอย่างกระทันหัน และอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย ปัสสาวะน้อยลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในช่วงนี้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 12-24 ชม. ส่วนในราย ที่มีอาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลด อาการต่างๆ จะดีขึ้น

5. โรคไข้สมองอักเสบ เจอี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำในทุ่งนา ยุงชนิดนี้ได้รับเชื้อไข้สมองอักเสบเจอี ขณะกินเลือดสัตว์ โดยเฉพาะหมูเป็นแหล่งโรคที่สำคัญ จากนั้นเมื่อยุงมากัดคน ก็จะปล่อยเชื้อเข้าสู่ร่างกายทำให้คนติดโรคได้ ส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการ ในรายที่มีอาการ จะมีอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย อาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกตัวและเสียชีวิต บางรายเมื่อหายป่วย อาจมีความพิการทางสมอง สติปัญญาเสื่อม หรือเป็นอัมพาตได้

6. โรคเยื่อตาอักเสบ หรือตาแดง เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้ออยู่ในน้ำตาและขี้ตา ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้ของ ใช้ส่วนตัวร่วมกัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดตาอักเสบ เนื่องจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาดล้างหน้า อาบน้ำ หรือถูกน้ำสกปรกที่มีเชื้อโรคกระเด็นเข้าตา หรือเกิดจาการใช้มือ แขน และเสื้อผ้าที่สกปรก ขยี้ตา หรือเช็ดตา

7. โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากเชื้อรา หรือสาเหตุจากการแช่เท้าในน้ำสกปรกนานๆ ทำให้ผิวหนังแดงรอบๆ เป็นขอบนูนวง กลมคัน ถ้าเกาจะเป็นผลมีน้ำเหลืองเยิ้ม

8. อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้าน

ส่วนคำแนะนำในการระวังป้องกันโรคดังกล่าว มีดังนี้
1. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายมีความต้านทานโรค
2. รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุก ใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำที่สะอาดทุกครั้ง เช่น น้ำที่ต้มแล้ว หรือน้ำที่บรรจุขวดที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ (เครื่องหมาย อย.) รวมทั้งเลือก ซื้อน้ำแข็งที่สะอาดไม่มีตะกอน ไม่ควรรับประทานน้ำแข็งที่ใช้แช่อาหารอื่น
3. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
4. ถ่ายอุจจาระลงในส้วม และล้างมือ ให้สะอาดหลังถ่ายอุจจาระในช่วงที่น้ำ ท่วมทุกครั้ง หากไม่สามารถถ่ายอุจจาระลงในส้วม ห้ามถ่ายอุจจาระลงในน้ำโดย ตรง แต่ให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติก แล้วใส่ปูนขาวจำนวนพอสมควร ปิดปากถุงให้แน่น นำใส่ถุงดำ (ถุงขยะ) อีกครั้งหนึ่งก่อนนำไปทิ้ง
5. ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเดินย่ำน้ำหรือถูกน้ำสกปรก แล้ว ใช้ผ้าที่สะอาดเช็ดให้แห้ง อย่าปล่อยให้อับชื้นเป็นเวลานาน ควรใช้เครื่องป้องกัน
ให้เป็นนิสัย เช่น การใช้รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะที่มีการเลี้ยงสัตว์ และสัมผัสเยี่ยวสัตว์ การควบคุมหนูโดยการทำลายและการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
6. อย่าใช้มือ แขน หรือผ้าที่สกปรก ขยี้ตา หรือเช็ดตา และระวังมิให้น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งที่ถูกน้ำสกปรก
7. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ
8. หากมีอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน น้ำกัดเท้าหรือมีบาดแผล ให้รีบพาไปพบแพทย์ ตั้งแต่เริ่มเป็น ก่อนที่อาการเหล่านั้นจะลุกลามและเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น
9. ตรวจดูโอ่งน้ำ หรือภาชนะเก็บน้ำอื่นๆ ให้มีฝาปิดมิดชิด หรือทำลายแหล่ง ที่มีน้ำขัง เช่น ในกะลา กระป๋อง ฯลฯ เพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงแพร่โรคได้ เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้หรือพลูด่างอย่างน้อยทุกๆ 7 วัน หรือใส่เกลือ / ผงซักฟอกลงในขาจานรองตู้กับข้าว หรือปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูงลงในภาชนะเก็บน้ำหรืออ่างบัว เป็นต้น
10. ระมัดระวังมิให้เกิดอุบัติเหตุจาก การถูกของมีคมและสัตว์มีพิษกัดต่อย โดยการจัดและดูแลบ้านเรือนให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ปล่อยให้สกปรกรกรุงรัง อันจะเป็นที่อยู่อาศัย ของสัตว์มีพิษหรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันได้
11. ควรรับการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือตามประกาศของทางราชการ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดย ปุญญวีร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น