xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกายังไม่ชี้ สธ.ทำซีแอลผิดหรือไม่ ขณะที่ “หมอวิชัย” ยันทำถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กฤษฎีกา ยังไม่สรุป สธ.มีอำนาจทำซีแอลหรือไม่ “นพ.วิชัย” หอบหลักฐานหนาเป็นปึก ยัน สธ.ทำถูกต้อง ฮู คองเกรส สหภาพยุโรป ร่วมหนุนทำซีแอล พร้อมแจงไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่ใช้หลักการเหมือนกันกับทุกบริษัทยาที่ถูกประกาศซีแอลทั้ง 7 รายการ

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (10 ก.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 6 ได้เชิญให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) พร้อมด้วยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมควบคุมโรค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่ พณ.ได้ยื่นเรื่องสอบถามเกี่ยวกับอำนาจและกระบวนการในการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ของ สธ.โดยคณะกรมการกฤษฎีกา ได้ให้รองอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ และคณะเข้าชี้แจงก่อน จากนั้นจึงเป็นการชี้แจงของ สธ.และ สปสช.โดยได้ใช้เวลาชี้แจงฝ่ายละ 30 นาที

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะคณะกรรมการบริหาก สปสช.และประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ กล่าวว่า สธ.ได้มีการชี้แจงรายละเอียดตามที่ พณ.ได้ยื่นสอบถาม 3 ประเด็น คือ 1.อำนาจในการประกาศซีแอล เป็นของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ 2.สธ.ใช้อำนาจประกาศซีแอลตามมาตรา 51 ซึ่งอาจขัดกับมาตรา 50 ที่กำหนดให้อธิบดีกรมทรัพย์สินฯ เป็นผู้กำหนดค่าชดเชยสิทธิบัตรกับบริษัทยาต้นตำรับ และ 3.การใช้สิทธิประกาศซีแอลตามมาตรา 51 มีขั้นตอนอย่างไร

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สปสช.และ สธ.ได้ชี้แจงร่วมกัน โดยได้ยืนยันว่า สธ.ใช้อำนาจประกาศซีแอลตามมาตรา 51 ที่ระบุให้อำนาจประกาศซีแอลเป็นของทุกกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นการขัดกับมาตรา 50 เพราะเป็นเรื่องการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับอำนาจการประกาศซีแอล และแม้จะกำหนดให้อธิบดีกรมทรัพย์สินฯ เป็นผู้กำหนดค่าชดเชย แต่ก็ไม่ได้เป็นช่องทางสุดท้าย เพราะกฎหมาย กำหนดให้หน่วยงานอื่นอีก 2 แห่ง เป็นผู้พิจารณาตัดสิน คือ คณะกรรมการทรัพย์สินทางปัญหา และศาลทรัพย์สินทางปัญญา

“สธ.มีความมั่นใจในเรื่องนี้มาก ว่า ได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้มอบเอกสารประกอบการชี้แจงด้วยวาจาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาทั้งหมด 9 ชุด ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้สอบถามกลับมาเพียง 1 ข้อ คือ สธ. ประกาศซีแอลโดยเลือกปฏิบัติเฉพาะบริษัทยาใดบริษัทหนึ่งหรือไม่ ซึ่งก็ได้ชี้แจงไปว่า การประกาศซีแอลยาทั้ง 7 รายการของ สธ.มีหลักการ และแนวทางในการดำเนินการเหมือนกันทุกประการ ไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และที่สำคัญ ยังเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้มีหลักฐานและเอกสารรับรองทุกขั้นตอน” นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกา ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา และยังไม่มีการกำหนดวันรับฟังคำวินิจฉัย หรือนัดชี้แจงเพิ่มเติมแต่อย่างใด โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาสักระยะ เนื่องจากเอกสารประกอบการชี้แจงของ สธ.แต่ละชุดมีความหนาและมีปริมาณมาก

สำหรับเอกสารที่ สธ.มอบให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณา มีทั้งสิ้น 9 รายการ เช่น สมุดปกขาว 2 ชุดงานวิจัยของนักกฎหมายจากออสเตรเลีย สหรัฐอมริกา และของไทย เอง ที่ยืนยันว่า ไทยทำซีแอถูกต้อง 4 ชุด รายงานประเมินผลการทำซีแอลของไทยขององค์การอนามัยโลก 1 ชุด ความเห็นของสภาคองเกรส สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่สนับสนุนให้ทุกประเทศทำซีแอลเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงยาของประชาชน 2 ชุด
กำลังโหลดความคิดเห็น