อธิการ มธ.-พ่อขุน ไม่ห้ามนักศึกษาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น และห้ามใช้ความรุนแรง การแสดงความเห็นถือเป็นปัจเจกไม่เกี่ยวกับสถาบัน “คิม” เตรียมเยี่ยมนักศึกษารามฯ ที่ได้รับบาดเจ็บด้วยตนเอง
นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษาที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันว่า เป็นสิทธิของนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ใหญ่ และมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสนับสนุนหรือเห็นพ้องกับกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรให้การสนับสนุนความคิด การแสดงออก รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของนิสิตนักศึกษา แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย โดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ส่วนกรอบนั้นจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวิจารญาณของนักศึกษาแต่ละคน และการแสดงความเห็นของนักศึกษาถือเป็นปัจเจก เหมือนการแสดงความเห็นของอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่ความเห็นของสถาบันการศึกษา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นที่แตกต่างกันของนิสิตนักศึกษาแต่ละกลุ่ม จะนำไปสู่ความรุนแรงหรือขัดแย้งกันในสถาบันการศึกษาหรือไม่ นายสุรพล กล่าวว่า เรื่องนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยทุกแห่งดูแลอยู่ และเท่าที่เห็นก็ไม่มีปัญหาอะไร สำหรับ มธ.เปิดพื้นที่ให้ทุกขั้วการเมืองมาแสดงความเห็น และก็มีนักศึกษาที่เห็นด้วยไปร่วมกิจกรรม ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ส่วนภายนอกมหาวิทยาลัยไม่สามารถตอบได้
นายสุรพล กล่าวถึงกรณีที่เกิดความรุนแรงขึ้นกับนักศึกษา ม.รามฯ ว่า เมื่อนักศึกษาออกนอกสถาบันการศึกษา ก็ถือเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม เมื่อเกิดเรื่องขึ้นก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องดูแล
ส่วน นายคิม ไชยแสนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเข้าไปดูแลแล้ว และในวันนี้ (5 ก.ย.) หากมีเวลาจะเข้าไปเยี่ยมนักศึกษาด้วยตนเอง ตนเห็นว่าการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาราม เป็นสิทธิส่วนบุคคล ทางมหาวิทยาลัยไม่ห้ามปราม แต่การเคลื่อนไหวต่างๆ นั้น ได้เตือนนักศึกษาตลอดเวลาว่าสามารถเคลื่อนไหวได้ แต่ห้ามใช้ความรุนแรงเด็ดขาด ขอให้รักษาภาพลักษณ์ของปัญญาชนไว้ ไม่ควรทำอะไรเลยเถิด
ทั้งนี้ ไม่ว่านักศึกษารามจะขึ้นเวทีพันธมิตรฯ หรือเวที นปช.ก็ได้ทั้งนั้น เพราะนักศึกษาจะต้องฝึกฝนให้มีความคิดทางการเมือง ไม่เช่นนั้น ความคิดและสมองจะทื่อไปหมด ส่วนกรณีการเดินทางไปบ้านนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ลาออกนั้น เป็นการกระทำของนักศึกษาเอง ซึ่งก็ไม่ได้มาขออนุญาตมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิทธิ แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง