xs
xsm
sm
md
lg

ดร.สุรพล เสียดายรัฐบิดเบือนข้อเสนอ 24 อธิการฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุม 24 อธิการบดีเมื่อวันที่ 26 ก.ย.
ผู้จัดการออนไลน์ – ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มธ.ชี้ รัฐบาลเปิดทางแก้ รธน. มาตรา 291-ตั้ง ส.ส.ร.เป็นเพียงการยื้อเวลา ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แถมยังเป็นการบิดเบือนข้อเสนอของ 24 อธิการบดี ชี้ถ้ามีเหตุยุบพรรค-ยุบสภาไปก่อน การเมืองและบ้านเมืองก็จะเข้าสู่วงจรปัญหาเดิมๆ

จากกรณีที่อธิการบดี 24 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ยื่น 4 ข้อเรียกร้องต่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงของชาติอย่างเร่งด่วน โดยขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงในทางการเมืองโดยดำเนินการโดยเร่งด่วนที่สุดให้จัดตั้ง “คณะกรรมการอิสระ เพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง” และเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้จัดทำนโยบายที่จะแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีความเห็นให้มีการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

ล่าสุด วันนี้ (2 ต.ค.) นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ 1 ใน 24 คณะอธิการบดีที่ยื่นข้อเรียกร้องแก่นายสมชาย ได้กล่าวถึงแนวคิดของรัฐบาลที่จะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่ทราบว่ารัฐบาลเข้าใจอะไรผิดหรือไม่ เพราะปัญหาที่อยู่ตรงหน้าขณะนี้ที่ต้องพูดกันคือจะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งทั้งหลายหาจุดลงตัวให้ได้ ไม่ใช่ว่าต่างฝ่ายต่างทำแบบนี้

อธิการ มธ.กล่าวอีกว่า สิ่งที่ 24 อธิการบดีเสนอนั้น คือ การให้มีคนกลางมาเป็นตัวแทนในการให้แต่ละฝ่ายมาเจอกันก่อนแล้วเดินหน้าไปด้วยกัน แต่รัฐบาลกลับไม่เห็นด้วย ซึ่งตนไม่เข้าใจว่ารัฐบาลไม่เห็นด้วยในประเด็นอะไร นอกจากนี้การที่รัฐบาลเสนอให้แก้ มาตรา 291 ก็คนละเรื่องกันกับปัญหาที่เกิดขึ้น

“มันไม่มีประโยชน์ เพราะลำพังแค่ขั้นตอนในการแก้มาตรานี้ก็ยังไม่รู้ว่าใครจะเริ่ม จะเริ่มได้หรือไม่ และถ้าเริ่มแก้รัฐธรรมนูญแล้วก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-4 เดือน ในการถกเถียงกันว่า จะเรียกชื่ออะไรจะเรียกว่า ส.ส.ร.หรือกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เราต้องเสียเวลาในการเถียงกันในเรื่องกระบวนการไปโดยที่ปัญหาไม่ได้แก้อะไรเลย” นายสุรพล กล่าว

“ผมคิดว่าวันนี้บ้านเมืองมันไม่มีเวลามากมายขนาดที่จะมาพูดกันในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเด็น เราต้องแก้ปัญหากันทันที แทนที่จะตั้งใครซักคนมาเป็นคนกลางแล้วเริ่มแก้กัน แต่เมื่อไม่ทำวันนี้ทุกฝ่ายก็ต่างคนต่างอยู่ไม่ได้เจอกัน การใช้เวลา 3-4 เดือน ในการเถียงกันเรื่องที่มาของสภาร่างฯ เป็นเรื่องน่าเสียดาย อาจจะวิเคราะห์ว่าเวลา 3-4 เดือน จะไปตรงกับยุบพรรคและยุบสภาพอดี แล้วกระบวนการทุกอย่างก็ต้องล่มตามไป สังคมไทยก็ไม่ไปไหนปัญหาก็ไม่ได้แก้ เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก”

ก่อนหน้านี้ อธิการบดีหลายสถาบันก็ได้แสดงความผิดหวังกับท่าทีของรัฐบาลต่อการปฏิรูปการเมืองมาแล้ว อย่างเช่น ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ออกมาระบุว่า รัฐบาลและนักการเมืองไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาทางการเมือง เพียงแต่รอที่จะแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งถ้ามีการยุบพรรคก็คงมีการประกาศยุบสภา ให้เลือกตั้งใหม่ (อ่านข่าว : ม.อุบลฯสับเละ ครม.สมชาย 1 “ขี้ข้าทักษิณ” ทำประเทศพัง)
กำลังโหลดความคิดเห็น