xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกเอเชีย! ไทยวิจัยผิวเทียมเฟสแรกสำเร็จ เตรียมทดลองใช้ในคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผิวหนังเทียม Pore Skin
นักวิจัยไทยเจ๋ง! เผยหลังการทดลองผิวหนังเทียม “Pore Skin” ในสัตว์ทดลองสำเร็จอย่างงดงาม ประกาศเดินหน้าเริ่มทดลองใช้กับผู้ป่วยอาสาสมัคร ระบุอีก 1-2 ปีสำเร็จสมบูรณ์ คาดราคาถูกกว่าซื้อเวชภัณฑ์ผิวเทียมจากต่างประเทศถึง 10 เท่า ในขณะที่มีคุณภาพไม่ต่างกัน

วันนี้ (3 กันยายน) ที่อาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการแถลงความความสำเร็จเบื้องต้นของงานวิจัยผิวหนังสังเคราะห์ต้นแบบหรือ “Pore skin® : Artificial Dermis ที่ทำขึ้นด้วยเทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (Tissue Project) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผลงานภายใต้การวิจัยในหัวข้อ “ โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผิวหนังสังเคราะห์ต้นแบบ ”(The Development of Artificial Skin Prototype Research Project) อันเป็นโครงการวิจัยร่วมสหสาขาวิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ-คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และสภาวิจัยแห่งชาติ

ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ จากภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการดังกล่าวเปิดเผยว่า การพัฒนาวิจัยด้านผิวหนังสังเคราะห์ไม่ใช่ของใหม่ ในประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่นได้ทำมาแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ซึ่งได้รับความนิยมในสหรัฐฯ มีราคาสูงถึง 50,000 บาท ในผิวหนังเทียมที่มีขนาดเพียง 10x10 เซนติเมตร ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 บาท ในขนาดเดียวกัน

สำหรับผลงาน Pore Skin โดยนักวิจัยไทยนี้ ถือว่าขณะนี้ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในเฟสแรกที่ได้ทดลองในสัตว์ทดลองและได้ผลออกมาน่าพอใจ

“ผิวหนังสังเคราะห์ คือ ผิวที่สร้างขึ้นมาโดยเทคโนโลยี จุดประสงค์เพื่อทำให้การรักษาบาดแผลสมบูรณ์ขึ้น และลดความพิการจากผู้ป่วยแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ที่มีโอกาสพิการสูงเนื่องจากบาดแผลหดรั้ง”
ผศ.นพ.อภิชัย อังสพัทธ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กำลังสาธิตวิธีการใช้ Pore skin
ผศ.นพ.ถนอมกล่าวโดยสรุปย่อแบบง่ายๆ ถึงวิธีการทำแผ่นผิวเทียมดังกล่าวว่า ไทยมีข้อได้เปรียบจากการที่มีผู้บริจาคร่างกายมาก ในผู้เสียชีวิตไม่ถึง 24 ชั่วโมง เราจะนำผิวหนังของผู้เสียชีวิตนั้น นำมาสกัดเอาผิวหนังและเซลล์ออก เพราะกระบวนการผลิตต้องการเพียงคอลลาเจนในผิวหนังเท่านั้น จากนั้นนำมาทำละลายให้เป็นเจลกับสารประกอบอื่นๆ ทำให้มีปริมาณมากขึ้น จากนั้นก็นำไปใส่แม่พิมพ์ ผ่านกระบวนการทำแห้ง และนำไปติดกับแผ่นซิลิโคนที่มีความหนา 100 ไมครอน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ผลิตได้ค่อนข้างยาก 

“ดังนั้น ผิวหนังมนุษย์เพียง 1 กำมือ ก็จะทำผิวเทียมได้ราว 10-20 แผ่น ถือเป็นข้อได้เปรียบของเราที่อเมริกาไม่มี ของอเมริกามีผู้บริจาคร่างกายน้อยมาก เขาจึงใช้ผิวของวัว แต่เราลองแล้วพบว่ามีการต่อต้านอย่างมาก เมื่อศึกษาก็พบว่า ทางอเมริกาได้พัฒนาเทคโนโลยีไปถึงขั้นตัดดีเอ็นเอที่ทำให้เกิดการต่อต้าน ซึ่งเทคโนโลยีเรายังไปไม่ถึง สำหรับการวิจัยในสัตว์ทดลอง เราก็ทำการทดลองกันมานานพอสมควรจนเชื่อว่า หากใช้ในมนุษย์ก็น่าจะไม่มีปัญหา เพราะเราทดสอบตามมาตรฐาน ISO 10993-5 (การทดสอบความเป็นพิษและการเข้ากันได้กับเซลล์มนุษย์) และผ่านการทดสอบจากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุแห่งชาติด้วย”

นอกจากนี้ หัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าวยังได้บอกเล่าถึงคุณสมบัติของผิวหนังเทียม Pore Skin นี้ว่า เป็นแผ่นสีขาว มีสองชั้น ผนึกติดกันแน่น หนาประมาณ 2 มิลลิเมตร ชั้นบน เป็นแผ่นฟิล์ม ซิลิโคน บางใส ชั้นล่าง เป็นโฟมสีขาวขุ่น หรือ ออกขาวเหลือง แช่ในสารละลายเอธิลแอลกอฮอลล์ (เอธานอล) 70% โครงสร้างแผ่นหนังเทียมด้านที่จะทำไปปิดแผลจะมีลักษณะเป็นรูพรุน เนื่องจากเมื่อนำไปปิดแผลแล้ว เซลล์ผิวหนังที่เกิดใหม่จะโตและคลานเข้าไปรูพรุนเหล่านั้น เป็นการจัดระเบียบเซลล์ไม่ให้เติบโตแบบอิสระและติดกันเป็นพังผืดเพื่อลดความเสี่ยงในผู้ป่วยไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกที่จะพิการเพราะผิวหนังยึดเป็นพังผืด

ผศ.นพ.ถนอมกล่าวต่ออีกว่า ในการวิจัยในสัตว์ทดลองนั้น เบื้องต้นได้ทดลองด้วยการทำให้เกิดบาดแผล 2 แผล แผลแรกปิดด้วย Pore Skin อีกแผลไม่ได้ทำอะไร ปรากฏว่าเมื่อผ่านไปราว 3-4 สัปดาห์ ปรากฏว่าหนูที่ติดผิวหนังเทียม ปากแผลไม่หดเล็กลง และภายในแผลมีสีชมพูมากขึ้น ส่วนหนูที่ไม่ได้ปิดหนังเทียมแผลหายแต่ปากแผลหดรั้งเล็กลง

ต่อมาได้มีการทดลองกับหนูตะเภาซึ่งถือเป็นสิ่งมีชีวิตขั้นสูง ปรากฏว่า หนูตะเภาทั้งหมด 16 ตัว ถูกทำให้เป็นแผลและปิดทับด้วยผิวหนังเทียมPore Skin ปรากฏว่า หนู 8 ใน 16 ตัวเอาแผลไปถูกับกรงจนผิวหนังเทียมหลุด แต่หนูตะเภาอีก 8 ตัวที่เหลือปรากฏว่าภายหลังจากปิดผิวเทียมไปราว 3 สัปดาห์ เมื่อทดสอบด้วยผลการตรวจทางเนื้อเยื่อพยาธิวิทยาพบว่ามีการสร้างคอลลาเจนและเซลล์เกิดขึ้นในรูพรุนภายในผิวหนังเทียม คิดเป็น 100% ของการวัดการหดตัวของแผล เมื่อเปรียบเทียมระหว่างแผลเปิดและแผลที่ปิดด้วย Pore Skin พบว่า แผลที่ปิดด้วย Pore Skin หดตัวน้อยกว่าแผลเปิด 10.68%
รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าโครงการดังกล่าวได้กล่าวถึงข้อห้ามของการใช้ผิวหนังเทียมนี้ว่า ห้ามใช้ในผู้ป่วยแผลเรื้อรังเช่นแผลเบาหวาน, แผลติดเชื้อหรือแผลสกปรก, แผลที่ขาดเลือดและผู้ที่มีอาการแพ้

“นั่นเพราะผิวหนังเทียมที่เราวิจัยออกมานี้เป็นผิวหนังที่มีแต่คอลลาเจน ไม่มีเซลล์ ทำให้บาดแผลที่ไม่มีเลือดไหลเวียนจะไม่มีอะไรไปเลี้ยงผิวหนังเทียม และผิวหนังเทียมนี้ค่อนข้างจะติดเชื้อง่าย ทำให้ต้องใช้ในแผลที่สะอาดเท่านั้น”

ผศ.นพ.ถนอมกล่าวต่อไปอีกว่า เชื่อมั่นว่าไม่น่าจะเกิน 1-2 ปี การวิจัยน่าจะเสร็จสมบูรณ์ ในส่วนของการทดลองใช้ในผู้ป่วยอาสาสมัครนั้น จะใช้กับผู้ป่วยรพ.ศิริราชและรพ.จุฬาฯ และเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ด้านรศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีนโยบายสนับสนุนงานวิจัยเพื่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ป้อนเข้าสู่ตลาดธุรกิจเพื่อการจดลิขสิทธิ์ โดยงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นงานที่ช่วยประเทศชาติได้มาก เพราะในแต่ละปี ประเทศไทยต้องนำเข้าผิวหนังเทียมจากต่างประเทศที่มีราคาสูงมา แต่หากไทยผลิตได้เอง ราคาจะถูกลงประมาณ 10 เท่า
 
“ในขณะที่ขนาด 10x10 เซนติเมตรที่เรานำเข้ามา ราคาจะตกอยู่ที่ประมาณ 20,000 กว่าบาท แต่สำหรับ Pore Skin คาดว่าเมื่อวิจัยในมนุษย์สมบูรณ์ ราคาขายจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 กว่าบาทเท่านั้น ถูกกว่าที่ต้องนำเข้าถึง 10 เท่าเลยทีเดียว”

ด้านผศ.นพ.อภิชัย อังสพัทธ์ จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงวิธีการรักษาบาดแผลด้วยผิวหนังเทียมว่า เดิมที่ในผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือผิวหนังหายไปชิ้นใหญ่ จะต้องลอกผิวหนังจากส่วนอื่นมาแปะ ซึ่งทำให้ส่วนที่ถูกไถมาแปะเป็นแผลเป็นด้วย แต่ด้วยนวัตกรรมของ Pore Skin จะทำให้การรักษาบาดแผลสมบูรณ์ขึ้น คือนอกจากผิวหนังจะไม่หดรั้งแล้ว การไถผิวเพื่อนำมาปลูกก็จะน้อยลงและบางลงมาก

“ก็ยังต้องไถหนังส่วนอื่นมาช่วย แต่ไม่มากเท่าเมื่อก่อน เมื่อใช้ผิวเทียม เราก็ใช้ผิวแท้น้อยลง แค่ไถมาบางๆ และชิ้นไม่ใหญ่ และเมื่อแผลที่ถูกไถหาย ก็แทบจะไม่เป็นแผลเป็น ยิ่งหากเป็นคนขาวก็จะมองไม่เห็นแผลนั้น”

ผศ.นพ.อภิชัย กล่าวโดยสรุปว่า เชื่อมั่นว่าการทดลองผิวหนังเทียมนี้ค่อนข้างนิ่งแล้ว แต่ก็เป็นปกติที่อาจจะเกิดปัญหาบ้างในระยะแรกที่นำไปทดลองใช้ในคนไข้อาสาสมัครซึ่งเป็นธรรมดาของการทดลองวิจัยทั่วไป แต่เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาเล็กน้อยเท่านั้น และเป็นที่แน่นอนว่าเริ่มแรกคณะแพทย์จะทดลองกับบาดแผลเล็ก ไม่เป็นอันตราย หากการทดลองมีปัญหา อย่างมากที่สุดก็คือลอกผิวเทียมออก ไม่เป็นอันตรายแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น