“สมัคร” ควงแขน “ประภัสร์” สมัครผู้ว่าฯ กทม.คว้าหมายเลข 10 ไปครอง โดยวันนี้มีสมัครเพิ่ม 2 ราย ด้าน “หมัก” อารมณ์ดีตอบผู้สื่อข่าว เผยเหตุเลือกอดีตผู้ว่าฯ รฟม.เพราะเป็นคนหนุ่ม เคยบริหารงาน กทม.รับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกระทบหาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่ “ประภัสร์” ชูนโยบายกรุงเทพฯทันสมัย เรียกคะแนนเสียง ส่วน “ชูวิทย์” ชี้ สถานการณ์ฉุกเฉินทำ “อภิรักษ์” ได้เปรียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ก.ย.) ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม.โดยเมื่อเวลา 06.50 น. นายประภัสร์ จงสงวน ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคพลังประชาชน (พปช.) ซึ่งได้ประกาศลาอออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟม.เมื่อวานนี้ได้เดินทางลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยมีกองเชียร์ใส่เสื้อสีส้มกว่า 100 คน ถือป้ายผ้าว่า พวกเราชาวคันนายาวขอเป็นกำลังใจให้ นายประภัสร์ จงสงวน อยู่บริเวณลานคนเมือง จากนั้นเวลาประมาณ 07.15 น. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้เดินทางมาถึงด้วยรถปิกอัพ พร้อมด้วยแกนนำพรรค เช่น นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม ในฐานะผอ.การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.พรรค พปช.นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมชสาธารณสุข รวมถึง ส.ก.ของพรรคมาให้กำลังใจจำนวนมาก
โดย นายสมัคร ได้แถลงเปิดตัวผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค พปช.ซึ่งกล่าวโดยอารมณ์ดี แต่ระบุว่า ห้ามถามเรื่องอื่นถามเรื่องเลือกตั้งได้อย่างเดียว ทั้งนี้ สาเหตุที่ส่ง นายประภัสร์ ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เพราะเป็นคนหนุ่มตัดสินใจเร็ว และเคยผ่านงานบริหาร กทม.มาก่อน ซึ่งแผนในการหาเสียงตนได้มอบหมายคณะทำงานให้ดำเนินการไปแล้ว พรรคจะไม่เข้าไปยุ่ง จะให้อิสระอย่างเต็มที่ ส่วนที่ตนเดินทางมาด้วยตัวเองในวันนี้เพราะจะไม่ยอมน้อยหน้า ขนาดหัวหน้าฝ่ายค้านยังมาเลย ทำไมหัวหน้าพรรค พปช.จะไม่มาได้อย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่า ระยะเวลาเลือกตั้งจะเพียงพอหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ทำไมจะไม่พอ ต่างประเทศมีเวลาแค่ 16 วัน ยังเลือกตั้งได้เลย
ต่อข้อถามว่า พรรคการเมืองจะหาเสียงจะหาเสียงได้หรือไม่หลังจากที่มีประกาศ พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นายสมัคร กล่าวว่า ได้ สามารถทำได้ ไม่มีอะไรห้ามไว้ แต่คงสะดุดเล็กน้อยเพราะต้องหาเสียงได้ไม่เกิน 5 คน ซึ่งคงต้องใช้วิธีเดินเคาะประตูบ้าน
เมื่อถามอีกว่า โพลที่ออกมาระบุว่า ยังเป็นรองผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้ได้อย่างไร เขายังไม่ได้ออกหาเสียงเลย ดังนั้น อย่าไปเชื่อโพล
เมื่อถามต่อว่า เครียดหรือไม่ นายสมัคร ย้อนถามว่า เห็นตนเองอารมณ์เสียหรือเ มื่อคืนก็ไม่ได้นอนทั้งคืน ตนเองก็ทำหน้าที่ของตนเอง ทั้งนี้ เวลา 09.00 น.จะแถลงที่กองบัญชาการกองทัพไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่จะถึงเวลา 08.30 น.ซึ่งกำหนดเปิดรับสมัครได้มีผู้มาลงทะเบียนสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 2 ราย คือนายประภัสร์ ลงทะเบียนเวลา 07.15 น.และนายภพศักดิ์ ปานสีทอง ลงทะเบียนเวลา 08.25 น.ต้องใช้วิธีจับสลากในการจับหมายเลข ซึ่ง นายภพศักดิ์ ได้เป็นผู้จับก่อน และเมื่อจับสลากครั้งที่ 2 ให้ได้หมายเลขในการหาเสียง ปรากฏว่า นายประภัสร์ ได้หมายเลข 10 และนายภพศักดิ์ ได้หมายเลข 11
ด้าน นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคพลังประชาชน เปิดเผยว่า การตัดสินใจลงรับสมัครของตนนั้น ไม่ได้เป็นการตัดสินใจในนาทีสุดท้าย แต่ตนคิดมานานแล้วว่าจะอยากจะทำอะไรให้กับประชาชนชาวกรุงเทพฯ ซึ่งจังหวะนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ตนจะเข้ามาทำงาน ตอนแรกจะลงสมัครในนามผู้สมัครอิสระ แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วในความจริงนั้นค่อนข้างยากเพราะตนไม่มีฐานเสียงและไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ และการเลือกตั้งนั้นมีระยะเวลาดำเนินการและหาเสียงค่อนข้างสั้นเพียง 30 วันเท่านั้น ซึ่งจากการมองคู่แข่งแล้วพบว่าผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)นั้นมีพรรคการเมืองรองรับมีทีมการทำงานที่ครบถ้วนอยู่แล้ว ตนจึงตัดสินใจที่จะลงสมัครในนามของพรรคพลังประชาชน (พปช.) เพื่อที่จะได้มีฐานรองรับตนด้วย อีกทั้งยังมีทีมงานที่ชำนาญพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็น ส.ก.และ ส.ข.ช่วยในการทำงานด้วย ซึ่งจะทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ส่วนทีมรองผู้ว่าฯนั้น ในเบื้องต้นนั้นการทาบทาม ร.ต.อ.ติภูมิ นวรัตน์ นั้นตนไม่ทราบว่าทางพรรคดำเนินการอย่างไร ส่วน ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล นั้นตนทราบมาว่ามีเหตุขัดข้องอาจจะไม่สามารถร่วมทีมได้
สำหรับสโลแกนในการลงสมัครครั้งนี้ คือ ตนใช้นโยบาย “กรุงเทพฯทันสมัย” ซึ่งจะเป็นนโยบายที่ครอบคลุมการทำงานทุกด้านเพื่อให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพขึ้น โดยจนจะเน้นการทำงานที่เป็นรูปธรรม
นายประภัสร์ กล่าวต่อว่า การที่ตนเป็นผู้ว่าการ รฟม.มาก่อนนั้นตนคิดว่าไม่ได้เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เนื่องจากการบริหารงานของ กทม.นั้นมีภารกิจหลายด้านที่ต้องดำเนินการ แต่การเชี่ยวชาญรถไฟฟ้านั้นอาจจะส่งผลให้การทำงานด้านระบบขนส่งทำได้ง่าย รวมทั้งกระบวนการดำเนินการร่วมกับรัฐบาลด้วย เพราะตนมองว่าการสร้างรถไฟฟ้านั้นไม่ใช่หน้าที่ของ กทม.โดยตรง น่าจะเป็นการดำเนินการของรัฐบาลมากกว่า โดย กทม.ควรเป็นฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น เนื่องจาก กทม.มีภารกิจอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาให้ประชาชนการนำงบประมาณมาทุ่มกับรถไฟฟ้านั้นเป็นที่น่าเสียดาย อีกทั้งหากดำเนินการมาแล้วไม่สามารถใช้การได้ก็จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ซึ่งตนมาองว่าการสร้างรถไฟฟ้าของผู้บริหารชุดที่แล้วนั้นที่ไม่สามารถเดินรถได้เพราะไม่มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมต่อให้ชัดเจนก่อน เช่น บีทีเอส หรือ รฟม.เองก็ไม่มีการติดต่อมาเหมือนกัน
ทั้งนี้ หากได้รับเลือกตั้ง ตนก็ต้องดูก่อนว่าโครงการอะไรบ้างที่จะทำต่อและโครงการอะไรบ้างที่จะไม่ทำต่อ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ ให้อิสระในการทำงานเต็มที่ ในเบื้องต้นนั้นสำหรับโครงการรถไฟฟ้าก็จะมีการหารือกับบีทีเอสเรื่องการเชื่อมต่อระบบและระบบตั๋วร่วม ซึ่งต้องทำให้ครอบคลุมกับคนทุกกลุ่มไม่ใช่แค่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ ส่วนโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษนั้นอาจจะต้องมีการพิจารณาว่าโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการจราจรหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การที่ตนจะได้รับเลือกหรือไม่นั้นอยู่ที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งประชาชนอาจจะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่หากไม่ได้รับเลือกจากประชาชนนั้นตนก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรต่อไป
ด้าน นายวิชาญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลการเลือกตั้งเป็น 3 ฝ่าย โดยให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นผอ.การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นผอ.นโยบายฝ่ายประชาสัมพันธ์ และตนเป็นผู้ประสานงานการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในพื้นที่กทม. สำหรับจุดเด่นในการส่งนายประภัสร์ ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นั้นเพราะเป็นคนที่มีความสามารถ โดยเฉพาะในเรื่องระบบขนส่งมวลชน อีกทั้งมีความรู้ในฝ่ายมวลชนและสามารถบริหารจัดการภายในองค์กรได้อย่างดี
ส่วนกรณีที่ขณะนี้เสถียรภาพของรัฐบาลกำลังสั่นคลองนั้น ตนเห็นว่าประชาชนจะต้องแยกการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองใหญ่ออกจากกัน เพราะทั้งสองสนามไม่ได้รวมกัน อย่างไรก็ตามแม้ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้สมัครของพรรคยังตามหลังพรรค ปชป.นั้น ก็ยังไม่ได้หมดหวัง ซึ่งคนของพรรคจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน อีกทั้งตนไม่อยากให้มองว่าใครเป็นต่อหรือเป็นรอง เพราะทุกคนก็มีผลงานมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่อยากให้มีการเปรียบเทียบ รอให้คนของพรรคได้ลงพื้นที่หาเสียงก่อน
ส่วนความเคลื่อนไหวของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คนอื่นๆ เช่น นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการยกเลิกกำหนดการณ์ลงพื้นที่หาเสียงทั้งหมด และงดการเปิดศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่พรรคประชาธิปัตย์ ตามกำหนดเวลา 14.00 น.วันที่ 2 ก.ย.นี้ โดย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม.ฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่อยู่ในขั้นวิกฤต คงต้องงดกำหนดการลงพื้นที่หาเสียง กิจกรรมทางการเมือง และการติดป้ายหาเสียงเพิ่มเติมออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นปกติสุข อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานก็จะขอหารือในเรื่องข้อประกาศใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ว่า จะกระทบต่อการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ และวิธีการหาเสียงต่อไป
ด้าน นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้สมัครสังกัดอิสระ กล่าวว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลในช่วงที่เป็นเวลาของการหาเสียงเลือกตั้งจะมีผลกระทบกับผู้สมัครที่จะลงพื้นที่อย่างแน่นอน เนื่องจากจะทำให้สร้างความได้เปรียบให้กับ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.ที่เดิมมีฐานเสียงและเคยทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.มาก่อน แต่อย่างไรก็ตามตนก็ยังไม่ยุติการหาเสียง แต่ได้ปรับวิธีการ โดยใช้วิธี คนไม่ไปแต่ของไป โดยจะเน้นการหาเสียงในด้านการติดป้าย แจกโปสเตอร์ แจกนามบัตร ในประชาชนเฉพาะกลุ่ม เช่น นักเรียน นักศึกษา คนขับแท็กซี่ วินมอร์เตอร์ไซต์ พนักงานออฟฟิศ
ขณะที่ นายพิงค์ รุ่งสมัย ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ย.) ตนจะมีการหารือร่วมกับคณะทำงาน และ กกต.กลาง เพื่อกำหนดกรอบของการลงพื้นที่หาเสียงของผู้รับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.
ส่วนนายประภัสร์ จงสงวน ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.พรรคพลังประชาชน (พปช.) กล่าวว่า แม้ปลัด กทม.ยืนยันว่าสามารถหาเสียงได้ตามปรกติและกำหนดวันเลือกตั้งยังคงเดิม แต่เมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว จึงของดการปราศรัยหาเสียงเป็นเวลา 3 วัน เพื่อรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจน ส่วนรูปแบบและแนวทางการหาเสียงจะเป็นอย่างไรต้องรอหารือกับทีมงานอีกครั้ง นอกจากนี้ ยืนยันว่าจะไม่ทำหนังสือร้องเรียนถึง กกต.เพื่อขอขยายเวลาในการเลือกตั้งแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ผ่านมาปรากฎว่าในวันนี้มียอดผู้สมัครเพิ่มขึ้นเพียง 2 ราย เท่านั้น รวมมีผู้สมัคร 2 วัน 11 ราย