สธ. เตรียมความพร้อม “กู้ชีพ กู้ภัย” รับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว ดินถล่มและคลื่นสตอร์มเซิร์จ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั่วโลก โดยไทยมีพื้นที่เสี่ยงดินถล่มกว่า 2,000 หมู่บ้านใน 51 จังหวัด ขณะนี้ สธ.มีทีมกู้ชีพเกือบ 6,000 ทีม ชี้หากรุนแรงอาจพัฒนาเป็นโรงพยาบาลสนามได้
วันนี้ (25 ส.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัมมนาผู้บริหารส่วนกลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน 51 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม ผู้แทนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ผู้แทนกทม.และโรงพยาบาลในกทม. รวม 400 คน เพื่อพัฒนาความพร้อมการกู้ชีพกู้ภัย ระบบการประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อรับมือกรณีแผ่นดินไหว พิบัติภัยดินถล่ม
นายชวรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุ ดินถล่ม มีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลก ในประเทศไทยก็มีแผ่นดินไหวที่สามารถรู้สึกได้หลายครั้งแต่ยังไม่รุนแรง รวมทั้งยังพบปัญหาดินถล่มในหลายๆ พื้นที่ ในช่วงฝนตกหนักระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายนของทุกปี และในช่วงหลังมีการเตือนเรื่องคลื่นจากลมพายุพัดเข้าฝั่งอย่างรุนแรงในอ่าวไทย แม้ว่าจะยังไม่เกิดแต่ก็ประมาทไม่ได้ ทีมกู้ภัยและกู้ชีพ ซึ่งเปรียบเสมือนทีมงานฉุกเฉินคู่แฝด ต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง ได้มอบหมายให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางประสานหน่วยงานสาธารณสุขในภูมิภาคและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมมือกันวางแนวทางในการรับมือด้านการกู้ชีพ ระบบการประสานงานต่างๆ ให้สามารถรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความสูญเสียต่อชีวิตประชาชนน้อยที่สุด
ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังพบว่าไทยมีแผ่นดินไหวและดินถล่มเกิดขึ้นเป็นระยะๆ มาตลอด โดยกรมทรัพยากรธรณีได้เก็บข้อมูลพบพื้นที่เสี่ยงดินถล่มมักอยู่ติดภูเขาและใกล้ลำห้วย มีร่องรอยดินไหลหรือดินเลื่อนบนภูเขา มีรอยแยกของพื้นดินบนภูเขา ถูกน้ำป่าไหลหลากและท่วมบ่อย ซึ่งมีถึง 51 จังหวัด 248 อำเภอ 2,082 หมู่บ้าน การจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ละหน่วยงานแยกกันทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน มั่นใจว่าการสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยให้ทุกหน่วยงานมีการประสานงานกันในการรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเตรียมการป้องกัน การกู้ภัย และการกู้ชีพฉุกเฉิน ทำให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า สำหรับความพร้อมด้านการแพทย์ ขณะนี้ได้พัฒนาทีมกู้ชีพฉุกเฉินเกือบ 6,000 ทีม โดยอยู่ในหมู่บ้าน/ตำบลกว่า 3,000 ทีม มีเจ้าหน้าที่ผ่านการฝึกอบรมทักษะเรื่องการช่วยชีวิตฉุกเฉินรวม 72,560 คน ในปลายปีนี้จะอบรมเพิ่มอีกประมาณ 3,000 ทีม ซึ่งการช่วยเหลือกรณีภัยพิบัตินี้ อาจจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราว เพื่อให้การดูแลผู้บาดเจ็บอย่างทันท่วงทีได้
ทั้งนี้ 51 จังหวัดเสี่ยงภัยดินถล่ม ประกอบด้วย กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี เลย ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู หนองคาย อุบลราชธานี อุทัยธานี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี จันทบุรี ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี