อุบัติโหดคร่าชีวิตคนไทย 12,000 รายต่อปี สังเวยวันละเฉียด 33 ศพ ตายมากกว่าอาชญากรรมเกือบ 5 เท่า พบมัจจุราชเพราะซิ่งสยอง-เมาแล้วขับ มากสุด สตช.จับมือ สสส.เปิดโครงการ “365 วัน อันตราย หยุดความตาย ด้วยวินัยจราจร” ดีเดย์ 19 สิงหานี้ ผุดจุดตรวจพัฒนาชุดปฏิบัติการ 10 จังหวัดยอดตายสูง เชื่อลดความสูญเสีย 2 หมื่นกว่าล้าน ผลวิจัยชัดจุดตรวจลดอุบัติเหตุได้ 40% เข้ม 6 ข้อ 5 ไม่+ใส่หมวก
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีงาน “365 วัน อันตราย หยุดความตาย ด้วยวินัยจราจร” โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า อุบัติเหตุจราจรเป็นสาเหตุการความเจ็บตาย มากเป็นอันดับหนึ่งของคนไทย ในปี 2550 มีอุบัติเหตุเกิดถึง 100,773 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 62,946 คน เสียชีวิตเกือบ 12,000 ราย หรือวันละเกือบ 33 คน สูงกว่าผู้เสียชีวิตจากคดีอาชญากรรมที่มี 2,600 ราย เกือบ 5 เท่า สาเหตุความเจ็บตาย อันดับ 1 คือ การขับรถเร็ว แต่ละปีมีผู้ประสบอุบัติเหตุปีละ 20,000 ราย ขณะที่การเมาแล้วขับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุปีละ 8,000 ราย
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า ความเจ็บตายเกิดขึ้นได้ทุกวัน ไม่เฉพาะแค่ 7 วันอันตราย ช่วงเทศกาลเท่านั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการ “365 วัน อันตราย หยุดความตาย ด้วยวินัยจราจร” ตั้งเป้ากวดขันวินัยจราจรใน 6 ด้าน คือ 1.ไม่ขับเร็ว 2.ไม่เมาแล้วขับ 3.ไม่ฝ่าไฟแดง 4.ต้องคาดเข็มขัด 5.ต้องสวมหมวกกันน็อก 6.ไม่โทร.แล้วขับ พร้อมจัดสัมมนา “กวดขันวินัยจราจรและลดอุบัติเหตุทั่วประเทศ” ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้บังคับการทั่วประเทศ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1-9 และกองบัญชาการสอบสวนกลาง ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายกับการลดอุบัติเหตุจราจร และนำเสนอตัวอย่างการปฏิบัติงานที่สำเร็จในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจร
“นอกจากนี้ สสส.ยังสนับสนุนการพัฒนารูปแบบการจัดตั้งชุดปฏิบัติการ ตรวจจับความผิดเรื่องการขับเร็ว การเมาแล้วขับ ในจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 10 จังหวัด คือ 1.นครราชสีมา 2.เชียงใหม่ 3.ขอนแก่น 4.ชลบุรี 5.สระบุรี 6.สงขลา 7. นครศรีธรรมราช 8.พิษณุโลก 9.สุพรรณบุรี 10.กรุงเทพฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะผลัดเปลี่ยนกันปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชม.เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งจะเริ่มทันทีโดยหวังจะลดการสูญเสียจากอุบัติหตุลงไม่ต่ำกว่า 10%” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว
นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานคนที่สอง สสส.กล่าวว่า การศึกษาต้นทุนความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร พบการเสียชีวิตของคน 1 คน เท่ากับสูญเสีย 5.3 ล้านบาท พิการ 6.1 ล้านบาท บาดเจ็บรุนแรง 147,023 บาท บาดเจ็บเล็กน้อย 34,761 บาท ซึ่งอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ทำให้ทรัพย์สินเสียหายไม่ต่ำกว่า 45,898 บาท เฉพาะผู้เสียชีวิตแต่ละปีประเมินแล้วเกือบ 64,000 ล้านบาท ไทยจึงสูญเสียไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อปี โศกนาฏกรรมเหล่านี้ แท้จริงแล้วไม่อาจคิดเป็นตัวเลขได้ ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญที่จะหยุดความเจ็บตายนี้ได้ คือ การกวดขันและปฏิบัติตามวินัยจราจร
นพ.วิชัย กล่าวว่า การศึกษาในหลายประเทศ พบว่า มาตรการลดการฝ่าฝืนกฎหมาย ลดการเกิดอุบัติเหตุได้ 40-50% ประเทศไทย 3 ใน 4 ของอุบัติเหตุบนทางหลวงเกี่ยวข้องกับขับเร็ว ซึ่งความเร็วที่เพิ่มขึ้นทุก 10% เช่น การขับขี่จาก 90 กม.ต่อชั่วโมง เพิ่มเป็น 99 กม.ต่อชั่วโมง พลังงานจากการชนเพิ่มขึ้น 21% และมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มอีกเกือบ 50% ขณะที่ปริมาณแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นทุก 20 มิลลิกรัม เทียบได้กับ เบียร์ 1 กระป๋อง หรือสุราผสม 2 ฝา หรือ ไวน์ขนาด 80 ซีซี 1 แก้ว จะเพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงถึง 2 เท่า ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ระบุว่า เวลา 18.00-24.00 น.เป็นช่วงที่ผู้ขับขี่ขับเร็วที่สุด
“การศึกษายังพบแค่จอดรถตำรวจไว้ริมทางให้เห็นชัด จะลดอุบัติภัยหมู่จากการใช้ความเร็วได้ถึง 60% ซึ่งโครงการ “365 วัน อันตราย หยุดความตาย ด้วยวินัยจราจร” จะลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรได้ไม่ต่ำกว่า 29,300 ล้านบาท ที่สำคัญ การเก็บข้อมูลในหลายพื้นที่พบว่า การเพิ่มของจุดตรวจ นอกจากจะลดอุบัติเหตุ ความเจ็บ ตาย แล้ว คดีอาชญากรรมอื่นๆ ก็ลดลงด้วย” นพ.วิชัย กล่าว
โดยภายในงานมีการมอบประกาศนียบัตรทูตจราจรด้านต่างๆ ให้กับศิลปินนักร้องดังนี้ 1.โฟร์ – ศกลรัตน์ วรอุไร ทูตจราจรรณรงค์โทรไม่ขับ 2.มด – คุณัชยา ชัยรัตน์ ทูตจราจรรณรงค์ดื่มไม่ขับ 3.น๊อตโตะ - วรางคณิภา พวงธนะสาร ทูตจราจรรณรงค์คาดเข็มขัดนิรภัย 4.กั๊ก - ศุภวัฒน์ ชูสุวรรณ (กั๊ก วงเล้าโลม) ทูตจราจรรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 5.หวิว – ณัฐพนธ์ วงษ์สนิท ทูตจราจรรณรงค์ไม่ขับรถเร็ว 6.ฟลุค – จิตรกร บุญสอน (ฟลุค – ไอน้ำ) ทูตจราจรรณรงค์ไม่ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง โดยศิลปินทั้ง 6 นี้จ ะปฏิบัติภารกิจทูตจราจรเพื่อร่วมรณรงค์และกวดขันวินัยจราจร และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคมต่อไป