xs
xsm
sm
md
lg

“รัฐสภาหลังใหม่” ความสง่างามบนคราบน้ำตา นร.-ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริเวณหน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ
ทุกครั้งที่มีการไล่ที่เวนคืนเพื่อก่อสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรามักจะพบเห็นการคัดค้าน และการประท้วงจากผู้ใช้พื้นที่เดิม แต่หลายๆ ครั้งปัญหาทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี เมื่อเจ้าของพื้นที่ยอม"สละ"ประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่การสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ของรัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” อาจจะทำให้หลายคนต้องเกิดคำถาม ว่าชุมชนกว่า 3 แห่ง และโรงเรียนย่านเกียกกายที่ได้รับผลกระทบจากอภิมหาโปรเจกต์ครั้งนี้ ควรต้องเสียสละ และการเสียสละครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงหรือไม่

สำหรับอาคารรัฐสภาหลังใหม่นั้น รัฐบาลมีมติให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุที่ทหารใช้ประโยชน์เป็นที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ บริเวณเกียกกายชนถนนสามเสน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่ทับซ้อน อาทิ กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) โรงเรียนโยธินบูรณะ วัดสร้อยทอง และกรมทหารราชองครักษ์ ขณะเดียวกันยังมีชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวอีก 3 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนบ้านองค์การทอผ้า ชุมชนตระกูลดิษฐ์ และชุมชน ขส.ทบ. ซึ่งจะมีครอบครัวที่ได้รับผลกระทบหลายร้อยหลังด้วยกัน

งบประมาณการก่อสร้างทั้งหมดมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 จำนวน 2,727 ล้านบาท จากเดิมที่ขออนุมัติจำนวน 1,300 ล้านบาท รวมเป็น 4,027 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจ่ายค่าชดเชยให้กับพื้นที่ราชพัสดุ ทั้งในส่วนของกองทัพบก กรมราชองครักษ์ โรงเรียนโยธินบูรณะ และชุมชนบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำนวน 119 ไร่
อุบล ม่วงทิม ปธ.ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า
** รื้อ-ไล่ ไม่ให้ความชัดเจน
ที่หลายคนตั้งคำถาม คือ ทำไมต้องก่อสร้างอาคารรัฐสภาหลังใหม่ และทำไมต้องเป็นพื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีทั้งโรงเรียน หน่วยงานราชการ และชุมชนที่อยู่อาศัยกันมานานปีด้วย

“อุบล ม่วงทิม” ประธานชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า ซึ่งดูแลครอบครัวลูกบ้าน 126 ครอบครัว เปิดเผยว่า ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2478 และอยู่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น แม้ว่าปัจจุบันที่พักอาศัยจะเริ่มทรุดโทรม แต่คนในชุมชนก็ยังอยากจะอยู่อาศัยในพื้นที่เดิม ทางชุมชนจึงได้ดำเนินโครงการ “บ้านมั่นคง” เก็บเงินลูกบ้านหลังละ 100 บาทต่อเดือน เพื่อสร้างบ้านในชุมชนฯ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2538 ปัจจุบันมีเงินสะสมในโครงการดังกล่าวประมาณ 1.2 ล้านบาท

“เป็นโครงการที่พวกเราทุกคนในชุมชนฯ ทำร่วมกัน เพราะอยากมีบ้านที่น่าอยู่เป็นของตนเอง และอยู่ในพื้นที่ที่เราเคยอยู่มานาน แต่พวกเราไม่ได้มีรายได้จำนวนมากที่จะไปซื้อหรือดาวน์บ้านจัดสรร จึงร่วมกันลงทุนเก็บสะสมมาเรื่อยๆ เพื่อมีบ้านเป็นของตนเอง จากปี 2538 พอเราเริ่มจะก่อสร้างบ้านพัก รัฐบาลก็ขอระงับ มาถึงปีนี้ จะก่อสร้างบ้านมั่นคง รัฐบาลก็ขอระงับอีกแล้ว และแจ้งว่าจะใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารรัฐสภาหลังใหม่”
สภาพภายในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า
อุบล ยังบอกด้วยว่า การแจ้งให้ย้ายออกนอกพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ค่อนข้างกะทันหันจนตั้งตัวไม่ทัน ตอนนี้จึงได้แต่บอกลูกบ้านให้ใจเย็นๆ ขอให้รอความชัดเจนจากรัฐบาลก่อน เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบความชัดเจนใดๆ เลย

“เรารู้ข่าวแต่ว่าเขาให้เราย้ายออก เพื่อก่อสร้างรัฐสภาหลังใหม่ แต่ไม่เคยรู้ข้อเท็จจริงอะไรเลย ว่าให้เราย้ายออกไปอยู่ที่ไหน รัฐบาลไม่เคยลงมาดูแล ไม่เคยมาเจรจากับชาวบ้านในพื้นที่ อย่างน้อยก็น่าจะมาพูดคุยกับเราบ้าง ไม่ใช่ให้เราติดตามข่าวจากสื่อ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องลงมาเองก็ได้ แต่ให้เจ้าหน้าที่มาพูดคุยตกลงกับเรา แต่นี่ไม่เคยได้คุยกันอย่างเป็นทางการเลยสักครั้งเดียว ชาวบ้านก็อยู่ด้วยความวิตกกังวล ก็ได้แต่บอกว่าให้ใจเย็นๆ รอความชัดเจน”

เมื่อถามว่า มีข้อเรียกร้องอะไรที่ต้องการขอจากรัฐบาล ประธานชุมชนฯ กวาดตามองไปยังบ้านหลังเล็กหลังน้อยโดยรอบ ก่อนกล่าวว่า หากจะต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิมจริงๆ ก็ขอให้อยู่ใกล้กับที่ที่เราเคยอยู่ เพราะเราอยู่กันมานาน และเราไม่อยากอยู่แฟลต ขอให้ได้อยู่บ้านเป็นหลังเหมือนที่เคยอยู่ และขอให้รัฐบาลคำนึงถึงเด็กนักเรียนที่ต้องย้ายไปเรียนที่ใหม่ด้วยว่า สิ่งแวดล้อมโดยรอบสถานศึกษามีความเหมาะสมแค่ไหน

“ไม่ใช่แค่เรื่องย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น แต่มันเป็นเรื่องความผูกพันที่เรามีกับชุมชนด้วย เราอยู่กันแบบชุมชนดูแลกันเอง ชุมชนของเราไม่เคยมีคดีลักขโมย หรือค้ายา เป็นชุมชนที่พ่อแม่ผู้ปกครองสบายใจได้ว่า หากลูกเดินออกจากโรงเรียน แล้วจะเข้ามาในตรอกซอกซอยจะไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องสภาพแวดล้อมที่ลูกหลานจะต้องมาเจอ”
ศูนย์บริการสาธารณสุข หนึ่งในพื้นที่ที่กำลังจะโดนรื้อถอน
ประธานชุมชน กล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่คนในชุมชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่น่าเสียดายอีกประการหนึ่งคือ “บ้านและห้องแถวโบราณ” อายุเกือบ 100 ปี ซึ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 โดยองค์การทอผ้าสร้างให้พนักงานอยู่อาศัย ซึ่งมีอยู่ในชุมชนถึง 72 หลัง และควรบูรณะเพื่ออนุรักษ์ไว้ อีกทั้งที่ผ่านมาทางชุมชนฯ ได้ทำแผนพัฒนาเพื่อปรับปรุงบ้านโบราณเหล่านี้เพื่อให้น่าอยู่ขึ้นด้วย

“การย้ายอาคารรัฐสภาไม่ช่วยให้ประเทศชาติดีขึ้น การเมืองไทยก็ไม่ได้ดีขึ้นเพียงเพราะเรามีสภาใหม่ มันอยู่ที่สำนึกของคน นักการเมืองเก่าๆ ก็ควรเปิดโอกาสให้นักการเมืองใหม่ๆ ได้เข้ามาทำงานบ้าง ทางที่ดีหากเป็นไปได้ก็น่าจะหาพื้นที่ว่างเปล่า ไม่กระทบกับประชาชนในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่แทน ”อุบลกล่าว พร้อมกับขอบคุณพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาต่อสู้ร่วมกับพี่น้องประชาชนในเรื่องนี้

“การที่พันธมิตรฯ บอกว่าจะมาเยี่ยมพวกเรา และจะช่วยต่อสู้ด้วยนั้น ทำให้ผมรู้สึกว่า อย่างน้อยพวกเราก็ไม่ได้สู้ตามลำพัง และมีคนอีกมากช่วยพวกเราสู้”

ขณะที่ พี่วรรณ สมาชิกครอบครัวหนึ่งในชุมชนฯ ถึงกับออกปากว่า บ้านบางหลังอยู่กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จู่ๆ จะไล่ขึ้นไปอยู่บนแฟลต อย่างน้อยรัฐบาลก็น่าจะถามความรู้สึก หรือทำประชาพิจารณ์ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร

“พี่ไม่เข้าใจ ทำไมคนจากประเทศเพื่อนบ้านอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย เราหาที่อยู่ให้เขา แต่นี่เราคนไทยอยู่ในบ้านของเรา รัฐบาลกับไล่ให้เราออกจากบ้าน แบบนี้รัฐบาลรังแกลูกบ้านชัดๆ “พี่วรรณกล่าว
ห้องสมุดกทม.ใช้งบกว่าร้อยล้านบาท ยังไม่ได้เปิดใช้ แต่กำลังจะโดนทุบทิ้ง
**ลูกโยธินฯ รวมพลังค้าน
อีกส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ กับโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่คงหนีไม่พ้น โรงเรียนโยธินบูรณะ ที่ตั้งเด่นเคียงข้างแยกเกียกกายมากว่า 70 ปี แน่นอนว่าหากมีการก่อสร้างเกิดขึ้นจริงโรงเรียนบนที่ตั้งเดิมก็จะถูกทุบทำลาย โดยรัฐเสนอให้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่บริเวณวัดสร้อยทอง ย่านบางซื่อ ซึ่งห่างออกประมาณ 1.7 กิโลเมตร

“ปรัชญา มานพ” ชั้น ม.5 ในฐานะประธานนักเรียนและตัวแทนนักเรียนผู้คัดค้านการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวถึงความรู้สึกต่อเรื่องนี้ว่า ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องจริงๆ ว่าเหตุใดต้องมาเลือกพื้นที่ตรงส่วนนี้เพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยเฉพาะกับพื้นที่ของโรงเรียนที่ต้องโดนทุบทำลายแล้วย้ายไปที่ใหม่ แต่ที่นี่เป็นสถานที่ที่เก่าแก่ ผลิตบุคลากร บุคคลสำคัญให้แก่ประเทศชาติจำนวนมาก อยู่ดีๆ ก็จะมาให้ย้ายโดยไม่มีการบอกกล่าว ไม่มีการสอบถามความเห็น คืออยากจะได้อย่างเดียวโดยไม่ฟังเสียงคนอื่น

ปรัชญา บอกอีกว่า รัฐบาลบอกว่า ต้องการพื้นที่ในการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่กว่าร้อยไร่ หากคิดดูดีๆ พื้นที่ชานเมืองก็มีตั้งมากมาย ซึ่งก็ไม่ต้องมาเวนคืนที่ ไม่ต้องอพยพ ขนย้ายผู้คนให้เปลืองเงิน แต่กับเหตุผลที่อ้างมาว่า รัฐสภาแห่งใหม่นั้นต้องอยู่ภายในตัวเมือง มีพื้นที่ติดแม่น้ำ มีความกว้างใหญ่ โอ่อ่า สง่างาม เหมือนรัฐสภาในต่างประเทศ แต่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวกันเลย เพราะถึงจะมีรัฐสภาใหม่ที่สง่างามเพียงใด ก็เทียบไม่ได้กับคุณค่าของคน เพราะคนจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ และการกระทำเช่นนี้กลับเป็นการดำเนินการบนความเดือดร้อนของประชาชน เมื่อมองภาพในอดีตรัฐบาลมีแต่จะส่งเสริมให้สร้างวัด สร้างชุมชน สร้างโรงเรียน แต่ตอนนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น ต้องการแต่จะทุบทำลายโรงเรียน และชุมชนอย่างเดียว

“หากมองถึงพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในคืนวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา พระองค์ทรงย้ำในเรื่องความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งหากมองย้อนกลับมาที่ ร.ร.โยธินบูรณะ ก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน การก่อร่าง สร้างตัวใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ แต่อยู่ดีๆ ก็จะมาทุบทิ้ง และย้ายไปอยู่ที่อื่น ก็คงไม่ต้องพูดถึงในเรื่องของการย้ายที่อีกต่อไปเพราะยังคงยืนยันว่าจะต่อสู้เพื่อไม่ให้มีการย้ายเกิดขึ้น” ปรัชญาให้ภาพ
บ้านโบราณภายในชุมชนควรค่าแก่การอนุรักษ์
ปธ.นักเรียน บอกอีกว่า แน่นอนว่า การออกมาคัดค้าน และเรียกร้องครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันในนามของลูกโยธินฯ แต่ตามที่เป็นข่าวว่าทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเคลื่อนขบวนมาเพื่อให้กำลังใจ และร่วมคัดค้านการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้นั้น ในฐานะตัวแทนนักเรียนคนหนึ่ง ต้องขอขอบคุณทุกๆ กำลังใจและความหวังดีที่ลุงป้า น้าอาจากกลุ่มพันธมิตรฯมีให้พวกเราชาวโยธินฯ ทุกคน แต่ทุกอย่างที่เราจะดำเนินการนั้นเห็นตรงกันแล้วว่าจะต่อสู้ด้วยวิถีทางของลูกโยธินฯ ที่มีทั้งครู อาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน โดยไม่ใช้ชื่อกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดในการต่อสู้ครั้งนี้ อีกทั้งการร่วมกันคัดค้านของเราจะมีการหาแนวทางร่วมกันเพื่อดำเนินการด้านกฎหมายโดยหวังว่าภายในสัปดาห์นี้คงได้ข้อสรุป

ด้าน ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.6 แสดงความรู้สึกเช่นกันว่า ใจหายเมื่อรู้ข่าว รู้สึกเสียดายกับที่ที่เคยอยู่แต่ต่อไปอาจจะไม่มีอีกแล้ว ไม่อยากจะนึกภาพเลยว่าหากเรียนจบออกไป เมื่อครั้งต้องกลับมาโรงเรียน จะยังคงเป็นที่นี่อยู่อีกหรือไม่ กับคำพูดอันเป็นที่กล่าวขวัญถึงของ “สุภาพบุรุษเกียกกาย” จะยังคงอยู่หรือจะเหลือไว้เพียงแค่ความทรงจำ โดยในนามของตัวแทนนักเรียนคนหนึ่งก็จะร่วมกันต่อต้านการกระทำนี้ให้ถึงที่สุด โดยเร็วๆ นี้จะมีการประชุมของกลุ่มตัวแทนนักเรียน เช่นในเรื่องของการหาสัญลักษณ์ หรือข้อความใดที่แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในการต่อต้าน เป็นต้น

“ในวันศุกร์ที่ผ่านมาที่มีการเดินขบวนไปเรียกร้อง คัดค้านที่รัฐสภาของกลุ่มนักเรียน ครู และผู้ปกครองบางส่วน ซึ่งผู้ใหญ่ที่นั่นก็ขอให้ส่งตัวแทนนักเรียน 20 คน โดยบอกว่าจะให้เข้าไปร่วมประชุม หารือ ถึงทางออก แต่ความเป็นจริงคือเอาพวกเราเข้าไปเพื่อนั่งฟังพวกเขาแถลงข่าวกันอย่างหน้าชื่นตาบาน นี่หรือผู้ใหญ่ที่มาบริหารบ้านเมือง เพราะแม้กระทั่งกับเยาวชนยังกล้าที่จะโกหก หลอกลวงซึ่งหน้า ทุกคนที่เข้าไปต่างก็รู้สึกหดหู่ต่อการกระทำครั้งนี้เป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าจะทำอะไรกันก็ตกลงกันเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่สนใจเสียงคนเป็นพัน เป็นหมื่นที่ออกมาต่อต้านแล้วไหนเคยบอกว่าฟังเสียงประชาชน”ตัวแทน นร.แสดงความรู้สึก
กชวรรณ พิพัฒน์บัณฑิต ผู้ปกครองนักเรียน
**ค้างคาใจผลาญงบเพื่ออะไร
กชวรรณ พิพัฒน์บัณฑิต
หรือ พี่นา คุณแม่ของลูกสาวซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ร.ร.โยธินบูรณะ กล่าวว่า การย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่อื่น ไม่ได้ทำให้ผู้ปกครองเดือดร้อนเพิ่มขึ้น เพราะบ้านของพี่นาไม่ได้อยู่ติดกับโรงเรียน และต้องมาส่งลูกทุกวันอยู่แล้ว อีกทั้งเมื่ออยากให้ลูกเรียนที่ ร.ร.โยธินฯ เมื่อโรงเรียนย้ายไป พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจ ในเมื่ออยากเรียนที่นี่เอง แต่สิ่งที่ทำให้เธอต้องออกมาคัดค้านเรื่องนี้ เพราะความไม่ชอบธรรม

“พื้นที่ที่จะเอาไปสร้างอาคารรัฐสภาใหม่นั้น มีหน่วยงานสำคัญหลายแห่ง และอาคาร สำนักงาน ที่สามารถใช้การได้ดีอยู่จำนวนมาก ทั้งโรงเรียนโยธินฯ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต ของ กทม.ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จใช้งบไป 100 กว่าล้าน และยังไม่ได้เปิดใช้เลย ศูนย์บริการสาธารณสุข 38 ซึ่งเป็นที่พึ่งยามเจ็บไข้ของคนในชุมชน แต่รัฐบาลต้องเสียเงินถึง 4 พันกว่าล้าน นี่เป็นแค่ค่าทุบตึก เป็นเงินที่รัฐต้องจ่ายไปเพื่อการทำลาย และรัฐไม่เคยสนใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เขาดำเนินอยู่เลย หนำซ้ำวันที่เด็กจาก ร.ร.โยธินฯ เดินไปคัดค้านที่รัฐสภา นายสมัคร สนุทรเวช นายกฯ กลับบอกว่า เด็กๆ เหล่านั้นไปเพื่อแสดงความยินดีในการลงนามการก่อสร้าง นอกจากไม่สนใจสิ่งที่เด็กๆ เรียกร้องแล้ว นายสมัครยังดึงเอาเด็กไปเป็นพวกตัวเองอย่างหน้าด้านๆ”
พี่นา บอกอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลบอกว่า ได้จ้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้สำรวจพื้นที่และเห็นว่าบริเวณเกียกกายมีความเหมาะสมที่สุดในการสร้างอาคารรัฐสภาใหม่นั้น อยากให้เปิดเผยชื่อผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้ เพื่อจะได้สอบถามด้วยว่าผู้ศึกษาได้ดูถึงเรื่องการจราจรในย่านดังกล่าวด้วยหรือไม่ เพราะแม้ว่าถนนในพื้นที่ดังกล่าวจะมีโครงข่ายลักษณะใยแมงมุม แต่เป็นเส้นทางสัญจรที่เข้าข่ายอัมพาต ซึ่งไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นรัฐสภาอย่างที่กล่าวอ้าง และคนศึกษาเรื่องนี้ ควรได้คุยกับจราจร สน.สามเสน เตาปูน และดุสิต จะได้ทราบว่าการจราจรในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างไร หรือไม่ก็ควรได้พูดคุยกับคนขับรถเมล์ที่ใช้เส้นทางนี้เป็นประจำบ้าง และยิ่งรัฐสภามาตั้งในบริเวณดังกล่าวจะยิ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อน

“คุณจะผลาญงบไปเพื่ออะไรตั้ง 4 พันล้านบาทเพื่อจ่ายเป็นค่าเวนคืน นี่ยังไม่รวมงบประมาณที่จะใช้ก่อสร้างด้วยซ้ำ หากอยากมีอาคารรัฐสภาที่สง่างาม ทำไมไม่หาที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อน ซึ่งเรามีพื้นที่อีกมากมาย และสถานที่ราชการนั้น ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็สง่างามได้ หากนักการเมืองจะรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนตน และคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่”

สุดท้าย พี่นา ยืนยันว่า จะร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน เด็กนักเรียน และผู้ปกครองคนอื่นๆ เพื่อให้รัฐบาลยกเลิกความคิดที่จะใช้พื้นที่บริเวณเกียกกายก่อสร้างอาคารรัฐสภาหลังใหม่

“รัฐบาลอยากได้อาคารรัฐสภาที่สง่างาม แต่ถ้าอาคารหลังนั้นถูกสร้างอยู่บนความทุกข์ร้อนของผู้อื่นมันจะสง่างามได้อย่างไร”
กำลังโหลดความคิดเห็น