xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.นำร่อง 12 โรงเรียนใช้อี-เลิร์นนิงสอนนักเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ.นำร่องใช้ระบบ อี-เลิร์นนิง 12 โรง ปลายกันยานี้ ด้าน “ชินภัทร” เผยการสอน อี-เลิร์นนิงเสมือนการทำละคร 1 เรื่อง เพราะครูจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนการสอนที่ละเอียด และระบบยังช่วยให้เด็กสามารถโต้ตอบกับครูได้

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เผยความคืบหน้าโครงการอีเลิร์นนิ่ง (E-Lanning) ว่า โครงการนี้มีอยู่ 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. ระบบการสื่อสารและฮาร์ดแวร์ คือ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานในการเรียนการสอน 2 ประเภท ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ทางไกลเพื่อการศึกษา และสื่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยจะนำสื่อมาผสมผสานกันในลักษณะการให้ครูสอนผ่านสื่อทีวีต้นทาง และเด็กเองก็สามารถโต้ตอบกับครูผ่านอินเทอร์เน็ตในรูปแบบ vdo conference จะประกอบด้วย อุปกรณ์ให้กับห้องเรียนปลายทางรองรับได้ เช่น จอภาพโปรเจกเตอร์และระบบเสียง เป็นต้น 2.ดำเนินการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยจะระดมครูที่มีความสามารถทางด้าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จากโรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนกวดวิชา มาร่วมกันพัฒนาหลักสูตร โดยวางแผนว่าจะดำเนินการในช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-ม.3)

โดยมีแตกต่างจากการสอนทางไกล ครูต้นทางจะต้องเป็นผู้คิด วางแผนการสอนอย่างละเอียด คล้ายกับการสร้างละคร 1 เรื่อง เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ ครูจะต้องวางแผนตลอดปีการศึกษา กำหนดว่า ในแต่ละคาบ หรือ 50 นาที สอนเรื่องอะไร ทดลอง ครูจะต้องนำสิ่งเหล่านั้นมาประชุมร่วมกับผู้ทำงานในส่วนมัลติมีเดีย เพื่อจัดทำสื่อ กราฟฟิกที่จะใช้ประกอบระหว่างการสอน เพื่อให้เด็กเห็นภาพ ในตอนท้ายของคาบเรียนก็อาจจะมีกิจกรรมให้ทำ ซึ่งตรงนี้จะต้องให้ครูปลายทางจะดูแลเด็กเป็นคนแจกเพื่อประเมินตัวเด็กจากการเรียน หากนักเรียนมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามครูต้นทางได้

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เชิญครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ด้านละ 12 คนมาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกำหนดว่าใน 1 ปีการศึกษา ในแต่ละวิชาควร จะกำหนดรูปแบบการสอนแต่ละวิชาเช่นไร เรียงลำดับหัวข้อใหญ่เรื่องใดก่อน รายละเอียดเนื้อหา นอกจากนี้ทางคณะทำงานจะได้ตรวจสอบสื่อการเรียนการสอนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีอยู่ 80 เรื่อง และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มี 700 เรื่อง มาคัดสรรหาเรื่องที่ดีเพื่อต่อยอดใช้ในการเรียนสำหรับเด็ก และพัฒนาเพิ่มเติมด้วย

“ปลายกันยายนนี้ จะเริ่มทดลองนำร่อง เพื่อจำลองของจริง และดูความเป็นไปได้ว่าสมบูรณ์หรือต้องแก้ไขอะไร โดยจะใช้ชุดการสอนทบทวนเนื้อหาภาคเรียนที่ 1/2551 ของทั้ง 3 กลุ่มสาระวิชาๆ ละ 6 คาบ ใน 12 โรงทั่วประเทศ ซึ่ง สพฐ.จะเป็นผู้คัดเลือก แล้วเดือนพฤศจิกายน จะขยายการสอนเต็มรูปแบบให้ได้จำนวน 280 โรง ในปี 2553 จะขยายได้ 1,200-1,500 โรง และในปี 2554 เป็นต้นไป คาดว่า จะขยายครอบคลุมทั่วประเทศ” ดร.ชินภัทร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น