xs
xsm
sm
md
lg

WHO คาดอีก 12 ปี ปัญหาทางจิตทำเสียสุขภาพพุ่ง 16.4 เปอร์เซ็นต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ อีก 12 ปี ข้างหน้าปัญหาทางจิตเป็นเหตุสูญเสียทางสุขภาพพุ่งเป็น 16.4%

วันที่ 15 สิงหาคม ที่กรมสุขภาพจิต ศ.นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมวิชาการด้านสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ สุขภาพจิตสู่ ค.ศ.2020 ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาสู่สุขภาพจิตที่ดีกว่าของเอเชีย จะมี นพ.เบเนเด็ดโต ซานาซีโน ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพจิตและการติดยาขององค์การอนามัยโลกเข้าร่วมเป็นวิทยากร

ทั้งนี้ นพ.เบเนเด็ดโต ได้คาดการณ์ว่า ปัญหาทางจิตและติดยาจะเป็นสาเหตุ 12.3% ของการสูญเสียด้านสุขภาพในปี 2000 และจะเพิ่มเป็น 16.4% ในปี 2020 หรือในอีก 12 ปีข้างหน้า และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลด้วยอาการป่วยทางกาย จะมีผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 4 คนที่มีอาการป่วยทางจิตร่วมด้วย ดังนั้นจึงควรให้ความสนใจด้านการป้องกันและรักษาโรคทางจิตเวช

นอกจากนี้ นพ.เบเนเด็ดโต ยังกล่าวถึงปัญหาทางด้านสุขภาพจิตในประเทศกำลังพัฒนา ว่า พบบ่อยในคนจน และยิ่งจะทำให้เกิดภาวะความสูญเสียจากการทำงาน และมีแนวโน้มทางความกดดันด้านเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตมากขึ้น อีกทั้งประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จัดสรรงบประมาณด้านการป้องกันและรักษาโรคทางด้านสุขภาพจิตน้อยกว่า 1% ของประมาณทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ได้เสนอแนะด้วยว่าควรให้แต่ละประเทศให้ความสำคัญ และศึกษาความคุ้มค่าในการป้องกันและรักษาโรคทางจิตมากขึ้น รวมถึงเพิ่มสถานพยาบาลเพื่อให้บริการสุขภาพจิตทั่วไปและควรจัดสรรงบประมาณสำหรับการดูแลสุขภาพจิตของประชากรให้เพิ่มมากขึ้น” ศ.นพ.พิเชฐ กล่าว

ศ.นพ.พิเชฐ กล่าวต่อว่า นอกจาก นพ.เบเนเด็ดโต แล้ว ยังมี ศ.นพ.นอร์แมน ซาโทเรียส อดีตผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล และนักวิชาการอีกหลายท่านเข้าร่วมการประชุมนี้ โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคทางจิตรูปแบบใหม่ อาทิ จิตบำบัดแนวพุทธของไทย จิตบำบัดแนวเซนจากประเทศญี่ปุ่น อินเทอร์เน็ตเทอราปีของประเทศออสเตรเลีย โดยจุดเด่นการประชุมนี้จะเป็นการมองภาพในการพัฒนาในอีก 12 ปีข้างหน้า เป็นเรื่องราวข้อมูลใหม่ แนวโน้มใหม่ และการรักษาใหม่ที่จะช่วยพัฒนาการรักษาแบบเดิมให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

ด้าน นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการข้อมูลขององค์การอนามัยโลก คาดการณ์อีกว่า ในปี 2020 ปัญหาสุขภาพจิตของประชากรทั่วโลกจะเพิ่มเป็นสาเหตุการป่วยอันดับ 2 ของประชากรโลกรองจากอันดับ 1 โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งสถิติในปัจจุบัน พบว่า มีประชากรมีปัญหาทางจิต ตั้งแต่เครียด กังวล หรือเป็นโรคทางจิต อย่างโรคออทิสติก ปัญญาอ่อน ไปจนถึงโรคซึมเศร้านำสู่การฆ่าตัวตายมีประมาณ 10% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนมีประชากรประมาณ 500-600 ล้านคนก็มีผู้มีปัญหาทางจิตประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งเฉพาะในไทยคาดว่ามีประมาณ 5-6 ล้านคน

“ประเทศไทยถือว่ามีการให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพจิตดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ เพราะมีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลด้านสุขภาพจิตเป็นกรม แต่เมื่อเทียบงบประมาณที่ต้องดูแลประชากรทั้งประเทศ จากงบของกรมปีละประมาณ 2 พันล้านบาท กับประชากร 63 ล้านคน คิดเป็นค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพจิตประมาณ 35 บาทต่อหัวต่อปี ก็อาจจะเรียกว่าน้อย แต่ก็ถือว่าในภาพรวมงบทางด้านสาธารณสุขที่รัฐบาลจัดสรรให้มีประมาณ 5-6% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งก็ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” นพ.มล.สมชาย กล่าว

สำหรับงานวิชาการด้านสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ สุขภาพจิตสู่ ค.ศ.2020 ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาสู่สุขภาพจิตที่ดีกว่าของเอเชีย ระหว่างวันที่ 26-29 ส.ค.โดยไทยเป็นเจ้าภาพตัดที่รอยัล พารากอนฮอลล์ สยามพารากอน โดยมีจิตแพทย์และนักวิชาการจากหลายภูมิภาคทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมนี้ ทั้งประเทศในอาเซียน รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมไปถึงเอเชียใต้ อย่างอินเดีย บังกลาเทศ ฯลฯ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น