อธิบดีกรมแพทย์เตือนมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นมฤตยูเงียบคร่าชีวิตคนไทย แนะควรให้ความสำคัญโดยตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เพราะในระยะแรกไม่แสดงอาการแต่ป้องกันได้หากตรวจพบ แต่เนิ่น ๆ
วันนี้ (7 ส.ค.) ที่ศูนย์มะเร็งลำปาง จังหวัดลำปาง นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของประเทศไทยในปี 2541-2543 ( Cancer in Thailand Vol.IV, 1998-2000 ) พบอัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเพศชายรองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด โดยมีอุบัติการณ์ 8.8 ต่อประชากร 1 แสนคน และในเพศหญิงพบอัตราการเกิดโรคเป็นอันดับ 5 รองจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งปอด คิดเป็น 7.6 ต่อประชากร 1 แสนคน ทั้งนี้อัตราส่วนการเกิดโรคระหว่างเพศชายต่อเพศหญิงคิดเป็น 1.24 ต่อ 1 และ พบมากในช่วงอายุ 40 ปี ขึ้นไป โดยยิ่งอายุมากขึ้นอุบัติการณ์จะมากขึ้นด้วย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และเขตเมืองใหญ่ โดยมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบประเทศตะวันตก ปัจจัยเสี่ยงของโรคดังกล่าว ได้แก่ การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มาก ไขมันสูง กากใยน้อย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ มีอาการถ่ายผิดปกติท้องผูกสลับท้องเสีย โรคนี้จะไม่ปรากฏอาการในระยะแรกแต่หากพบการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย เช่น อุจจาระเป็นมูกเลือด คลำพบก้อนบริเวณท้อง มักจะเป็นระยะที่ลุกลามแล้ว
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับทวารหนักและลำไส้ใหญ่ แผลอักเสบเรื้อรัง ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ รวมทั้งผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรรับการตรวจประเมินลำไส้ใหญ่โดยละเอียด ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคดังกล่าว เช่น การตรวจอุจจาระซึ่งทำได้สะดวก รวดเร็ว และสิ้นเปลืองน้อย การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้งแบเรียมเข้าทางทวารหนักแล้วถ่ายเอกซเรย์ และการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อดูรอยโรคและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวิเคราะห์ สำหรับการรักษาจะได้ผลดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระยะของโรค จะเห็นได้ว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกๆ
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โรคมะเร็งในภาคเหนือก็เช่นเดียวกัน พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการศึกษาวิจัยทะเบียนมะเร็งภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และพิษณุโลก ซึ่งเป็นตัวแทนของ 16 จังหวัดภาคเหนือ พบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งในเพศชายสูงขึ้นอย่างมากในมะเร็งปอด มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ สำหรับเพศหญิงพบมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด เป็น 3 อันดับแรกที่มีอัตราการเกิดโรคสูงและเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการเกิดโรคมะเร็งในภาคเหนือมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าอัตราการเกิดโรคมะเร็งของประเทศโดยเฉพาะมะเร็งปอดและมะเร็งตับ
สถาบันมะเร็งแห่งชาติร่วมกับศูนย์มะเร็ง ลำปาง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดโครงการรณรงค์ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ระหว่างวันที่ 7-8 สิงหาคม 2551 ณ ศูนย์มะเร็ง ลำปาง กิจกรรมประกอบด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 100 คน การอบรมเทคนิคการรณรงค์ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 250 คน เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการตรวจวินิจฉัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ และการให้บริการตรวจค้นหากลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สำหรับประชาชน จำนวน 600 คน ได้แก่ การตรวจ Gastroscopy, Colonoscopy และการตรวจหาเลือดในอุจจาระด้วยวิธี Immunochemical test เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้และเห็นความสำคัญของการตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก โดยได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องทางการแพทย์