xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.จับมือ สธ.พัฒนาสุขภาวะเด็กเพื่อคุณภาพการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ.-สธ.จับมือร่วมกันพัฒนาสุขภาวะของเด็ก เพื่อให้เกิดผลดีต่อคุณภาพการศึกษา กรมอนามัยพบเด็ก 2 ล้านคนมีปัญหา เตี้ย สายตาผิดปกติ หูตึง สธ.เตรียมงบ 10 ล้าน ตรวจสุขภาพนักเรียนเดือนกันยานี้

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามความร่วมมือการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อสร้างสุขภาวะ โดย นายวิชาญ กล่าวว่า มีเป้าหมายพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาสร้างสุขภาพและลักษณะของนักเรียนในสังกัด ศธ.ตั้งแต่ระดับอนุบาล-อาชีวศึกษา จำนวนกว่า 10 ล้านคน เป็นระยะเวลา 3 ปี (2551-2553) เน้น 3 เรื่องหลัก คือ การสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตนักเรียนในทุกมิติ การเสริมสร้างสุขภาวะทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญา และการป้องกันปัญหาที่มีต่อนักเรียน เช่น การออกกำลังกาย อาหาร ส้วม การคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงเรื่องการเล่นเกมซึ่งเป็นเกมอันตรายได้สั่งการให้กรมสุขภาพจิต ไปดูแล เป็นต้น โดยจะพัฒนาผ่าน ร.ร.ทีได้รับการประกาศให้เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ 31,633 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 94 ของโรงเรียนทั่วประเทศ

“เรามีนโยบายส่งเสริมสุขภาพเด็กให้สามารถศึกษาได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะเน้นดูแลโรคที่เรื้อรังรักษาไม่หายขาด เช่น โรคเบาหวาน นอกจากนี้ กรมอนามัยได้สำรวจ พบว่า เด็กกว่า 2 ล้านคน มีปัญหาหลายเรื่อง ทั้งเตี้ย สายตาผิดปกติ หูตึง ปัญหาอ้วน ยาเสพติด สุขภาพจิต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สธ.ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการปีละ 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้นำนักเรียนในการตรวจสุขภาพ และในเดือน กันยายน นี้จะรณรงค์ให้เด็กออกกำลังกายหลังเคารพธงชาติครั้งละ 10 นาทีทุกวันเพื่อปลูกฝังให้เด็กรักการออกกำลังกาย”

นายสมชาย กล่าวว่า โครงการเกี่ยวกับสุขภาพของนักเรียน เป็นโครงการที่ตรงกับความต้องการของ ศธ.ที่จะดำเนินการ เช่น เรื่องสุขา แต่ไม่ว่าจะเป็นโครงการใด ถ้าทำแล้วเกิดประโยชน์กับประชาชน เด็ก หรือ ผู้ปกครอง ก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น และในภาพรวมก็เป็นโครงการที่รัฐบาลต้องดำเนินการให้เกิดขึ้น สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ โดยทั่วไปแล้วงานบริการด้านนี้จะไปเน้นที่ สธ.เพราะ ศธ.และการทำความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างกันครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกัน หากทำเพียงฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จ เพราะลำพัง ศธ.มีความต้องการจะดูแลเรื่องสุขภาพของเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็ทำได้ แต่ไม่ครบวงจรและไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการให้มืออาชีพอย่าง สธ.ซึ่ง 2 กระทรวงจะช่วยกันผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อประโยชน์แก่เด็กนักเรียนและประชาชนอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น