xs
xsm
sm
md
lg

เตือน! แม่มือใหม่ตามใจปาก-กินเผ็ด ส่งผลน้ำนมเผ็ดด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตือนแม่มือใหม่ อย่าตามใจปาก กินอาหารเผ็ดจัด ส้มตำรสแซ่บต้องห้าม ชี้ส่งผลน้ำนมแม่เผ็ดไปด้วย รวมถึงอาหารบรรจุเสร็จ-ขนมอบ-เบเกอรี่ กินมากไขมันเยอะ มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในท้อง กระทบคุณภาพน้ำนม แถมลูกโตเสี่ยงเบาหวาน แนะเลือกอาหารรสร้อนยำหัวปลี-แกงเลียง สมุนไพร กะเพรา พริกไทย ขิง ฟังทอง


วันที่ (6 ส.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล ในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 2 เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลก ซึ่งจัดโดยศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรระดับ 6 รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า อาหารต้องห้ามสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ คือ อาหารที่มีไขมันที่ไม่จำเป็นกับร่างกาย อาหารแปรรูป เช่น อาหารบรรจุเสร็จ ขนมอบ เบเกอรี่ เพราะอาหารเหล่านี้มีสัดส่วนของไขมันที่ไม่จำเป็นค่อนข้างสูง มีผลรบกวนการสร้างไขมันที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก และมีผลต่อคุณภาพของน้ำนมแม่ที่จะให้ลูกด้วย

“การวิจัยในต่างประเทศพบว่า แม่ที่ทานอาหารที่มีไขมันไม่จำเป็นมากเกินไป ลูกที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักมาก เมื่อโตขึ้นมีแนวโน้มจะเสี่ยงป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วย ซึ่งคุณแม่ก็จะมีรูปร่างอ้วนหลังตั้งครรภ์ หุ่นไม่กลับไปสวยเหมือนเดิมได้” ภญ.ผกากรอง กล่าว

ภญ.ผกากรอง กล่าวอีกว่า อาหารที่คุณแม่ซึ่งต้องให้นมบุตร ควรรับประทานคือ อาหารกลุ่มรสร้อน แต่ไม่ใช่เผ็ด อาทิ แกงเลียง ยำหัวปลี แกงส้ม ทั้งนี้ ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ตำราการแพทย์แผนไทยระบุว่า ช่วยสร้างการไหลเวียนของโลหิต และทำให้น้ำนมของแม่เพิ่มขึ้น อาทิ กะเพรา พริกไทย ขิง ฟักทอง มะรุม เม็ดขนุน ใบแมงลัก กานพลู กุยช่าย ตำลึง

“ผลไม้ที่เหมาะกับคุณแม่ ยังมี มะละกอ ที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง ฟอสฟอรัส วิตามินเอ บี ซี และมีเอนไซม์ที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย รวมถึงมีเส้นใยอาหารในปริมาณมากด้วย จะทานสุกก็ได้ หรือถ้าดิบมักใส่ในแกงส้ม หรือจะเป็นส้มตำก็ได้เช่นกัน แต่ไม่ควรมีรสเผ็ด เพราะรสร้อนที่ช่วยให้มีน้ำแม่เพิ่มนั้น ต่างจากรสเผ็ด ถ้าทานส้มตำรสเผ็ดเพื่อหวังได้ทานมะละกออาจส่งผลให้บุตรได้รับรสเผ็ดจากน้ำนมแม่ด้วยเช่นกัน”ภญ.ผกากรอง กล่าว

พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร รองประธานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นมแม่มีประโยชน์กว่านมวัว แต่สิ่งที่ค้นพบจากการวิจัยของทั่วโลกพบว่า หากเด็กที่ได้รับนมแม่เมื่อตอนโตขึ้นจะลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมากมาย อาทิ ลดโอกาสเสี่ยงต่อป่วยเป็นโรคเบาหวานในตอนโตถึง 40%โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว 20% โรคอ้วน 22% นอกจากนี้ยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งสมองอีกด้วย

ทั้งนี้ ในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 2 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค.2551 ในวันที่ 7 ส.ค.เวลา 16.00 น.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จเป็นองค์ประธานทรงเปิดงานประชุมอย่างเป็นทางการ ซึ่งภายในงานมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับนมแม่มากมาย อาทิ การเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเครือข่ายเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จจากทั่วประเทศ, แพทย์แผนไทยกับการดูแลหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด, สาธิตประโยชน์ของKangaroo Mother Care ซึ่งเป็นการอุ้มลูกซบที่อกแม่ตลอดเวลาเหมือนจิงโจ้ เพื่อให้ลูกได้ไออุ่นแม่
กำลังโหลดความคิดเห็น