xs
xsm
sm
md
lg

เห็นชอบแผนบริหาร กทม.“เมืองน่าอยู่” อย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายแผนบริหารราชการ กทม.เห็นชอบแผนบริหารราชการ กทม.2552-2555 เพื่อพัฒนา กทม.ให้เป็นเมืองน่าอยู่ อย่างยั่งยืน คาดเดือน ส.ค.นี้เริ่มปฏิบัติการตามแผน

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายแผนบริหารราชการ กทม.ปี 2552-2555 และการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนภายใน 12 ปี ว่า หลังจากที่ กทม.ได้ว่าจ้างศูนย์บริหารวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาและจัดทำแผนบริหารราชการ กทม.และวันนี้ คณะกรรมการได้เห็นชอบกรอบแผนบริหารราชการ กทม.ตามที่สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล นำเสนอ ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนา กทม.รอบใหม่นี้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เป็นระยะยาว 12 ปี ทำแผนบริหารเป็น 3 ช่วงๆ ละ 4 ปี เริ่มระยะแยกปี 2552-2555 แบ่งเป็นการพัฒนา 3 ระดับ ประกอบด้วย 1.การพัฒนาให้ กทม.เป็นศูนย์กลางภูมิภาค (Gateway) 2.การพัฒนาเมืองให้เป็นเมื่อน่าอยู่ (Green City) และ 3.การพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี (Good Life)

นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ในส่วนของการปฏิบัติจะมีการขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ 1.ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางภูมิภาค โดยมีการเชื่อมโยงกับจังหวัดปริมณฑลเพื่อวางแผนทางเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคมขนส่ง และสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ 2.ยุทธศาสตร์เสริมสร้างบรรยากาศและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจ กทม.เพื่อจัดสัมมนาและประชุมทางการค้า ให้เงินอุดหนุนการเข้าร่วมแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในต่างประเทศและเป็นที่ปรึกษาแก่ SMEs 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนา กทม.ให้เป็นเมืองสภาพแวดล้อมที่ดี ด้วยการจัดทำวาระกรุงเทพฯ สีเขียว(Bangkok Green) 4.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และได้รับการพัฒนาสุขภาพร่างกาย และ 5.ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อเป็นองค์กรต้นแบบด้านการบริหารมหานคร โดยจะมีการก่อตั้ง Think Tank หรือสถาบันวิจัยนโยบาย กทม.ที่มีลักษณะเป็นคลังสมองในการพัฒนา กทม.

ทั้งนี้ คาดว่า ภายในเดือน ส.ค.นี้ จะสามารถออกเป็นแนวทางปฏิบัติดำเนินงาน และมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงนำไปดำเนินการต่อไป ส่วนตัวชี้วัดที่จะมาประเมินผลว่าแผนบริหารราชการกทม.ประสบความสำเร็จจะมีองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งมีทั้งองค์การสิ่งแวดล้อมโลก หรือ UNEP และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เข้ามาประเมิน นอกจากนี้ ยังจะมีบริษัท เมอร์เซอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ เข้ามาร่วมประเมินด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น