xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งผลิตพยาบาลล้างไตหลักสูตร 4 เดือน ตั้งเป้าเข้าถึงผู้ป่วย 600 รายภายใน ก.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมพยาบาลล้างไตทางช่องท้องหลักสูตร 4 เดือน จำนวน 70 คน รุ่นแรกของประเทศไทย รองรับการขยายบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องในปีนี้ 100 แห่ง ตั้งเป้าเพิ่มการเข้าถึงผู้ป่วยให้ได้ 600 ราย และเพิ่มให้ได้ 3,000 ราย ภายในปี 2552
ภาพจากเว็บไซต์
วันนี้ (27 ก.ค.) นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ.ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล ชมรมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมพยาบาลจากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ในหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้อง จำนวน 70 คน นับเป็นรุ่นแรกในประเทศ รับรองโดยสภาการพยาบาล ใช้เวลาอบรม 4 เดือน ที่วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน ถึง 31 ตุลาคม 2551 นี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของพยาบาลวิชาชีพรองรับบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และต้องล้างไตทางช่องท้องในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะขยายบริการครอบคลุมทุกจังหวัด ในโรงพยาบาล 100 แห่งทั่วประเทศภายในเดือนตุลาคม 2551 นี้

“ไทยมีพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องเพียง 15 คน จึงต้องเร่งจัดอบรมพยาบาลเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ได้รับการดูแลทั่วถึงยิ่งขึ้น เนื่องจากการล้างไตทางช่องท้องนี้ เป็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล พยาบาลโรคไต 1 คน จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ประมาณ 50-75 คน” นพ.ปราชญ์ กล่าวและว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีประมาณ 18,000 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 15,000 ราย หลังจากเริ่มให้บริการ ล้างไตผ่านทางช่องท้องเมื่อเดือนมกราคม 2551 เพียง 1 เดือน มีผู้ป่วยใหม่เข้ารับบริการกว่า 100 ราย และขึ้นทะเบียนรอคิวอีกจำนวนมาก สธ.จึงได้เร่งเพิ่มบริการ ตั้งเป้าให้ได้ 600 รายภายในเดือนกันยายน 2551นี้ และภายในปี 2552 จะเพิ่มให้ได้ 3,000 ราย

ทางด้านนพ. เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคไตวายที่พบขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตอักเสบ นิ่วในไต การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีข้อจำกัดที่ผู้ป่วยต้องมารับบริการที่สถานบริการ สัปดาห์ละ 1-3 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละ 4-5 ชั่วโมง ส่วนการล้างไตทางหน้าช่องท้อง ในไทยใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 จนถึงปัจจุบันได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ เป็นทางเลือกที่ได้ผลดี เหมาะสมกับประเทศไทย ผู้ป่วยที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว สามารถทำเองที่บ้านได้ และมาพบแพทย์ทุก 2-3 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น