xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.หวั่นราคายาพุ่ง ล้อยุคข้าวยากหมากแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้ ข้าวยากหมากแพง เนื้อสัตว์บกแพงสุด รองลงมาอาหารแห้ง เครื่องกระป๋อง ส่วนค่าผัก ผลไม้ เป็นหมวดเดียวที่ราคาถูกลง 11.44% ขณะที่ สปสช.ไม่ห่วงข้าวแพง หวั่นราคายาแพงมากกว่า เผยจัดซื้อสูง ปีละ 3 หมื่นล้านบาท

นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงปัญหาโครงสร้างราคาข้าว เนื้อสัตว์ อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบให้ต้องเพิ่มงบประมาณค่าอาหารของผู้ป่วยสามัญในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า เฉพาะโรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ ได้ทำสัญญาจัดซื้ออาหารงวดที่ 2 ของปีงบประมาณ 2551 เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เป็นเงินทั้งสิ้น 15,275,385.90 บาท โดยค่าอาหารปรับตัวสูงขึ้นกว่าการจัดซื้องวดแรกเมื่อ 6 เดือนเกือบทุกรายการ โดยแบ่งเป็น 6 หมวด โดยเฉพาะหมวด ก.เนื้อสัตว์บก มีกากรปรับราคาสูงขึ้นมากที่สุด ได้จัดซื้อเป็นเงิน 5,424,840 บาท จากเดิม 4,645,180 บาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.78 รองลงมาคือ หมวด ฉ.อาหารแห้ง ของเค็ม และเครื่องกระป๋อง ซึ่งเป็นหมวดเดียวที่ทางโรงพยาบาลต้องยกเลิกการประมูลเปลี่ยนเป็นการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ มีสัญญานานเพียง 2 เดือน เป็นเงิน 2,402,000.90 บาท จากเดิม 6,371,645 บาท ซึ่งมีสัญญานาน 6 เดือน

นพ.เรวัต กล่าวต่อว่า ส่วนหมวด ข.เนื้อสัตว์น้ำ จัดซื้อ 1,666,820 บาท จากเดิม 1,616,060 บาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.14 หมวด จ.ขนม จัดซื้อ 1,728,435 บาท จากเดิม 1,690,705 บาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.23 และหมวด ค.ไข่ จัดซื้อ 833,500 บาท จากเดิม 830,850 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.32 อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า มีอาหารเพียงหมวดเดียวคือ หมวด ง.ผักสด ผลไม้ มีราคาถูกลง ร้อยละ 11.44 โดยจัดซื้อเป็นเงิน 3,219,990 บาท จากเดิม 3,636,090 บาท

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แม้ราคาข้าว เนื้อสัตว์ จะปรับตัวสูงขึ้น แต่เชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก เพราะงบประมาณสำหรับจัดซื้ออาหารมีอัตราน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านสาธารณสุขทั้งระบบ คือ ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2 จากทั้งหมดประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาค่าจัดซื้ออาหารจะรวมอยู่ในงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“ปัญหาราคาข้าวสาร อาหารแพง คงจะไม่มีปัญหามากนัก โดยในปีนี้ 2552 สปสช.ได้เสนอของบเหมาจ่ายรายหัว เพิ่มขึ้นเป็น 2,312.48 บาท จากเดิม 2,100 บาท แต่หากเป็นเรื่องโครงสร้างราคายาปรับตัวสูงขึ้น จะมีผลกระทบมากกว่า เพราะงบประมาณจัดซื้อยาสูงถึง 1 ใน 3 ของงบประมาณสาธารณสุขทั้งหมด หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 30”นพ.วินัย กล่าวว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น