xs
xsm
sm
md
lg

พิสูจน์ “สาวไตหาย” พาทำ MRI พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชาญ  มีนชัยนันท์
แพทยสภา ไม่ฟันธง ไตหายไปไหน นัดพิสูจน์หาความจริงอีกรอบพรุ่งนี้ พาตรวจเอ็มอาร์ไอด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ให้ผลชัดเจน สันนิษฐานไม่มีไต แต่กำเนิด-ไตฝ่อ-ผลอัลตราซาวนด์ แจ้งมีไตครบผิดพลาด-ถูกขโมยไต เผย ผ่าซีสต์มดลูกล้วงถึงไตทำได้ยาก ด้าน สธ.ตั้งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลราชวิถี 3 สาขา ร่วมกับแพทยสภา เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลอัลตราซาวด์และเอ็กซเรย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่เคยรักษา 3 แห่ง กับผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ รพ.ราชวิถี แต่อ่านผลได้ไม่ชัดเจน คาดรู้ผลในต้นสัปดาห์หน้า


วันนี้ (16 ก.ค.) นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการพิสูจน์หาไตของของนางเกษร พุ่มแจ่ม อายุ 43 ปีจ.สมุทรปราการ หลังจากที่ผ่าตัดซีสต์ที่มดลูก เมื่อปี 2549 ที่โรงพยาบาลเอกชน แล้วไตหายไปนั้น ว่า จากข้อสันนิษฐานพบว่า สาเหตุการมีไตข้างเดียวของ นางเกษร มี 4 ประการ คือ 1.ไม่มีไตข้างขวาตั้งแต่กำเนิด หรือ 2.มีการฝ่อไปของไตขวาเนื่องจากอาการไตวาย ซึ่งภายในระยะเวลา 2 ปี ก็สามารถฝ่อเล็กลงไปได้เช่นกัน หรือ 3.การอ่านผลการตรวจอัลตราซาวนด์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2548 ของโรงพยาบาลกรุงเทพพระประแดง เกิดการผิดพลาด ซึ่งหากผิดจริงถือว่า มีความผิดฐานรักษาไม่ได้มาตรฐานด้วย และ 4.ไตขวาของ นางเกษร ถูกขโมยและหายไปจริงๆ

“อย่างไรก็ตาม ทางแพทยสภาก็ยังไม่สรุปว่าเป็นตามข้อสันนิษฐานใด จะเป็นการขายไตเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ หรือเป็นการไม่มีไตแต่กำเนิด หรือไตฝ่อ แม้ว่าโอกาสของการไม่มีไตขวาตั้งแต่กำเนิดจะพบน้อยมากในประชาชนทั่วไป แต่ถือว่ามีโอกาสเกิดมากกว่าที่แพทย์ผ่าตัดเอาไตไปเปลี่ยนอวัยวะให้กับผู้อื่น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เนื่องจากแผลของการผ่าตัดอยู่บริเวณหัวเหน่า การผ่าตัดเปลี่ยนไตจึงเป็นไปได้ยากมาก และหากดำเนินการจริงจะต้องล้วงผ่านลำไส้ ม้าม ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยากมาก ประกอบกับการผ่าตัดเปลี่ยนไตไม่สามารถใช้เวลาได้เพียง 30 นาทีเท่านั้น อีกทั้งประสิทธิภาพของโรงพยาบาลกรุงธน 2 ที่ทำการผ่าตัดซีสต์ไม่เพียงพอที่จะผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะได้ รวมทั้งต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและถือว่าเป็นผ่าตัดใหญ่ อีกทั้งก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะต้องมีการตรวจสอบความเข้ากันของเนื้อเยื่อก่อนด้วย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แพทยสภาจะส่งเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการจริยธรรมของแพทยสภา โดยไม่ต้องมีการร้องเรียน อีกทั้งจะพานางเกษรไปตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ) ที่ศูนย์เอ็มอาร์ไอประชาชื่น ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นย้ำและชัดเจน ในวันที่ 17 ก.ค.เวลา 08.30 น.เพื่อพิสูจน์ว่าไตหายไปจริงด้วยการขโมย หรือว่าไตฝ่อ โดยหากตรวจแล้วพบว่า มีรูท่อไตทั้ง 2 ข้าง แสดงว่า มีไตไม่ได้พิการแต่กำเนิด และเนื่องจากผลการตรวจที่โรงพยาบาลราชวิถี พบว่า มีไตด้านขวา 2 เซนติเมตร จึงน่าจะเป็นการฝ่อของไตมากกว่าการผ่าตัดอวัยวะ เนื่องจากการผ่าไตเพื่อปลูกถ่ายจะต้องผ่ารวมไปถึงท่อกรวยไตด้วย

จนกระทั่งเวลา 16.30 น.นางเกษร เดินทางมายังแพทยสภา เพื่อนำข้อมูลมาให้กับคณะกรรมการแพทยสภาพิจารณา อาทิ ฟิล์มเอกซเรย์เปรียบเทียบระหว่างวันที่ 24 ธ.ค.2548 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพพระประแดง ได้อัลตราซาวนด์ว่า มีไตกับ ก.ค.2551 ที่โรงพยาบาลบางปะกอก3 แจ้งว่าไม่มีไตข้างขวา

นางเกษร กล่าวว่า หลังจากที่ได้ตรวจซีทีสแกนที่โรงพยาบาลราชวิถีเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ก็ยังไม่มีแพทย์หรือพยาบาลมาอธิบายว่าเพราะเหตุใดไตขวาถึงหายไป ไม่ได้รับความกระจ่างใดๆ เลย ซึ่งตนมีความสงสัยว่าการผ่าตัดซีสต์ที่มดลูกในปี 2549นั้นจะกระทบต่อไต ทำให้ไตฝ่อได้หรือไม่ด้วย

นพ.ณรงค์ ธาราเดช ศัลยแพทย์ช่องท้องโรงพยาบาลอุดรธานี และกรรมการราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผ่าตัดไตมี 3 ช่องทาง คือ การผ่าตัดทางช่องท้อง ซึ่งจะมีแผลในแนวตั้ง 2 การผ่าตัดโดยมีแผลบริเวณสีข้าง และ3 การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ทั้งนี้เนื่องจากไตอยู่บริเวณด้านหลัง หากผ่าตัดผ่านด้านหน้าจะต้องผ่านลำไส้ใหญ่และเปิดม้าม ซึ่งเป็นไปได้ยากมากและต้องใช้เวลาพอสมควร

“ส่วนประเด็นเรื่องที่การผ่าตัดซีสต์มดลูกจะกระทบการผ่าตัดไตนั้น ถือว่าเป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะการผ่าตัดซีสต์หรือขูดผังพืด อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อท่อไต ซึ่งสามารถแก้ไขได้ทันทีขณะผ่าตัด แต่ถ้ามีผลกระทบโดยไม่ทราบในระหว่างผ่าตัด กลายเป็นผลแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะปวดหลังอย่างมากหลังผ่าตัด พร้อมกับมีอาการท่อปัสสาวะรั่ว ไตบวมโต ติดเชื้อในช่องท้องได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องไตฝ่อ” นพ.ณรงค์ กล่าว

ด้าน นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อเย็นวานนี้ (15 ก.ค.) ทีมแพทย์ได้ผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่อ่านผลได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากขณะนี้ผู้ป่วยมีภาวะไตเสื่อม ทำงานได้ไม่เต็มที่อยู่แล้ว ดังนั้น ต้องใช้ข้อมูลผลอัลตราซาวนด์และเอกซเรย์ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3 โรงพยาบาลกรุงเทพ-พระประแดง และโรงพยาบาลกรุงธน 2 ที่ผู้ป่วยเคยเข้ารักษาตัวมาก่อน มาประกอบ โดยได้ตั้งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลราชวิถี 1 ชุด ประกอบด้วย รังสีแพทย์ อายุรแพทย์ด้านไต และศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากแพทยสภา เพื่อทำการวิเคราะห์ผลโดยละเอียดและเร็วที่สุด คาดว่า จะทราบผลในต้นสัปดาห์หน้า

ด้าน นพ.ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า จากการตรวจร่างกายของผู้ป่วยรายนี้เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา พบมีรอยแผลผ่าตัดที่บริเวณเหนือหัวเหน่า ยาว 9 เซนติเมตร ไม่มีรายผ่าตัดที่บริเวณสีข้าง ซึ่งเป็นจุดที่ทำผ่าตัดไตแต่อย่างใด ซึ่งในการดูการทำงานของไต ต้องใช้วิธีฉีดสีแล้วทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทำให้เห็นภาพไตได้ชัดเจน แต่ในผู้ป่วยรายในไตทำงานได้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีฉีดสีได้ ทำให้ภาพเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ที่ได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร

กำลังโหลดความคิดเห็น