xs
xsm
sm
md
lg

“อภิรักษ์” ยันรับมือน้ำท่วมเดือน ก.ย.ได้ แม้ห่วงฝนถล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทม.ห่วง ก.ย.นี้ เมืองกรุงเจอฝนถล่ม หลังครบรอบปีพายุใหญ่พัดเข้าอ่าวไทย “อภิรักษ์” ยันเตรียมรับมือป้องกัน-ช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใกล้ชิด

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะผู้บริหาร กทม.เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมปี 2551 ว่า กทม.เตรียมการรับมือน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.ที่จะมีพายุฝน น้ำเหนือไหลมาสมทบ และน้ำทะเลหนุน ตามที่ผู้เชี่ยวชาญประกาศเตือนไว้ ซึ่ง กทม.ได้ประสานการปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานประสานงานพิเศษโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ และจังหวัดใกล้เคียง ในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้รายงานสถิติเฉลี่ย 57 ปี (2494-2550) พบว่า มีพายุพัดเข้าไทยอย่างรุนแรงมีทั้งสิ้น 7 ลูก แต่ละลูกจะเกิดขึ้นในรอบทุกๆ 11 ปีโดยประมาณ เห็นได้จากเหตุการณ์พายุเกย์ เกิดขึ้นในปี 2532 พายุลินดาเกิดขึ้นในปี 2540 และในปีนี้ 2551 ครบรอบ 11 ปีพอดี

นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ส่วนค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝน ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.เมื่อปีที่แล้ว พบว่า สูงสุดในเดือน ก.ย.มีปริมาณ 156.7 มิลลิเมตร ภายในวันเดียว ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้จำลองกรณีฝนตกในพื้นที่ กทม.ทั่วบริเวณ ตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่มีปริมาณเกิน 200 มิลลิเมตร พบว่า ในฝั่งพระนครสามารถระบายน้ำได้ภายใน 40 ชั่วโมง ฝั่งธนบุรี 49 ชั่วโมง ซึ่งเท่าที่ผ่านมาโอกาสที่จะเกิดฝนตกขนาดนี้ยังไม่เคยมี สาเหตุที่จำลองสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อเตรียมการรับมือกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาให้พร้อมที่สุด

ด้าน รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ เชื่อว่า ในช่วงเดือน ส.ค.สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ในช่วงเดือน ก.ย.ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมีสถิติว่าพายุจะเข้ามาในช่วงนี้ เนื่องจากพายุที่มีอิทธิพลต่อ กทม.ในเดือน ก.ย.จะเกิดขึ้นทุกๆ 1 ปีครึ่ง ซึ่งตรงกับรอบปีนี้พอดี ส่วนเดือน ส.ค.จะเกิดทุกๆ 3 ปี ซึ่งยังไม่ครบรอบ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กทม.ได้เตรียมแผนปฏิบัติการในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.ไว้ล่วงหน้าแล้ว คือ มาตรการแรก เป็นระบบการเฝ้าระวัง โดยร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา การประปานครหลวง และกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝนและพายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทย แนวโน้มเวลาก่อตัวของพายุ เพื่อสื่อสารกับประชาชนอย่างทันท่วงที มาตรการที่ 2 คือ แจ้งเตือนประชาชนหากพบว่ามีพายุเข้ามาในพื้นที่ โดยจะติดตามสถานการณ์ในแต่ละสัปดาห์อย่างใกล้ชิด แบ่งปริมาณฝนตกออกเป็นสีๆ ได้แก่ สีเขียว มีปริมาณฝนตกไม่เกิน 60 มิลลิเมตร สีเหลือง ระหว่าง 60-90 มิลลิเมตร สีส้ม 90-120 มิลลิเมตร และสีแดง 120 มิลลิเมตรขึ้นไป หากพื้นที่ใดอยู่ในช่วงวิกฤตจะประกาศแจ้งเตือนไปยังประชาชนและเข้าป้องกันเหตุ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และมาตรการที่ 3 ภายหลังการเกิดเหตุมีการประเมินพื้นที่ความเสียหาย เร่งเข้าบรรเทาทุกข์ประชาชน ซึ่งหากเกิดเหตุรุนแรงจะประสานหน่วยงานทหารเข้ามาเป็นกำลังสนับสนุนร่วมช่วยเหลือ
กำลังโหลดความคิดเห็น