นักวิชาการหนุนปฏิรูปการศึกษา หลัง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใช้มาเกือบ 10 ปี เร่งระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง พร้อมประเมินการเรียนระบบ Child-Center เสนอควรแก้อย่างน้อย 3 จุด พัฒนาครู ยกระดับอาชีวะ และสอนเด็กในโลกสมัยใหม่
นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งจนถึงปัจจุบันเกือบ 10 ปีแล้ว ดังนั้น ตนจึงอยากเสนอให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา จัดระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อวิเคราะห์ว่าการปฏิรูปการศึกษาเมื่อผ่านมา 10 ปีแล้วได้ผลหรือล้มเหลวอย่างไรบ้าง และควรมีการปรับปรุง พัฒนาอย่างไร เพราะการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อยุคสมัยเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งแม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ พยายามที่จะปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับยุคสมัย และตั้งทีมนักวิชาการมาช่วยกันคิด ลดชั่วโมงเรียนไม่ให้เด็กต้องเรียนแน่นจนเกินไป แต่ควรมาประเมินว่า การเรียนรู้โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ Child-Center ควรจะต้องมาทบทวนหรือไม่ ขณะนี้คนทั่วไปเข้าใจไขว้เขวไปจากหลักการเดิมหรือมากน้อยแค่ไหน และการกำหนดเป้าหมายหลักใหญ่ของการศึกษาควรจะเดินไปในทิศทางใด
“ผมว่าการศึกษาขณะนี้เหมือนยาหม้อใหญ่ เราใช้การศึกษาไปแก้ปัญหาทุกอย่างหมด ซึ่งแม้การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาจะทำให้คนตื่นตัวและสนใจการศึกษามากขึ้น แต่แรงผลักดันยังไม่เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ ดังนั้น จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะมายกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ กันใหม่ โดยวิเคราะห์กันจาก พ.ร.บ.การศึกษาฯ 2542 ทั้งในเชิงแนวคิดของ สกศ. ความสอดคล้องในการจัดการศึกษาปัจจุบัน เพื่อมาดูว่าการศึกษาไทยจะมีทางออกอย่างไร และเป็นคำตอบสำหรับในปี 2552 ที่ พ.ร.บ.การศึกษาฯ มีผลใช้มาครบ 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษ ซึ่งน่าจะเป็นจังหวะที่ดีในการจะผลักดันการศึกษาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง” นายไพฑูรย์ กล่าว
นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่นี้ ตนคิดว่า ควรจะเลือกจุดเน้น 2-3 จุด อาทิ เราต้องการสร้างเด็กอย่างไรเพื่อให้อยู่ได้ในโลกสมัยใหม่ การลงทุนเพื่อการพัฒนาครู การผลักดันแก้ปัญหาการอุดมศึกษาทั้งระบบ การยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาไม่ให้สังคมรู้สึกเหมือนเป็นสังคมชั้นสอง เป็นต้น