xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการระบุภาวะโลกร้อนทำน้ำทะเลทะลักท่วม 14-15 เมืองทั่วโลก กทม.โดนด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ MIT ห่วงน้ำทะเลหนุนสูง จนทะลักเข้าสู่บ้านเรือนประชาชน เหตุจากภาวะโลกร้อน ชี้ 14-15 เมืองใหญ่ทั่วโลกได้รับผลกระทบ กทม.ร่วมด้วย ขณะที่รองผู้ว่าฯ กทม.เผย 5 ถนนสายหลักเมืองกรุง มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานส่วนใหญ่เกิดจากการก่อสร้างและเผาหญ้า พร้อมเตรียมจัดประชุมลดมลพิษทางอากาศปลายปีนี้ที่กรุงเทพฯ


วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่สถาบันพัฒนาเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานในการเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “อนาคตเมืองและคุณภาพชีวิตคนเมือง” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชา Urban Studies and Planning Massachusetts Institute of Technology (MIT) ร่วมให้ความรู้เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการเมือง เพื่อเมืองน่าอยู่ โดยมีผู้บริหาร กทม.นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี ข้าราชการระดับ 8-10 ของ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง จำนวน 60 คน ร่วมประชุมด้วยวิธี Practica (Practical Curriculum) ของสถาบัน MIT ที่เน้นภาคปฏิบัติโดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์จากการปฏิบัติงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการพัฒนาเมือง รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาเมือง กล่าวว่า กทม.มีความพยายามในการจัดการกับปัญหาเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และงานด้านการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองก็เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เมืองมีความน่าอยู่ มีการบริหารจัดการที่ดี จึงได้มีสถาบันพัฒนาเมืองขึ้น เพื่อให้การสร้างองค์ความรู้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับเมืองใหญ่ และเมืองในภูมิภาค ด้วยการสัมมนา อบรม วิจัย และการฝึกปฏิบัติจริงจากตัวอย่างความสำเร็จด้านการพัฒนาเมืองด้านต่างๆ

ด้าน ศาสตรจารย์ ราล์ฟ กาเคนไฮเมอร์ (Ralph Gakenheimer) จากสถาบัน MIT กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสำคัญของมนุษยชาติคือปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำในทะเลหรือมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเกิดน้ำทะลักเข้ามาในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะส่งผลกระทบต่อเมืองใหญ่ 14-15 เมืองทั่วโลก และที่สำคัญ ประชาชนเกินครึ่งของเมืองใหญ่เหล่านั้นเป็นประชาชนที่ยากจน ซึ่งหากปล่อยให้ปัญหาลุกลามจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง จึงต้องมีการบริหารจัดการและพัฒนาที่ดี เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มนี้ให้น้อยที่สุด ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ กทม.จะต้องมีการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง

ในบ่ายวันเดียวกันนี้ ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ เขตวัฒนา นางบรรณโศภิษฐ์ ได้เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อหาแนวทางการควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง โดยมีผู้รับเหมาก่อสร้าง และหน่วยงานสาธารณูปโภคของรัฐ และสำนักงานเขต ประมาณ 500 คนเข้าร่วมประชุม

นางบรรณโศภิษฐ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นการเน้นย้ำมาตรการและหาแนวทางลดผลกระทบจากฝุ่นละอองจากการก่อสร้างซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศของกทม.โดยปัจจุบันมลพิษทางอากาศในเขต กทม.พบว่า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นถนน 5 สายที่มีปัญหาจากฝุ่นละอองเกินมาตรฐานมากที่สุด ได้แก่ ถ.ประชาชื่น เขตบางซื่อ ถ.บางนา-ตราด เขตบางนา ถ.เกษตรนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม ถ.พระรามที่ 4 เขตคลองเตย และ ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา โดยถนนในเมืองปัญหาฝุ่นละอองมาจากการก่อสร้างส่วนถนนย่านชานเมือง มาจากการเผาหญ้า ดังนั้น จำเป็นยิ่งที่จะต้องเร่งกำหนดแนวทางและวิธีการที่จะใช้เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 100 ไมครอน หรือ PM10 ที่เกิดจากการก่อสร้างและฝุ่นควัน เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและการเติบโตของเมืองในปัจจุบันส่งผลให้กิจกรรมการก่อสร้างในกทม.มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 มีสถานที่ก่อสร้างในเขตกทม.ถึง 11,000 แห่ง ซึ่งหากไม่มีการควบคุมและจัดการที่ดีจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ และสุขภาพของประชาชนโดยตรง

โดยกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบได้ง่าย ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด ไข้หวัดใหญ่ และโรคหืด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในหลายปีที่ผ่านมาคุณภาพอากาศของกทม.ดีขึ้น อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ไม่ใช่ดีที่สุด จึงจำเป็นที่จะต้องหามาตรการเพื่อปรับคุณภาพอากาศของกทม.อยู่ในเกณฑ์ดีที่สุดให้ได้ เพื่อยกระดับกทม.ให้เป็นเมืองสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยในปลายปี 2551 กทม.จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ หรือ Better Air Quality Workshop 2008 (BAQ) เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นางบรรณโศภิษฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการก่อสร้างในการลดมลพิษทางอากาศจากการก่อสร้าง ประกอบด้วย 1.กำหนดขอบเขตก่อสร้างอย่างชัดเจน 2.จัดทำรั้วทึบรอบบริเวณการก่อสร้างมีความสูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร 3.หากมีการเปิดหน้าผิวดิน ให้ทำเป็นช่วงๆ เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการควบคุมฝุ่นจากการดำเนินงาน เช่น การฉีดน้ำป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย และต้องไม่ให้น้ำที่ฉีดไหลออกนอกบริเวณที่ก่อสร้างลงสู่ผิวถนน 4.จัดทำผ้าใบทึบแสงหรือโปร่งแสงปกคลุมตัวอาคารจนกว่าการดำเนินงานจะแล้วเสร็จ 5.บริเวณปากทางเข้าออกจะต้องทึบตลอดเวลา ทำด้วยวัสดุถาวร เช่น แอสฟัลส์ หรือคอนกรีตเสริมเหล็ก และเปิดเฉพาะมีรถเข้าออก
6.ฉีดน้ำ หรือปิดคลุมกองวัสดุให้มิดชิดป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย 7.ทำความสะอาดเศษหิน โคลน ทรายที่ตกหล่นนอกรั้วโครงการทุกวัน 8.หากพื้นที่โครงการไม่ได้ใช้งานก่อสร้างเป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่าควรดำเนินการปลูกหญ้า หรือฉีดทับด้วยสารเคมีที่ช่วยลดการกระจายของฝุ่น 9.จัดให้มีที่ลำเลียงสำหรับการทิ้งขยะและเศษวัสดุที่เกิดจากการทำงาน 10.ล้างทำความสะอาดตัวรถและล้อรถทุกชนิดก่อนออกนอกโครงการ 11.ล้างทำความสะอาดชั้นต่างๆ ในอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 12.หากมีโรงคอนกรีตผสมเสร็จตั้งอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง ให้เพิ่มเติมมาตรการควบคุมฝุ่นละอองตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

ทั้งนี้ กทม.จะจัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการก่อสร้างในพื้นที่อย่างเข้มงวดต่อไป และหากพบว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องจะสั่งการให้หยุดก่อสร้างจนกว่าจะได้แก้ไขแล้วเสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น