xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยา” เผยไอเดียส่งบัตรอวยพรคู่สมรส ให้ตรวจเลือดก่อนตั้งครรภ์ ป้องกันทาลัสซีเมีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไชยา” ไอเดียเก๋ ส่งบัตรอวยพรรณรงค์ให้คู่สมรสตรวจเลือดก่อนตั้งครรภ์ ป้องกันมีลูกเป็นโรคทาลัสซีเมีย ชี้เจาะเลือดเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 50 บาท แต่ถ้าลูกเป็นโรคทาลัสซีเมียชนิดรุนแรง พ่อแม่อ่วมเสียค่ารักษาพยาบาลตลอดชีวิตประมาณ 1-6 ล้านบาท ขณะที่ช่วยรัฐให้ลงทุนไม่ถึง 90 ล้านบาท แต่ป้องกันคนไม่ให้ป่วย ลดค่ารักษาลงได้ 3 พันกว่าล้านบาท พร้อมเร่ง อภ.ผลิตยาขับธาตุเหล็ก L1 ป้องกันทาลัสซีเมียให้ผ่านมาตรฐานอนามัยโลก

วันนี้ (25 มิ.ย.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการทาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ 14 จัดโดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ให้แก่ แพทย์ พยาบาล และนักวิชาการทั่วประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียของประเทศไทยประสบผลสำเร็จ

นายไชยา กล่าวว่า หากไม่มีการป้องกันควบคุมเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมียรายใหม่ ในแต่ละปีจะมีเด็กเกิดใหม่ป่วยประมาณ 12,125 ราย ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย และเป็นภาระของครอบครัวที่ต้องดูแลและให้การรักษาตลอดชีวิต ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ทุก 10,000 ราย มีโอกาสมีลูกเป็นโรคมาลัสซีเมียชนิดรุนแรงชนิดใดชนิดหนึ่ง 638 รายซึ่งสูงมาก ซึ่งเด็กที่ป่วยชนิดรุนแรง 1 ราย จะเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตลอดอายุขัยประมาณ 1,260,000-6,600,000 บาท เฉลี่ยปีละ 10,550 บาท/ราย ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียประมาณ 630,000 ราย

นายไชยา กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีแผนระดับชาติชัดเจนที่ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดให้บริการปรึกษาและตรวจเลือดดูความผิดปกติเม็ดเลือดของคู่สมรสก่อนตั้งครรภ์ มีค่าใช้จ่ายตรวจเพียงคู่ละ 48 บาท ผู้ที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย พบว่าให้ผลคุ้มค่ามาก นานาชาติให้การยอมรับไทยเป็นผู้นำทางวิชาการ และมีแนวทางควบคุมป้องกันโรคด้วยต้นทุนต่ำ

“คู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันแต่เชื่อหมอดูมากว่าดูฤกษ์ถูกโฉลกแล้วจะดี จริงๆ แล้วไม่มีทางรวยได้ เพราะหากทั้งสามีและภรรยาเป็นพาหะ มีลูกออกมาเป็นโรคทาลัสซีเมีย จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเลี้ยงดูถึง 6 ล้านบาท ดังนั้น ควรที่จะเชื่อหมอแผนปัจจุบันมากกว่า โดยการไปตรวจเลือด ซึ่งนอกจากจะรู้ว่า เป้นพาหะทาลัสซีเมียหรือไม่ ก็ได้ประโยชน์รู้ว่าเป็นโรคอื่นๆ อีกสารพัดโรค ซึ่งผมจะรณรงค์ในเชิงรุกโดยให้ส่งบัตรอวยพรคู่สมรสที่พิมพ์คำขวัญ รณรงค์ให้ไปเจาะเลือด สร้างความสุขไปยังอำเภอต่างๆ ที่มีการจดทะเบียนสมรส โดยเบื้องต้นจะจัดประกวดคำขวัญ ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อชิงรางวัลด้วย” นายไชยากล่าว

นายไชยา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในปี 2549 ได้ตรวจเลือดหญิงตั้งครรภ์ 648,000 ราย พบผิดปกติ 201,400 ราย และติดตามสามีตรวจยืนยันได้ 130,910 ราย ในจำนวนนี้ตรวจพบเป็นทาลัสซีเมียชนิดรุนแรง 4,617 ราย และคู่สมรสยุติการตั้งครรภ์ 770 ราย ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 85 ล้านกว่าบาท ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยในอนาคตได้กว่า 3,300 ล้านบาท โดยในปีนี้มีนโยบายดำเนินการให้ครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ทุกรายที่มีปีละประมาณ 8 แสนราย

นายไชยา กล่าวต่อว่า สำหรับ โรคทาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบมากที่สุดในโลก โดยพบสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคนเป็นพาหะโรคนี้ประมาณ 55 ล้านคน จากการศึกษาล่าสุดปี 2547 มีประชากรไทยมีกรรมพันธุ์หรือยีนของโรคทาลัสซีเมียกว่า 20 ล้านคน หรือร้อยละ 30-40 ของประชากรสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้หากแต่งงานกับผู้ที่มียีนผิดปกติเหมือนกัน มากที่สุดที่ ภาคเหนือ

นายไชยา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันสนับสนุนให้มีการผลิตยายาแอลวัน (L1) ซึ่งเป็นยาขับธาตุเหล็กสำหรับผู้ป่วยทาลัสซีเมีย ที่องค์การเภสัชกรรม(อภ.) ผลิตขึ้น ให้ผ่านการรับรองมาตรฐานเกณฑ์การผลิตที่ดี หรือจีเอ็มพีขององค์การอนามัยโลก เพื่อสามารถจำหน่ายในประเทศต่างๆ ได้ สำหรับยาขับธาตุเหล็กถือว่าเป็นยาที่มีราคาแพงมาก โดยยาต้นตำรับมีราคาเม็ดละ 60 บาท ขณะที่ อภ.ผลิตราคาเพียงเม็ดละ 3 บาท ทั้งยังถูกกว่ายาของอินเดียที่ราคาเม็ดละ 30 บาท โดยมีแนวคิดจะนำไปไปขายในอินเดียเพียงเม็ดละ 15 บาท

ด้าน นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามแผนงานธาลัสซีเมียแห่งชาติ พ.ศ.2550-2554 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาระบบป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียให้ได้มาตรฐาน 2.พัฒนาระบบมาตรฐานการรักษาพยาบาล 3.พัฒนาห้องปฏิบัติการด้านการตรวจวินิจฉัย 4.วิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี สนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรค และ 5.การประเมินผล ใช้เงินลงทุน 5 ปี 1,000 ล้านบาทเศษ คาดว่าจะลดผู้ป่วยรายใหม่ชนิดรุนแรงลงร้อยละ 50 หรือลดได้ไม่น้อยกว่า 6,371 ราย สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ไม่น้อยกว่า 32,000 ล้านบาท ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นแล้วเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด แนะนำให้ดูแลรักษาสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงการออกกำลังไม่ให้เหนื่อยเกินไปเนื่องจากกระดูกเปราะหักง่าย กินอาหารที่มีประโยชน์มีโปรตีนสูง และอาหารที่มีโฟเลทสูงเช่น พืชผักใบเขียว
กำลังโหลดความคิดเห็น