xs
xsm
sm
md
lg

ไทยคดีฯ มธ.เตรียมส่ง จม.ถึง “ยูเนสโก” ค้านเขมรขึ้นทะเบียน "เขาพระวิหาร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันไทยคดีศึกษา มธ.ระดมนักวิชาการจากทุกภาคส่วนถกปัญหา “นพดล” เซ็นยอมรับการขึ้นทะเบียนเป็นมะรดกโลกของกัมพูชา พร้อมนำร่างจดหมายเปิดผนึกเพื่อคัดค้านการขึ้นทะเบียนส่งถึงยูเนสโกมาให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย

วันนี้ (24 มิ.ย.) เวลา 13.30 น.ที่ชั้น 9 ตึกอเนกประสงค์ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัย 9 สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ได้เปิดระดมพลังถกกรณีปัญหาเขาพระวิหารซึ่งนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามร่วมกับทางรัฐบาลกัมพูชา โดยมีนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า มหาวิทยาสยาม เป็นต้น ซึ่งรวมแล้วมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และที่เกี่ยวข้องกว่า 30 คน เข้าร่วมระดมสมองครั้งนี้เพื่อให้การลงนามของระหว่างนายนพดลและรัฐบาลกัมพูชาเป็นโมฆะ

ทั้งนี้ ทางสถาบันไทยคดีศึกษาได้นำร่างจดหมายเปิดผนึกที่เตรียมทำเอาไว้เพื่อที่จะส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลกผ่านยูเนสโก ประจำประเทศไทยเพื่อคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชามาเปิดมาให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาด้วย โดยจดหมายดังกล่าวมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ราช อาณาจักรไทย

24 มิถุนายน 2551


เรื่อง ประชาชนชาวไทยขอคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา
เรียน คณะกรรมการมรดกโลก ผ่านยูเนสโก ประจำประเทศไทย

พวกเราประชาชนชาวไทยผู้มีชื่อข้างท้ายนี้ เป็นผู้มีสิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทย โดยการรับรองของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ว่าด้วยสิทธิชุมชน แสดงความประสงค์ขอคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ซึ่งจะมีการพิจารณาในที่ประชุมสมัยที่ 32 ณ เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา

โปรดพิจารณาเหตุผลของพวกเรา ดังนี้

1.ปัญหาของ The Heritage – ปราสาทพระวิหารโดยตรง

1.1 ปราสาทพระวิหารยังติดปัญหาอยู่ว่า อยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศใดระหว่างไทยหรือกัมพูชา และยังมีความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่ประชาชนชาวไทยจะเรียกคืนอำนาจอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารในเวลาต่อไป ตามที่รัฐบาลไทยได้สงวนสิทธิ์ไว้เมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2505

1.2 ปัญหาความไม่สมบูรณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ The Heritage – ตัวปราสาทพระวิหาร ความสมบูรณ์นั้น อยู่ที่จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น สระตราว สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำที่ผามออีแดง และปราสาทโดนตรวลแต่มีเฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหารเท่านั้นที่ถูกขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก

2.ประเทศไทยและกัมพูชายังมีปัญหากันอยู่เรื่องเขตแดน ยังไม่มีการปักปันเขตแดนและจัดทำหลักเขตในบริเวณนี้ แนวเขตแดนบริเวณนี้จึงยังไม่ชัดเจน อย่าว่าแต่การเสนอโดยฝ่ายกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียวเลย แม้แต่การเสนอร่วมกัน (Join Nomination) ก็ยังไม่ควรกระทำ หากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องเส้นเขตแดนของทั้งสองฝ่าย

แม้คณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกจะไม่มีอำนาจและไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดน แต่เรื่องเขตแดนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อปัญหานี้ที่ทั้งสองฝ่ายควรต้องทำความเข้าใจให้ดีระหว่างกันก่อน

3. กัมพูชายังไม่พร้อมที่จะจัดการกับสิ่งแวดล้อมของภูมิสถาปัตย์ที่สมบูรณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ในการที่ยังปล่อยน้ำเสียจากชุมชนลงสระตราว องค์ประกอบหนึ่งของ The Heritage -ปราสาทเขาพระวิหาร

4. การทำ Joint Communique เมื่อ 18 มิถุนาายน 2551 ของ H.E.Mr.Noppadon Pattama, Minister of Thai Fareign Affairs นั้นประชาชนชาวไทยกำลังส่งเรื่องให้พิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมของไทย ว่าเขามีอำนาจเต็มหรือไม่ในการดำเนินการเรื่องนี้

และ Joint Communique ฉบับนี้ก็กำลังถูกส่งเข้าพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญไทยด้วยว่า เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญไทยและไม่ได้ปฏิบัติตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

ปรากฎการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ภายในประเทศของเรายังมีเรื่องขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในการดำเนินการและการไปเจรจาสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา

5. The Heritage นี้น่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทั้งสองประเทศที่มีอาณาเขตติดกันสามารถจะ appreciate และ respect ได้แต่ปรากฎว่าประชาชนทั้งสองประเทศ หรืออย่างน้อยก็ประชาชนชาวไทย ยังมีความสงสัย วิตกกังวล เรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนในบริเวณนี้ The Heritage นี้น่าจะ means to strengthen appreciation and fully respect หากมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส จริงใจ และถูกต้องตามวัตถุประสงค์ จากรัฐบาลทั้งสองประเทศ

ดังนั้น หากรัฐบาลทั้งสองจะแสดงเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ต่อการเคารพคุณค่าของ The Heritage นี้ประสงค์จะให้มีการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ อนุรักษ์ดูแลมรดกโลกชิ้นนี้ตรงกัน ควรจะถือโอกาสนี้ทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำปัญหาให้เล็ก เพื่อส่งเสริมของให้มีคุณค่าใหญ่ เพื่อประชาชนทั้งสองประเทศตลอดจนประชาคมโลกจะได้มีโอกาสชื่นชม และภาคภูมิใจกับมรดกโลกชิ้นนี้ร่วมกัน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และตระหนัก เพื่อประกอบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ซึ่งประชาชนชาวไทยขอคัดค้าน

อนึ่ง หนังสือฉบับนี้ได้ทำสำเนาส่งถึงรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาเพื่อทราบด้วย

ขอแสดงความนับถือ
ประชาชนชาวไทยผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550


สำหรับรายละเอียดของการสัมมนา “ผู้จัดการออนไลน์” จะนำเสนอต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น