xs
xsm
sm
md
lg

ยกระดับไทยศึกษา สู่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิธีตัดริบบิ้นเปิดอย่างเป็นทางการ
หลายคนคงยังไม่คุ้นกับวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ นัก นั่นเพราะหน่วยงานใหม่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้เพิ่งจะเริ่มตัดริบบิ้นเล็กๆ ไปเมื่อวัน ปรีดี พนมยงค์ ที่ผ่านมา วิทยาลัยนานาชาติแห่งนี้นั้นหนทางเป็นมาอย่างไร สถาบันแห่งนี้ทำหน้าที่อะไรบ้าง และจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจได้หรือไม่? เชื่อว่า เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้

**เริ่มต้นจากปัญหา
ก้าวจากไทยไปสู่นานาชาติ


รศ.ดร.พิมพันธุ์ เวสสะโกศล รักษาการคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ในขณะนั้น เล่าความเป็นมาก่อนจะมาเป็นวิทยาลัยนานาชาติ ว่า เดิมทีธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยพันธมิตรในต่างประเทศหลายแห่งได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนนักศึกษาในแต่ละภาคเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ไปเรียนรู้วัฒนธรรมและสัมผัสชีวิตต่างแดน ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีหลักสูตรไทยศึกษา(Thai Study) รองรับนักศึกษาต่างชาติ โดยมีสำนักวิเทศสัมพันธ์เป็นผู้ดูแล กระนั้นก็ยังไม่ใช่หน่วยงานเฉพาะที่จะมาดูแลนักศึกษาหรือจัดการเรียนการสอนที่เป็นคณะ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงคิดว่าน่าจะต้องมีหน่วยงานที่ดูแลหลักสูตรนี้โดยเฉพาะขึ้นมา นับจากนั้นนับมารวม 3 ปีก็เริ่มก่อเกิดวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์
“วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นจากปัญหาการจัดการนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะ ประกอบกับแนวคิดเรื่องนานาชาติกำลังได้รับความสนใจทั่วโลก นักศึกษาที่ต้องการมาเรียนเมืองไทย เรียนวัฒนธรรมไทย อาหารไทย เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นเป็นโอกาสในการเปิดโลกทัศน์ คนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องรู้แต่เรื่องประเทศตัวเอง แต่ต้องรู้ระดับนานาชาติด้วย เมื่อมีแนวคิดนี้ประกอบกับของเดิมที่มีไทยศึกษาก็คลิกกันเกิดเป็นวิทยาลัยนานาชาติโดยก่อนหน้านี้เราดำเนินการมาแล้ว 3 ปีจนเพิ่งจะเปิดอย่างเป็นทางการไปในวันปรีดีที่ผ่านมา”

เมื่อพูดว่าเป็นวิทยาลัยนานาชาติก็ต้องมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เน้นให้มีการใช้ภาษาที่ถูกต้องสำหรับนักศึกษาไทย แต่จะแตกต่างจากหลักสูตรอินเตอร์ของธรรมศาสตร์ที่แต่ละคณะสอนอยู่แล้ว โดย รศ.ดร.พิมพันธุ์ บอกว่า วิทยาลัยนานาชาติมีศักดิ์เทียบเท่าหนึ่งคณะในมหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่ออกนอกระบบซึ่งต้องหาเงินเลี้ยงตัวเอง ไม่ทำหลักสูตรทับซ้อนกับของเดิมที่ทำกันมา โดยภารกิจต่อไปที่คาดว่าในปีการศึกษา 2552 จะมีนักศึกษาสาขาจีนศึกษาเพิ่มจากไทยศึกษาซึ่งจะเปิดสอนในปี 2551 ที่ท่าพระจันทร์

“นอกจากหลักสูตรไทยศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติแล้ว เราก็จะเปิดสาขาผสมผสานหลายๆ วิชา และมีคอร์สสั้นๆ สำหรับคนทั่วไปด้วย เช่น ปีหน้าจะเปิดจีนศึกษา ซึ่งไม่ได้เรียนแต่ภาษาจีน แต่ประกอบด้วยการเมืองจีน เศรษฐศาสตร์จีน วัฒนธรรมจีน ปรัชญาจีน ผสมผสานหลายวิชาเพราะถ้าเป็นภาษาจีนอย่างเดียวคณะศิลปศาสตร์ก็สอน ซึ่งการเรียนของเราต้องรู้ทั้งภาษา วัฒนธรรม ปรัชญา เวลาที่เราจะไปทำการค้ากับจีนก็จะทำให้รู้จักคนจีนมากขึ้น” รศ.ดร.พิมพันธุ์พูดถึงทิศทางในอนาคต

ทั้งนี้ สิ่งที่วิทยาลัยนานาชาติกำลังพยายามอย่างยิ่งยวด คือ การให้นักศึกษาไทยในธรรมศาสตร์ที่อยู่ในโครงการต่างๆ มีโอกาสเข้าเรียนในวิทยาลัยซึ่งอาจจะเป็นวิชาโท หรือหลักสูตรสั้นๆ ทั้งนี้นักศึกษาจะได้เรียนกับเพื่อนต่างชาติ ได้ความรู้เพิ่มเติม และฝึกฝนภาษาอังกฤษ ซึ่งมีวิชาที่น่าสนใจ อาทิ การแพทย์แผนไทย อาหารไทย มวยไทย การจัดการท่องเที่ยว เป็นต้น

สำหรับการเริ่มทำงานของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ นั้น จะเดินหน้าทำงานที่เป็นหน้าที่เก่าก่อนควบคู่ไปกับการสอนวิชาพื้นฐานให้นักศึกษาปีหนึ่งทุกคนซึ่งก่อนหน้านี้กระจัดกระจายตามคณะต่างๆ มาตรฐานจึงไม่เท่ากัน เมื่อเป็นหน้าที่ของวิทยาลัยนานาชาติแล้ว นับจากนี้ไปนักศึกษาใหม่ทุกคนจะต้องมาเรียนที่วิทยาลัย ด้วยหลักสูตรที่ทันสมัยมากขึ้น โอกาสที่จะขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่อยากมาเรียนสาขาเหล่านี้ในเมืองไทยได้จึงเป็นเป้าหมายหนึ่ง

“เราเซ็นสัญญากับมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในประเทศจีน อย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เรื่องการส่งนักศึกษาไปเรียนที่ปักกิ่งอย่างน้อย 1ภาคการศึกษา ด้วยเนื้อหาที่เป็นสากล ดังนั้นเราคิดว่าต่อไปนักศึกษาเพื่อนบ้านที่อยากเรียนสาขานี้ก็สามารถมาเรียนที่เมืองไทยได้ เพราะว่าสบาย ใกล้ และถูก เด็กไทยก็เหมือนกันแทนที่จะไปเรียนแพงๆ ที่ต่างประเทศ ก็มาเรียนที่นี่ได้” รศ.ดร.พิมพันธุ์ ขยายความ

**3 ปีแรกสู่เป้าหมาย
รศ.ดร.พิมพันธุ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าว่า ภารกิจที่วิทยาลัยนานาชาติจะต้องปฏิบัติไม่เพียงสอนนักเรียนปีหนึ่งทั้งไทยและเทศแล้ว หน้าที่สำคัญหลังจากมีวิทยาลัยแล้วคือการสร้างฐานให้แข็งแรง ในเบื้องต้น 3-5 ปีแรกจะทำหน้าที่ตามสภามหาวิทยาลัยมอบหมายคือ สอนนักศึกษาต่างชาติ และทำวิชาพื้นฐานให้เด็กปีหนึ่ง และใน 5 ปีแรกจะต้องสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก เริ่มจากปีการศึกษา 2552 ที่จะสาขาจีนศึกษาจะเปิดรับ คือ 100 คน ตามขนาดของหลักสูตรนานาชาติ และวิธีรับนักศึกษาใช้วิธีเดียวกับนักศึกษาอินเตอร์

“เราจัดสอบแยกต่างหาก ไม่ใช้แอดมิชชัน สอบตรงหมด เพราะหลักสูตรนานาชาติของธรรมศาสตร์จะใช้สอบตรงหมด ต่างคนต่างสอบกันไป ทุกคณะทำอย่างนั้น จัดการเอง เป็นธรรมเนียมธรรมศาสตร์ โดยนักศึกษาจะเสียค่าเล่าเรียนหน่วยกิตละ 1,600 บาท เพราะอย่างที่บอกว่าเราเป็นหน่วยงานนอกระบบเรตเงินเดือนอาจารย์ก็ต้องสูงตามคุณภาพ และจำนวนที่รับนักศึกษาก็ไม่มาก เพราะอยากสอนให้ได้ตามคุณภาพจริงๆ”

รักษาการคณบดีสรุปทิ้งท้ายเอาไว้ว่า การบริหารจัดการพยายามที่จะทำให้กระชับรวดเร็ว ให้เป็นระบบเอกชนมากที่สุด ไม่ให้ล้าหลัง เน้นหนักที่การประชาสัมพันธ์ จึงอยากได้คนเก่งและทำงานเต็มที่ คัดเลือกคนที่พูดภาษาอังกฤษชัดเจน เน้นหนักที่การประชาสัมพันธ์ ใช้หลักการตลาดควบคู่กับสร้างเนื้อหาทางวิชาการเพื่อให้มีลูกค้าเป็นในวงกว้างซึ่งแนวโน้มในอนาคตจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งชัยภูมิที่ดีของท่าพระจันทร์อันเอื้อต่อการศึกษาขนบอย่างไทยน่าจะสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
นักศึกษาต่างชาติร่วมทำนา
การเรียนการสอนในวิชาภาษาไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น