xs
xsm
sm
md
lg

3 ปีที่ผ่าน เปิดหมู่บ้านตกสำรวจสึนามิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวนผักชุมชนเจ้าขรัวที่แต่ละแปลงมีเจ้าของเป็นคู่แม่ลูก
ชื่อบ้านน้ำเค็ม เป็นหมู่บ้านที่ได้ยินผ่านสื่อมากที่สุดที่หนึ่งในช่วงที่เกิดธรณีพิบัติภัยสึนามิ เนื่องจากเป็นพื้นที่ได้รับความเสียหายมาก และมีคนเสียชีวิตมากเช่นกัน แล้วกระแสน้ำใจก็หลั่งไหลไปที่บ้านน้ำเค็ม ทว่า อีกหลายหมู่บ้านในอาณาไม่ไกลกันนักที่แม้จะไม่มีการสูญเสียถึงชีวิต แต่ก็ประสบปัญหาด้านสภาวะจิตใจไม่แพ้กัน อีกทั้งเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพก็ถูกดูดกลืนลงทะเลไปพร้อมๆ กัน เจ้าขรัว หินร่ม คลองท่อม และคลองเคียน อาจจะไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูนัก เพราะหมู่บ้านเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่ตกสำรวจเนื่องจากหนทางสัญจรจากถนนใหญ่ค่อนข้างลำบาก แต่หลังจากฝุ่นตลบก็มีวันที่พวกเขาเริ่มแข็งแรงอีกครั้ง

  • วิถีที่เปลี่ยน

    “แรกๆ เราหมดกำลังใจไม่เป็นอันทำอะไรเลย เราเป็นหมู่บ้านมุสลิม และความเชื่อของเราก็คือถ้าหากมีภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงขนาดนี้จะเกิดเหตุร้ายรุนแรงเกิดขึ้น เหมือนจะเป็นวันสิ้นโลกแบบนั้น ชาวบ้านหมดกำลังใจ เครื่องมือทำเล ทั้งเรือ อวน แห ทุกอย่างถูกดูดลงทะเลจนหมด นานกว่าที่จะทำใจได้”
    ธนาคารเรือที่เมื่อ 3 ปีที่แล้วท่าเรือเหล่านี้ไม่มีเรือเทียบท่าอยู่เลย
    เสียงสะท้อนจาก สมมาร์ท มะลิวัลย์ สมาชิก อบต.บ้านเจ้าขรัว ซึ่งบอกว่าอาชีพหลักและรองของชุมชนนี้แยกกันแทบไม่ออก พื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ใช้ปลูกยางพารา และล่องเรือจากท่าเรือไม่กี่กิโลก็ถึงอ่าวพังงา หาปูม้า จับปลาทะเลได้สบายๆ และดูเหมือนที่ผ่านมา 76 หลังคาเรือนเล็กๆ เหล่านี้เคยมีฐานะการเงินที่เรียกได้ว่าแข็งแรงพอมีพอกิน แต่หลังจากวันที่ 26 ธ.ค.2547 ทำให้พวกเขากลายเป็นคนจนไปในชั่วพริบตา

    สมศักดิ์ สิทธิศักดิ์ คณะกรรมการหมู่บ้าน อธิบายสาเหตุที่ทำให้วิถีการทำมาหากินของชุมชนแตกต่างจากเดิมหลังจากคลื่นยักษ์ซัดเข้าฝั่งทำให้กระแสน้ำเปลี่ยน ปลาบางชนิดสูญพันธุ์ ร่องน้ำตื้นเขิน ทำให้การออกไปหาปลา และอาชีพการประมงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
    ธนาคารเรือที่เมื่อ 3 ปีที่แล้วท่าเรือเหล่านี้ไม่มีเรือเทียบท่าอยู่เลย
    กระนั้นสิ่งที่สามารถทดแทนกันได้เมื่อปลาหาได้น้อยลง ก็คือ ชาวบ้านหันมาใส่ใจกับสวนยางพารามากขึ้น และเมื่อมีกลุ่มคนที่เริ่มเข้ามาให้ความรู้ในการจัดการทั้งระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพ และเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในหมู่บ้านมากขึ้นเหล่านี้พอจะทดแทนกับสิ่งที่ขาวบ้านได้สูญเสียไปบ้าง

  • ยืนอย่างเข้มแข็ง

    “เราเคยมีมาก แต่วันหนึ่งเรากลายเป็นคนไม่มีเหมือนกับเราทำงานขึ้นบันไดมาได้ 10 ขั้นแล้ววันหนึ่งตกลงไป มันเจ็บแล้วก็ยากที่จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ วันนี้เริ่มดีขึ้นเพราะเราเข้มแข็งขึ้น เพราะมีความรู้ เด็กๆในชุมชนก็สนใจที่จะทำงาน รวมกลุ่มกันใช้เวลาว่างทำกิจกรรมช่วยเหลือพ่อแม่ นอกจากจะเอาแต่เรียนลูกเดียวเหมือนแต่ก่อน”
    ธนาคารหมู่บ้าน ความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน
    ปราณี เสริมกิจ ประธานกลุ่มสตรี หมู่บ้านเจ้าขรัว บอกว่า หากมองในแง่ดี ผลพวงจากสึนามิเหมือนวิกฤตที่สร้างโอกาส เยาวชนมีความสนใจที่จะดูแลชุมชนมากขึ้น เห็นได้จากเด็กสาวที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ไม่รู้จักพืชผัก วิธีการปลูกตะไคร้ทำอย่างไร ผักบุ้งปลูก เก็บอย่างไร บางคนไม่รู้แม้กระทั่งชื่อผัก เพราะทุกคนคิดว่าเป็นหน้าที่ผู้ใหญ่ และตัวเองมีหน้าที่เรียนหนังสือเท่านั้น วันว่างแม้พวกเขาจะไม่ไปไหนแต่ก็อยู่บ้านเฉยๆ คลื่นยักษ์ได้พัดความคิดของพวกเขาไปด้วย ประกอบกับช่วงเวลานี้กลุ่มสตรีมีบทบาทในหมู่บ้านมากขึ้น ตัวแทนของแม่ทั้งหมู่บ้านจึงเริ่มรวมตัวกัน และสร้างกิจกรรมระหว่างแม่กับลูกสาว โดยแม่จะเป็นผู้ให้ความรู้ลูกเริ่มต้นจากแปลงผักผสมผสานที่เคลื่อนตัวจากหลังบ้านมารวมกันเป็นแปลงใหญ่ขึ้นในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน การรวมตัวของแม่และเด็กสาวในหมู่บ้านจึงเริ่มเกิดขึ้น

    น้องซาร์ส-สุวรรณา สาโหด บอกว่า เป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักผักเลย แต่พอเพื่อนชวนมาปลูกผักก็ลองดู จนตอนนี้การจับคู่แม่ลูกทำงานแปลงผักกว่า 7 ไร่แต่ละคู่ก็มีพื้นที่ของตัวเอง และมีพื้นที่บางส่วนที่ปลูกพืชผักรวมของชุมชนด้วย ณ เวลานี้นอกจากเพื่อนๆ ที่ไม่หายไปแล้ว ซาร์สยังได้ความรู้เพิ่มเติมด้านการเกษตรมาด้วย ความสัมพันธ์แม่กับลูกสาวก็แนบแน่นด้วยกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกัน
    สมมาร์ท มะลิวัลย์
  • ธ.หมู่บ้าน สร้างคลังเรือ

    หมู่บ้านหินร่ม และคลองท่อม เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ไม่ได้รับความเสียหายถึงชีวิต แต่อุปกรณ์หาปลา และที่รอดตายมาได้เพราะโชคดีที่มีป่าโกงกางกว่าพันไร่ล้อมรอบหมู่บ้านไว้ แม้ก่อนหน้านี้จะมีปัญหาการเข้าบุกรุกบ้าง แต่ก็เป็นคนนอกและชาวบ้านเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของป่ามากขึ้นหลังเกิดสึนามิ การบริหารจัดการป่าจึงเข้มข้นและเข้มแข็งมากตามไปด้วย และส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านมั่นใจในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ คือ การเข้ามาให้ความรู้ใน 3 ปีที่ผ่านมา

    อำนวย ชูหนู หัวหน้างานศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานกระบี่ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (พีดีเอ) ซึ่งนับเป็นองค์กรที่เข้ามาให้ความรู้และช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน กล่าวว่า สิ่งที่ชุมชนต้องการมากที่สุดคือน้ำใจและความช่วยเหลือเมื่อพวกเขาช่วยตัวเองไม่ได้ และเงินก็มักจะเป็นคำตอบสุดท้ายเสมอ แต่ในความคิดเห็นของพีดีเอ และบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ซึ่งทำงานเป็นพันธมิตรกันมานานมองว่า การหว่านเงินลงไปไม่ได้ช่วยให้ชาวบ้านยั่งยืนได้ระยะยาว ซ้ำยังจะทำให้เกิดการแบ่งพวกข้า พวกเอ็ง เงินข้า ของเอ็ง ดังนั้นการเข้ามาให้ความรู้เชื่อมโยงสู่อาชีพหลักของชาวบ้าน และพัฒนาผู้นำให้สามารถคิดได้อย่างเป็นระบบ และขุนระดับเยาวชนให้สำนึกต่อชุมชนด้วย
    อำนวย ชูหนู
    “ก่อนที่เราจะเข้ามาเหมือนกับว่าหมู่บ้านเหล่านี้เขามีเอทีเอ็มอยู่หน้าหมู่บ้าน แต่ไม่มีเงินออมที่เป็นเงินสด เมื่อวันหนึ่งมีคนมางัดตู้ จะไปกดเงินที่ไหนล่ะ เงินติดตัวไม่มีทำให้พวกเขาลำบาก สิ่งที่พีดีเอเข้าไปช่วยก็คือให้ความรู้ว่าพวกเขาจะเก็บเงินอย่างไร ถ้ามีโจรมาปล้นบ้านครั้งต่อไปจะได้ไม่ลำบากมาก”
    ปราณี เสริมกิจ
    อำนวย มองว่า การเข้ามาทำงานกับคนในพื้นที่ภาคใต้นั้นยาก เพราะพวกเขามีความคิดเป็นของตัวเองค่อนข้างสูง แต่เมื่อได้รับความเชื่อใจ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาและชุมชนแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ไม่ยาก เช่น โครงการธนาคารหมู่บ้านที่ในช่วงแรกชาวบ้านไม่เชื่อว่าจะทำแล้วได้ผล จึงไม่ประสบผลสำเร็จ แต่เมื่อมีบทพิสูจน์จากกลุ่มคนที่สมัครใจ และสร้างเป็นแกนนำจึงทำให้อัตราเงินฝากในหมู่บ้านหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี อัตราการส่งเงินกู้คืน 100 เปอร์เซ็นต์
    น้องซาร์ส-สุวรรณา สาโหด
    “ในช่วงแรกชาวบ้านไม่มีทุนพอที่จะซ่อม หรือซื้อเรือ เราก็ให้กู้ทุนไปก่อน ลงทุนให้โดยไม่ได้ให้เปล่า ขั้นต้นสำหรับบ้านหินร่มกู้ไป 6 ลำ แต่วันนี้ด้วยทุนของชาวบ้านเองทำให้มีเรือจากทุนธนาคารเรือกว่า 43 ลำ นั่นแปลว่าเขามีการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนได้ดีขึ้น เมื่อเขาทำได้ดังนี้เราก็ไม่ต้องห่วงว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายต่อไปชาวบ้านจะสามารถรับมือได้ นั่นถึงเรียกว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หัวหน้างานศูนย์พัฒนาชนบท กล่าว

    ในเวลานี้ แม้ว่าความอยู่ดีกินดีเฉกเช่นเดิมอาจจะยังกลับมาได้ไม่สมบูรณ์พร้อม ทว่าชาวบ้านรู้ว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับพวกเขาอีก จะสามารถจัดการกับผลที่ตามมาอย่างไรบ้าง อย่างน้อยก็คงจะมีเวลาเสียอกเสียใจน้อยกว่าเดิม เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ด้วยหัวใจที่เข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือ หรือหวังพึ่งคนอื่นอย่างลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป...นี่คือ 3 ปีที่พังงา กับหมู่บ้านบางพื้นที่ที่ตกสำรวจจากเหตุการณ์สึนามิ

  • กำลังโหลดความคิดเห็น