xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยา” ฉะ ตร.บอก “บ้านพ้มคนติดยาเพิ่ม” คิดผลิตยาบ้าปลอมขายแข่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไชยา” ห่วงเศรษฐกิจซบทำคนติดยาเสพติดเพิ่ม เผย นครปฐมคดียาเสพติดพุ่ง 80-100 คดีต่อเดือน พ่อค้ายาบ้ารุกหนักทำไดเร็กเซลล์ มีตัวแทน ทั้งลด แลก แจก กำไรอื้อ เผยเคยคิดผลิตยาบ้าปลอม ไม่มีสารทำลายประสาท เอามาแข่งขายเม็ดละสลึงตีตลาด เล่นมุขอยากเป็นรองนายกฯดูแลตำรวจ ชี้ ทุกวันนี้เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เห็นพ่อค้ายาเป็นตู้เอทีเอ็ม แต่เป็น รมว.สธ.จึงพร้อมตั้งรับบำบัด ให้โอกาสคนหลงผิด ยกระดับสถานบำบัดให้มีคุณภาพ 5 ดาว

วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่สถาบันธัญญารักษ์ จ.ปทุมธานี นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือตามข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานบำบัดรักษายาเสพติดทุกระบบ ระหว่าง นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ม.ล.นพ.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กับ นายนที จิตสว่าง อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายไพศาล วิเชียรเกื้อ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ เลขาธิการ ป.ป.ส.และนายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผอ.สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.)

นายไชยา กล่าวว่า การลงนามในวันนี้ นับเป็นความร่วมมือครั้งแรกของประเทศ ในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการให้บริการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ทั้งระบบต้องโทษ ระบบบังคับและระบบความสมัครใจ เป็นมาตรฐานและมีเป้าหมายเดียวกันคือให้ผู้เสพเลิกเสพสารเสพติดอย่างเด็ดขาด และไม่หวนกลับไปติดยาซ้ำอีก โดยขณะนี้มีสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพ พ.ศ.2545 จำนวนทั้งหมด 5,628 แห่ง ประกอบด้วยสถานพยาบาล 5,483 แห่ง วัด 35 แห่ง ค่ายบำบัดฟื้นฟู 110 แห่ง กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ ร่วมกับสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและบูรณาการระบบการบำบัดรักษาให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และมีคุณภาพในระดับ 5 ดาว

นายไชยา กล่าวว่า การให้โอกาสเด็กที่หลงผิดให้กลับเข้าสู่สังคมเป็นเรื่องสำคัญ และต้องไม่กลับไปติดซ้ำเพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะผลกระทบจากเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ น่าเป็นห่วงมาก มีความเสี่ยงสูง ต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด เช่น ตั้งแต่ปี 2546-2548 ที่ จ.นครปฐม มีปัญหายาเสพติดน้อยมาก ต่อเดือนมีคดีเด็กติดยาเสพติดแค่ 1-2 คดี แต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน มีคดียาเสพติด 90-100 คดี

ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นมหัตภัยที่ต้องร่วมรณรงค์ อยากให้มีการสแกนพื้นที่ทั้งหมด เพราะเรื่องยาเสพติดมีผลกำไรมหาศาล ทั้งที่ต้นทุนมีราคาเม็ดละไม่เกิน 1 บาท แต่มีการขายเม็ดละ 250 ซึ่งการมีราคาแพงทำให้หายากเป็นที่ต้องการ ซึ่งล่าสุดมีผู้เสพสารเสพติดรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 20,000 ราย และคาดว่าทั่วประเทศขณะนี้มีผู้ใช้สารเสพติดประมาณ 5 แสนราย

“ขณะนี้พ่อค้ายาบ้า ขายแบบไดเร็กเซลล์ มีนายหน้าใช้วิธีขาย 10 แถม 2 ซึ่งถ้าผู้ขายกำไรเยอะ มันก็การขยายตลาดมาก เข้าไปในโรงเรียนซึ่งครูต้องเป็นคนดูแล ซึ่งผมเคยมีแนวคิดมานานแล้ว ตั้งแต่สมัย ป๋าเหนาะ เป็นรัฐมนตรี ผมมีแนวคิดอยากให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยาบ้า ไม่ใส่สารเอมเฟตามีน ไม่สารที่ทำลายประสาท ออกมาขาย เพราะบางคนมีความเชื่อว่ากินแล้วกระชุ่มกระชวย ทั้งที่ไม่ได้ใส่สารอะไร เอามาขาย เม็ดละ 50 สตางค์ พ่อค้ายาบ้าก็จะได้กำไรน้อยลง และจะขายไม่ได้ในที่สุด คนที่เป็นพ่อค้ายาบ้า ขายยาบ้ามีอยู่ 1 ล้านเม็ด ก็ขายได้เป็นร้อยล้าน ขณะที่คนทั่วไปหากินชั่วชีวิตก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น”

“จริงๆ ตำรวจก็รู้ว่าพ่อค้ายาบ้าอยู่ตรงไหน แต่พ่อค้ายาเหมือนตู้เอทีเอ็ม พอตำรวจอยากผ่อนรถก็แกล้งเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ พอมีการกระตุ้นมาที ก็จับตัวเล็กตัวน้อย ถ้ามีโอกาสก็อยากเป็นรองนายกฯ คุมตำรวจ แต่ก็คงไปไม่ได้ เพราะท่านนายกฯ คุมอยู่ ตนเป็น รมต.สธ.จึงมีหน้าที่ของ สธ.คือ การตั้งรับ บำบัดรักษาไป” นายไชยา กล่าว

ด้าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการพัฒนามาตรฐานสถานบำบัดฟื้นฟู ซึ่งประกอบด้วย สถานพยาบาล ค่ายบำบัดและวัด แต่ละแห่งจะต้องมีองค์ประกอบ 9 มาตรฐาน เริ่มตั้งแต่บทบาท ความรับผิดชอบ การกำหนดทิศทางการบำบัด การจัดกำลังคน การพัฒนาเพิ่มพูนทักษะบุคลากร การประเมินผล การจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้บำบัด ระบบการติดตามผู้ที่ผ่านการบำบัดแล้ว ซึ่งเมื่อทุกแห่งมีมาตรฐานดังกล่าว จะทำให้ระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้สารเสพติดทุกชนิดบรรลุผล ขณะนี้มีสถานบำบัดผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานแล้ว 334 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 289 แห่ง ค่ายบำบัดฟื้นฟู 23 แห่ง และวัด 22 แห่ง ในปี 2551 ตั้งเป้าพัฒนาให้ได้การรับรอง 91 แห่ง

นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการติดตามในปี 2550 ทั่วประเทศมีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ 57,751 คน กว่าร้อยละ70 เป็นผู้ใช้ยาบ้า โดยร้อยละ 19 สมัครใจเข้ารักษา ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 81 มาจากการบังคับบำบัด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพ พ.ศ.2545 ที่จัดว่าผู้เสพทุกคนเป็นผู้ป่วย จากการติดตามผลหลังผ่านบำบัดแล้ว 1 ปี พบว่า ร้อยละ 96 สามารถเลิกเสพได้อย่างเด็ดขาด ในจำนวนนี้ร้อยละ 59 กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม โดยในปี 2551 ตั้งเป้าบำบัดรักษาและฟื้นฟู 66,500 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น