xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นลุ่มน้ำนครนายกด้วย “ธนาคารปลา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยางรถยนต์ที่ใช้เป็นสถานที่ให้ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ได้มาอาศัยและหลบภัย
ด้วยวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับแม่น้ำนครนายก ทำให้ชาวบ้านในตำบลวังกระโจม จ.นครนายก ตระหนักถึงความสำคัญของลุ่มน้ำที่เป็นเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงคนในชุมชน ทำให้มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ มีแหล่งน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และใช้ทำการเกษตรกรรรม พร้อมทั้งร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และพัฒนา ลุ่มน้ำแห่งวิถีชีวิตของคนในชุมชน ในนามของ “เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดนครนายก”

และนั่นได้กลายเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ธนาคารปลา” ขึ้นที่บ้านคลองเหมือง ต.วังกระโจมขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 โดยสร้างเป็นโครงการนำร่องจำนวน 2 ธนาคาร เพื่อพัฒนาความสมบูรณ์ อีกทั้งให้ลุ่มน้ำแห่งนี้เป็นแหล่งอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารและสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน และเพื่อให้คนในชุมชนมีความสามัคคีและมีจิตสำนึกร่วมกันในการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน
บุญยัง กังใจ
“อาจารย์บุญยัง กังใจ” ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดนครนายก ให้ข้อมูลว่า การจัดตั้งธนาคารปลาก็คือการจัดทำที่อยู่อาศัย ที่หลบภัยให้ปลา และสัตว์น้ำอื่นตามธรรมชาติ โดยคนในชุมชนได้ร่วมกันนำเอาภูมิปัญญาพื้นบ้าน มาผสานกับแนวคิดเชิงอนุรักษ์
 
โดยนำยางรถยนต์เก่ามามัดรวมกันเป็นกลุ่มด้วยเชือกขนาดใหญ่แล้วปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ และใช้ไม้ไผ่ ปักยึดที่ด้านหัว-ท้ายของกลุ่มยางป้องกันกระแสน้ำพัดพา เพื่อให้ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ได้มาอาศัยและหลบภัย ซึ่งคนในชุมชนได้มีฉันทานุมัติร่วมกันว่าจะไม่มีการจับสัตว์น้ำในบริเวณธนาคารปลา เพื่อให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ เพาะขยายพันธุ์ปลา และสัตว์น้ำอื่นตามธรรมชาติ
 
นอกจากนั้น ธนาคารปลายังสามารถช่วยชะลอและป้องกันการพังทลายของดินริมตลิ่ง เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการพัฒนาระบบนิเวศทางน้ำ อีกทั้งเป็นแหล่งสันทนาการของคนในชุมชน เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ได้อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
กำลังช่วยกันนำยางไปวางในน้ำ
ทั้งนี้ จากการที่คนในชุมชนได้เห็นถึงประโยชน์ของการจัดตั้งธนาคารปลาร่วมกันแล้ว จึงเกิดความคิดในการที่จะเข้าร่วมเป็น “เครือข่ายธนาคารปลาตำบลวังกระโจม” ทางโครงการจึงได้วางแผนที่จะจัดตั้งธนาคารปลาเพิ่มขึ้นอีก 18 ธนาคาร โดยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น อบต.วังกระโจม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครนายก ประมงจังหวัดนครนายก และหน่วยงานชลประทานจังหวัดนครนายก ฯลฯ โดยมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินโครงการ
 
ปัจจุบันทางโครงการมีสมาชิกเครือข่ายธนาคารปลาตำบลวังกระโจมรวมทั้งสิ้น 45 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสร้างธนาคารทั้ง 18 ธนาคาร ในสาขาลุ่มน้ำนครนายก บริเวณริมตลิ่งคลองชลประทานที่ขนานไปกับที่ตั้งของชุมชนบ้าน คลองเหมือง ซึ่งคาดว่าโครงการฯ จะ แล้วเสร็จประมาณกลางปี พ.ศ.2551 นี้
สุทธิกุล  คำแสง
ด้าน “สุทธิกุล คำแสง” ผู้ใหญ่บ้านคลองเหมือง แกนนำและสมาชิกรุ่นบุกเบิกของเครือข่ายธนาคารปลาตำบลวังกระโจม เปิดเผยว่า นอกจากชาวบ้านจะได้รับประโยชน์โดยทางอ้อมจากการเพิ่มจำนวนของพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นการยืนยันได้ถึงความสมบูรณ์ของสภาพน้ำได้เป็นอย่างดีแล้ว
 
การเข้าร่วมโครงการนี้ยังทำให้ชาวบ้านเกิดความผูกพันกับปลาที่เลี้ยงในธนาคาร เสมือนเป็นสัตว์เลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ตนเป็นเจ้าของ จนถือการเลี้ยงปลาในธนาคารเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ตนจะต้องคอยให้อาหาร และตรวจดูปริมาณปลาในธนาคารที่เพิ่มลดตามกระแสน้ำในแต่ละวัน นับเป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่ง

นอกจากนั้น ทางเครือข่ายธนาคารปลาตำบลวังกระโจม ได้มีการรณรงค์ให้สมาชิกในเครือข่ายฯ ร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาภูมิทัศน์บริเวณที่ดินริมคลองชลประทานที่ยังคงรกร้าง ให้มีความสวยงามและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยทางชลประทานได้อนุญาตให้คนในชุมชนใช้ที่ดินดังกล่าวปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ นำมาใช้ประกอบอาหารในครัวเรือน และหากมีเกินความต้องการก็สามารถนำไปขายเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ ปตท.จำกัด ได้สนับสนุนต้นหญ้าแฝกจำนวน 100,000 ต้น ให้ชาวบ้านนำมาปลูกบริเวณ ริมตลิ่ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะพังทลายของดินบริเวณริมตลิ่งอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น