xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอห่วงพาณิชย์ทำ “แอกชันแพลน” ส่งผลกระทบซีแอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอ็นจีโอ ห่วง “แอกชันแพลน” สอดไส้เอฟทีเอ ส่งผลกระทบซีแอล เตือนกรมทรัพย์สินฯ เลิกยอมจำนนสหรัฐฯ จวกตั้งคณะกรรมการร่วมฯ ชุดใหม่ ไม่ใช่มัวแต่ยึดติดการเป็นอมาตยาธิปไตย นึกจะตั้งใครก็ตั้ง ชี้ ประชาชนควรมีส่วนร่วมมากกว่านี้

จากการที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯเกี่ยวกับสถานะทางการค้าของไทยกับสหรัฐฯ ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา นำโดยนางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะนำแผนปฏิบัติการด้านคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือ แอกชั่นแพลน (Action Plan) ไปเสนอต่อสหรัฐฯเพื่อปรับสถานะทางการค้าของไทยให้ดีขึ้นนั้น

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า มีความกังวลต่อแผนปฏิบัติการฯดังกล่าวโดยเฉพาะประเด็นสิทธิบัตรยา เพราะที่ผ่านมา การประกาศบังคับใช้สิทธิ หรือ ซีแอลของไทย ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นการกระทำถูกต้องตามกรอบกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ ไม่ทราบว่าเหตุใดกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องห่วงใย

ทั้งนี้ การที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา อ้างว่า บริษัทยาต้นแบบลดราคาลงมา 7 เท่า เหลือแค่ 7 บาทนั้น ไม่ได้เกิดจากสำนึกที่จะช่วยคนให้เข้าถึงยา แต่เป็นความพยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย ที่พยายามโน้มน้าวชักจูงข้าราชการเป็นการสร้างภาพของบริษัทต้นแบบ ฉะนั้น อธิบดีไม่ควรตกเป็นเหยื่อของการสร้างภาพนี้

นายนิมิตร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนนั้น รัฐบาลควรหารือและมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เพราะจะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่ได้มีส่วนร่วม ทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม องค์การเภสัชกรรม อุตสาหกรรมยาในประเทศ แต่น่าแปลกที่มีตัวแทนอุตสาหกรรมยาข้ามชาติถึง 2 คน เท่ากับตัวแทนของเครือข่ายผู้ป่วย ทั้งที่การเข้าไม่ถึงยาเป็นความเดือดร้อนของคน 66 ล้านคน

ที่สำคัญคือ การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะชะลอ หรือทำให้การทำซีแอลมีความยุ่งยากมากขึ้น ทั้งที่คณะกรรมการชุดเดิม โครงสร้างเดิมก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ ฉะนั้นทั้งการตั้งคณะกรรมการและ การที่มีแอกชั่นแพลนก็ดี แต่เป็นเรื่องส่วนร่วมควรต้องระดมความเห็นทุกฝ่าย ไม่ใช่ใช้ทัศนะยอมจำนนแบบที่เป็นอยู่ นอกจากนี้แอกชั่นแพลนที่จะนำไปเสนอกับสหรัฐฯ อาจจะไม่มีแค่ที่เป็นข่าว เพราะเมื่อปีที่แล้ว ทางการสหรัฐฯ เคยยื่นแผนปฏิบัติการให้ประเทศไทยปฏิบัติตาม หากต้องการหลุดจากประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) กลับไปเป็นประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) ซึ่งเนื้อหาอาจไม่ต่างจากข้อเรียกร้องของสหรัฐฯในการเจรจาเอฟทีเอรอบ 6 เมื่อต้นปี 2549

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวด้วยว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศโดยส่วนใหญ่ จะสามารถรักษาให้คนให้อยู่รอดได้ก็ด้วยยาชื่อสามัญ ฉะนั้นหากกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไปทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบวิจัยว่า กินยาที่ทำซีแอลมีคุณภาพหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่มีหน่วยงานอื่นๆที่รับผิดชอบทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว สิ่งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงพาณิชย์น่าจะทำสิ่งที่เป็นบทบาทความรับผิดชอบของตัวเอง คือ ไปศึกษาและติดตามโครงสร้างราคายาออกมาให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ จะได้รู้กันว่า ทำไมยาที่ขายราคาเป็นร้อย อยู่ๆถึงลดราคาลงได้ 7 เท่า มันเกิดจากโครงสร้างราคาที่แท้จริงหรือเปล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น